เอเยนซี - เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ลาออกจากตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งให้นั่งเก้าอี้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกันเมื่อ 4 วันก่อน สิ่งนี้ถือว่าสั่นสะเทือนวงการลูกหนังมากที่สุดในโลก เพราะองค์กรลูกหนังเพิ่งเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายมีบอร์ดบริหารถูกตำรวจสากลรวบข้อหาทุจริต ทำให้ตอนนี้ทุกคนต่างจับตามองในหลายๆ ประเด็นว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน รวมถึงจะปฎิรูปให้เกิดความโปร่งใสได้จริงหรือไม่ ขณะที่ก็มีกลุ่มที่เตรียมฉวยโอกาสนี้รวมสมัครพรรคพวกเข้ากุมอำนาจ
"ฟีฟา" จะเดินไปในทิศทางใด? - ใครที่เห็นภาพ แบล็ตเตอร์ เดินออกจากประตูห้องที่ ซูริค พร้อมคิดว่า ฟีฟา น่าจะได้รับการปฎิวัติครั้งใหญ่ในเร็ววันนี้อาจต้องผิดหวัง จากนี้วันเลือกตั้งใหม่เพื่อหาผู้สืบทอดตำแหน่งจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการบริหาร โดเมนิโก สลากา ในฐานะประธานหน่วยตรวจสอบ คงจะต้องทำตามข้อปฎิบัติว่าอาจเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมปีนี้ถึงมีนาคมปี 2016 หมายความว่าอดีตนายใหญ่วัย 79 ปีจะต้องทำหน้าที่ชั่วคราวไปอย่างน้อยอีก 9 เดือน
ดังนั้นช่วงเวลานี้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เช่น ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะมาลงสมัครประธาน ฟีฟา รวมถึงเป็นโอกาสดีที่จะชะล้างสารพิษบ่อนทำลายต่างๆ ให้ออกไป ที่สำคัญเลยคือต้องให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฟุตบอลโลก 2018 กับ 2022 กำลังอื้อฉาว เพราะไม่แน่อาจจะต้องหาชาติที่มารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพแทน ซึ่งก็มีประเทศที่พร้อมรอเสียบมากมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วคือเรื่องฉาวการติดสินบนตั้งแต่ เวิลด์ คัพ 2010 ที่ แอฟริกาใต้ ก็จะต้องสะสางกันต่อไปว่าใครจะโดนหางเลขบ้าง
ใครจะมาแทน "แบล็ตเตอร์"? - น่าตลกไม่น้อยที่ก่อนหน้านี้มีผู้สมัครเปิดตัวชิงตำแหน่งจาก แบล็ตเตอร์ อาทิ ดาวิด ชิโนลา อดีตปีกทีมชาติฝรั่งเศส แต่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ถอนตัว ตอนนี้ มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) คือคนที่ได้รับการยกย่องว่ามีศักยภาพที่สุด แต่ทว่าที่ผ่านมาเหมือนจะอยู่ข้างเดียวกัน เพราะคาดถูกปูทางให้เป็นทายาทหากไม่มีเรื่องแล้วนั่งดำรงตำแหน่งครบในสมัยที่ 5 ล่าสุดยังออกมาชมอดีตประธาน ฟีฟา ว่าตัดสินใจด้วยสปิริตลาออกรับผิดชอบความอื้อฉาว
ที่เหลือก็คือ อาลี บิน ฮุสเซน เจ้าชายจอร์แดน ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ถือเป็นคนสุดท้ายยืนหยัดสู่ในวาระเลือกตั้งล่าสุด ตามด้วย หลุยส์ ฟิโก ตำนานแข้งโปรตุเกส ที่ยกธงขาวไปก่อนหน้านี้, มิเชล ฟาน แพร็ก ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ส ผู้หนุนหลังเจ้าชายจอร์แดน, เฌโรม แชมเปญ จากฝรั่งเศส เคยเป็นผู้บริหาร ฟีฟา ระหว่างปี 1999-2010 ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้เอ่ยถึง แต่โผล่มาอีกแน่ เพราะโอกาสดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรกับ "อังกฤษ"? - เกร็ก ไดค์ ประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ไม่เก็บอาการเลยทันทีที่ทราบข่าว แบล็ตเตอร์ โดยบอกว่า "ได้เวลาเฉลิมฉลอง" เพราะเคยต่อสู้เพื่อจะให้ได้เป็นเจ้าภาพต่อจากปี 1966 แต่ไม่สำเร็จจนกลายเป็นรอยบาดหมาง ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทรับพนันถูกกฎหมายจึงยกให้เป็นเต็ง 1 ที่จะเสียบแทน รัสเซีย กับ กาตาร์ หากตรวจสอบว่ามีปัญหาทุจริตติดสินบน ที่ผ่านมาสื่อเมืองผู้ดีก็เขียนข่าวหาข้อมูลโจมตีมาตลอด ซึ่งอดีตประธาน ฟีฟา คนล่าสุดบอกว่าสิ่งนี้อังกฤษทำเพราะแก้แค้น เดวิด กิลล์ อดีตประธานบริหารของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เหมือนได้กลิ่น เพราะก่อนหน้านี้บอกปัดเข้าไปนั่งในบอร์ดฟีฟาตอนนี้จึงรอดูสถานการณ์ก่อน ดังนั้นตอนนี้ไม่ใช่แค่อังกฤษหลายชาติแย่งกันเพื่อให้ประเทศตนมีบทบาทมากขึ้น
โลกฟุตบอลจะเป็นอย่างไรต่อไป? - ปั่นป่วนแน่นอน อัยการสหรัฐอเมริกากับตำรวจสากลก็เร่งตรวจสอบเรื่องทุจริตเงินๆ ทองๆ ส่วนตำรวจสวิสก็สืบสวนเกี่ยวกับ เวิลด์ คัพ 2018 ที่รัสเซียกับ 2022 ที่กาตาร์ จะมีอีกหลายชาติที่โดนหางเลข เพราะเรื่องทุจริตเริ่มตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2010 ที่ แอฟริกาใต้ จากนี้จะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกอีกเพื่อให้ตนเองมีฐานเสียง อย่างเช่นเอเชียที่มีพาวเวอร์พอสมควร
"แบล็ตเตอร์" กำลังเล่นเกม? - เมื่อมีเรื่องฉาวกระฉ่อนโลก แบล็ตเตอร์ ไม่มีทางนั่งเก้าอี้ที่ร้อนขนาดนี้ได้ แถมตอนนี้ก็วัย 79 ปีแล้ว ดังนั้นความเคลื่อนไหวแรกคือลาออกเพื่อสปิริตให้ทุกอย่างดูโปร่งใสมากขึ้นและกำลังเข้าสู่การปฎิรูปปรับโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมด อย่าลืมว่าที่ผ่านมานายใหญ่ชาวสวิสรายนี้มีถึง 26 กลุ่มที่สนับสนุนอยู่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ามาจากใครบ้าง พลาตินี จุดยืนก็ยังไม่แน่ชัด ดังนั้นกระบวนการเลือกตั้งจากนี้ต่างหากที่สำคัญ อย่าลืมว่าการนั่งตำแหน่งเกือบ 2 ทศวรรษไม่ได้เพาะเชื้อบรรดานอมินีอะไรไว้บ้างเลยหรือ
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *