xs
xsm
sm
md
lg

แจงม.44ป้องจนท.ระบายข้าว แก๊งแดงเรียงหน้าอุ้ม"ยิ่งลักษณ์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"วิษณุ"ปัดใช้ ม.44 เล่นงานฝ่ายตรงข้ามในคดีจำนำข้าว ลั่นถ้าคิดเล่นงานจริงสั่งยึดทรัพย์ไปแล้ว ย้ำเจตนาเพื่อคุ้มครอง จนท. สุจริตให้มั่นใจ ไม่ถูกฟ้อง แต่ถ้าไม่สุจริต ทำเกินหน้าที่ โดนฟ้องแน่ หลังพบคนไม่เกี่ยวข้องเข้ามายุ่งเกี่ยว ย้อน "บุญทรง" ถ้าพวกเดียวกันทำผิด ต้องจัดการหมด "วัชระ" อัด "บุญทรง" บิดเบือนข้อเท็จจริง พูดมั่ว"เหยื่อการเมือง" ทั้งที่ปล่อยโกง แนะคสช.สั่งยึดทรัพย์โรงสีที่ร่วมโกง ด้าน "เพื่อไทย" เรียงหน้าโวย ใช้อำนาจ ม. 44 ขัดรธน.ชั่วคราว ซ้ำเติม-ลิดรอนสิทธิชาวนา อ้างจะทำให้กลไกตลาดข้าวล่มสลาย


วานนี้ (2พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งคุ้มครองผู้บริหารจัดการข้าวที่อยู่ในสต๊อกทั่วประเทศ ว่า เป็นหลักปกติธรรมดาที่ต้องการตอกย้ำให้แก่ผู้สุจริตจะได้รับการคุ้มครอง ไม่สามารถฟ้องร้องได้ แต่ถ้าไม่สุจริต ทำเกินหน้าที่ ไปกลั่นแกล้งจะด้วยตั้งใจ หรือประมาทเลินเล่อ ไม่ได้รับการคุ้มครอง จะต้องถูกฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายและลงโทษทางวินัย

"ขณะนี้พบว่ามีบางคนไม่มีหน้าที่ แต่เข้าไปยุ่ง และเดี๋ยวจะมีมาตรการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ออกมาตามมา ขณะที่ในเรื่องของโรงสี เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่ได้รับมอบหมาย และเข้ามาเกี่ยวข้องจะโดนตรวจสอบเหมือนกัน ดังนั้น ต้องสุจริตถึงจะรอด เตือนไว้"

**ยันใช้ ม.44ปกป้องขรก.สุจริต

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กลัวการถูกฟ้องร้องภายหลัง จึงต้องการความมั่นใจ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เยอะมาก มันทุกจังหวัด บางทีก็เป็นเอกชน เลยทำให้เกิดความไม่มั่นใจ บางทีฝ่ายเถ้าแก่โรงสีเอาไว้ เขาไม่รู้ว่าวันหนึ่งเขาต้องโดนด้วย หรือไม่ โดยคำสั่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่จะสิ้นสุดเมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่จนสิ้นสุด หรือคำสั่งนี้หมดอายุ

เมื่อถามว่า ช่วงปีกว่าทำไมไม่ทยอยนำข้าวขายออกไป นายวิษณุ กล่าวว่า เขาก็ทยอยทำกันอยู่ มีการรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าว(นบข.) มีการรายงานขายไแล้วประมาณ 9-10 ล้านตันแล้ว ยังเหลืออีก 13 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวดี ข้าวเสีย ข้าวที่ไม่แน่ว่าดี หรือเสีย

ส่วนประเด็นที่ทักท้วงการดำเนินการกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่การดำเนินการกับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงยังไม่แล้วเสร็จนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นคำชี้แจงที่มีมาตลอด ต้องเข้าใจว่า คนที่เกี่ยวข้องมีหลายกลุ่ม มีหลายพวก อายุความไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน หลักกฎหมายที่จะเอามาใช้ ก็คนละฉบับกัน

"แต่ถ้ากลุ่มเดียวกัน ทำผิดเหมือนกัน มันก็ต้องจัดการตามลำดับ เหมือนจับมือปืน ก็ต้องจับผู้จ้างวาน เพียงแต่ความผิดส่วนนี้มันคนละประเภท กฎหมายมันคนละฉบับ อายุความดันไม่เท่ากัน อายุความฟ้องเอกชน 1 ปี อายุความฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ปี ฟ้องเอกชนต้องฟ้องศาลแพ่ง ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไปศาลปกครอง มันเลยต้องแยกกัน เพราะฉะนั้นใครก่อน ใครหลัง มาจัดลำดับไม่ได้แล้ว " นายวิษณุ กล่าว

**ถ้าคิดเล่นงานใช้ ม.44 ยึดทรัพย์แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อีกฝ่ายมองว่า การออกคำสั่งนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการกับอีกฝ่าย นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ ถ้าคิดในแง่ร้าย ก็คิดได้หมด ไม่ได้เอาตัวนี้ไปเล่นงานฝ่ายตรงข้ามเลยแม้แต่นิดหน่อย ไม่อย่างนั้นไม่ต้องมานั่งสอบให้เสียเวลา ใช้ มาตรา 44 ยึดทรัพย์ไปเสียเลย ซึ่งก็ไม่มีการทำ และนายกฯ ก็รับปากว่า ห้ามทำอย่างนั้นเด็ดขาด

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงการคลัง ขอขยายเวลาสอบพยานเพิ่มเติมอีก หลังการขยายเวลารอบแรกครบกำหนดไป เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ถือว่ายังสามารถขอขยายเวลาไปได้อีกเรื่อยๆ จนกว่าสอบเสร็จ เพียงแต่อย่าให้ขาดอายุความภายใน 2 ปี ซึ่งล็อกไว้อยู่แล้ว หมดเดือน ก.พ. 60 แต่อย่าคิดว่าจะขยายเวลาไปถึงธ.ค. 59 ก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ กระบวนการที่ขยายเวลากันไปกันมา พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องส่งให้คณะกรรมการดูอีก 1-2 ชุด ซึ่งช่วงนั้นต้องใช้เวลานานเหมือนกัน ดังนั้น ขั้นตอนที่ 1 จะเอาเวลาขั้นตอนที่ 2 มาใช้หมดไม่ได้ คุณอย่าไปขยายเกินเหตุ วันนี้ขยายเพื่อเปิดให้พยานเข้าชี้แจงตามที่เข้าแจ้งมา เท่านั้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2558 ว่าด้วย การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ว่า ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ถ้าทำงานแต่ไม่มีความคุ้มครอง ตนถามว่าจะทำงานอย่างไรได้ มีแต่ความลำบาก และยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะเราไม่ได้เอากฎหมายไปทำลายกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ใช้เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานเท่านั้น

**อัด"บุญทรง"บิดเบือน"ปู"เหยื่อการเมือง"

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธืปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ออกมาแก้ต่างให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการรับจำนำข้าว ว่าเป็นเหยื่อการเมืองโดยคสช.ใช้ ม.44 มาจัดการว่า นายบุญทรง กล่าวความเท็จสร้างความสับสนให้สังคม เพราะข้อเท็จจริงคือ คสช. ไม่ได้ใช้ ม. 44 มาจัดการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงแต่คุ้มครองข้าราชการที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ให้ถูกพวกหัวหมอมีเงินจ้างทนายตะแบงหาเรื่องได้ และที่สำคัญคือ ยึดหลักการทั่วไปที่ว่าคุ้มครองข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเท่านั้น ข้าราชการชั่วๆ ในคำสั่ง คสช. ที่39/2558 ไม่คุ้มครอง จึงขอให้นายบุญทรง ไปพักผ่อนที่คฤหาสน์ใหญ่ของตัวเองที่ลอนดอน ให้สบายใจก่อน

ส่วนที่ นายบุญทรง กล่าวหาว่า เป็นประเด็นการเมืองก็เป็นการแก้เกี้ยว เพราะประเด็นกฎหมายนั้นเรื่องอยู่ที่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จึงควรเคารพกระบวนการพิจารณาของศาล อีกทั้งศาลได้เปิดโอกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งทนาย และนำพยานเข้าสืบในกระบวนการไต่สวนอย่างเต็มที่ จะมากล่าวอ้างลอยๆว่า เป็นเหยื่อการเมืองได้อย่างไร

และที่อ้างจีทูจีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นของปลอมนั้น ถ้าเป็นจริง ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย อย่าพูดเฉไฉทำตัวไม่สมเป็นฐานะอดีต รมว.พาณิชย์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นมือขาวของ เจ๊แดง เพราะนายบุญทรง เคยตอบกระทู้สด และยอมรับกับตนกลางสภาฯว่า มีข้าวจากกัมพูชา 1.5 ล้านตัน มาเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เท่ากับยอมรับต่อประชาชนทั้งประเทศว่า มีข้าวเขมรเข้าร่วมโครงการจำนำข้าว ทำให้รัฐไทยต้องเสียเงินซื้อข้าวเขมรในราคาแพงลิ่ว ทำให้โครงการจำนำข้าว เจ๊งมากยิ่งขึ้น

** แนะยึดทรัพย์โรงสีที่ร่วมโกง

นายวัชระ กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอให้ คสช.ตรวจสอบให้สุดทาง โดยยึดทรัพย์โรงสีที่เข้าร่วมทุจริตทุกราย และให้ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน พร้อมให้กรมสรรพากรตรวจภาษีย้อนหลังโรงสีทุกแห่ง เพราะโกงกันเป็นขบวนการ โดยมีอคส.ประจำจังหวัดต่างๆ และข้าราชการในจังหวัด รวมถึง อตก.ร่วมมือด้วย โครงการนี้ทำให้ประเทศไทยเจ๊งย่อยยับกว่า 8 แสนล้านบาท ชาวนาฆ่าตัวตายมากกว่า 16 รายทั่วประเทศ ทุกศพของชาวนาไม่ปรากฏพวงหรีด หรือเงินทำบุญของนายบุญทรง หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้แต่ศพเดียว ไหนว่ารักชาวนา รักนักหนา แต่เมื่อชาวนาฆ่าตัวตาย เพราะโครงการจำนำข้าวนี้ กลับไม่มีรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเข้าไปช่วยเหลือ สู้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะท่านรับปากช่วยทุนการศึกษาลูกหลานชาวนาที่เสียชีวิตในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทุกคน หากรัฐบาล คสช. จะปราบโกงจริง ขอให้ทำตามที่ตนเสนอ จะเป็นตัวอย่างปราบโกงต้นแบบ

** โวยรัฐบาลจะก่อวิกฤติรอบใหม่

ด้าน นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในขณะนี้ว่า จุดอ่อน หรือจุดตายเรื่องข้าวมีอยู่ 2 จุด คือ 1. ชาวนา และ 2. กลไกตลาดข้าว โดยเฉพาะโรงสี และโกดังเก็บข้าว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดการแปรรูป และเก็บรักษา หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูจุดอ่อนทั้งสองส่วนนี้โดยเร็ว ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตรงจุด ก็จะทำให้เกิดวิกฤติแก่ชาวนา และอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบอย่างแน่นอน แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะทำตรงกันข้าม คือห้าม หรือ ชะลอการทำนา ทำให้ชาวนามีผลผลิตลดลงมาก โรงสี และโกดังขาดวัตถุดิบต้องประกาศขายโรงสีหลายร้อยโรง แถมราคาข้าวยังตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้กลไกตลาดตัวจริง คือชาวนา แทบหมดลมหายใจ

" ล่าสุดที่ผมเห็นว่ารัฐบาลกำลังจะนำประเทศเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างรุนแรง คือ 1 . การชะลอการขายข้าวคุณภาพดี แต่จะขายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ และ 2. การออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้า สำหรับการบริหารจัดการข้าวรัฐบาล และการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าว" นายยรรยง ระบุ

**อ้างใช้ ม.44 นิรโทษล่วงหน้า

สำหรับการประกาศ คสช.ที่ 39/2558 ที่ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้รับผิดชอบนั้น นายยรรยง ระบุว่า การที่ คสช. อาศัยอำนาจ มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 39/2558 เพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้าการบริหารจัดการข้าวของรัฐบาล และการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าวนั้น ตนเห็นว่า นอกจากจะเป็นคำสั่งที่ขัดต่อ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ เพราะไม่เข้าข่าย 3 กรณี ที่ให้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งได้แต่อย่างใด คือ 1. เพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ 2. เพื่อส่งเสริมสามัคคีและสมานฉันท์ 3. เพื่อป้องกัน ระงับยับยั้ง ปราบปรามการบ่อนทำลายต่างๆ เพราะการบริหารจัดการข้าวเป็นการบริหารตามปรกติ ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้อำนาจพิเศษเลย ที่สำคัญยังเป็นการซํ้าเติม และลิดรอนสิทธิชาวนา เจ้าของโรงสี และโกดัง รวมทั้งข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้คำสั่งฉบับนี้ เช่น ถ้าประมูลข้าวเสื่อมให้พลังงานได้ราคาเพียงตันละ 3,000-5,000 บาท เจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะถูกสั่งให้ชดใช้ส่วนต่างกับราคาตลาดคือ ตันละ 11,800-12,000 บาท ในขณะที่เจ้าของโกดัง ไม่ได้ร่วมตรวจสอบคุณภาพข้าว และไม่ยอมรับผลดังกล่าว ก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ส่วนชาวนาที่ถูกสั่งห้าม หรือให้ชะลอการทำนา และถูกซํ้าเติมด้วยราคาข้าวตกตํ่า ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น

"คำสั่งที่ 39/2558 นี้ ยังเป็นการซํ้าเติมจุดอ่อน หรือจุดตาย เรื่องข้าวอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกลไกการบริหารงานของรัฐบาล เพราะคำสั่งนี้ นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะทำให้ใครได้รับความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ถูกต้องตามหลักนิติธรรม หรือไม่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใด ก็จะอ้างว่าสุจริต และในที่สุด จะไม่ถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้เลย" นายยรรยง ระบุ

**รัฐบาลใช้กม.ขัดหลักนิติธรรม

ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกสับสนกับการที่รัฐบาลมีคำสั่งใช้ มาตรา 44 ในคดีจำนำข้าว เพราะเมื่อ 13 ต.ค. 58 ที่ผ่านมา รัฐบาลบอกเองว่าจะไม่ใช้ มาตรา 44 ในคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า จะไม่ใช้กลไกพิเศษในการแก้ปัญหานี้ เพราะจะทำให้ปัญหาทับซ้อนไปเรื่อยๆ แต่เวลาไม่ห่างกันเท่าไร กลับปรับเปลี่ยนในหลักการสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในเชิงหลักการของกฎหมาย ที่จะต้องได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั่นคือ หลักนิติธรรม ซึ่งสำคัญยิ่ง ในยุคโลกาภิวัฒน์ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองบุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ตนมองว่า สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง อันอาจส่งผลให้ได้รับการต่อต้านจากนานาชาติ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายหรือไม่

**"เต้น"เย้ยกลัวปัญหาขาดความชอบธรรม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า การออกคำสั่งตาม ม. 44 คุ้มครองทุกหน่วยงาน ที่ดำเนินการเรื่องจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ทั้งๆที่เป็นคดีสำคัญ

"ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า ขั้นตอนการปฏิบัติอาจมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่า จะตกเป็นจำเลยเสียเอง จนไม่กล้าดำเนินการหรือไม่ เช่น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่กล้าลงนามในคำสั่งทางปกครองบังคับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าไม่กลัวว่าสิ่งที่กำลังทำจะเป็นความผิด จะออกคำสั่งแบบนี้มาทำไม ความหมายของคำสั่งดังกล่าว จึงไม่ใช่นิรโทษกรรมล่วงหน้า เพราะการนิรโทษกรรม จะทำในเรื่องที่เกิดความผิดแล้ว แต่กรณีนี้ร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะเป็นการออกใบอนุญาตฆ่าทางการเมืองให้ผู้รับคำสั่งลงมือได้เต็มที่ โดยใช้อำนาจปิดช่องทางที่ผู้ถูกกระทำ จะฟ้องร้องได้ในภายหลัง" นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า นายกฯ ย้ำหลายครั้งว่าจะปรองดองได้ ทุกคดีต้องเข้าสู่กระบวนการ แต่ความเป็นจริงคือ ตั้งแต่รัฐประหารแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง กลไกของ คสช. ก็ไม่เคยเปิดช่องให้กระบวนการยุติธรรมใดเข้าถึงได้ อำนาจพิเศษของรัฐบาลนี้เป็นแต้มต่อที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แบกน้ำหนักเกินแรงมาตลอดอยู่แล้ว ไม่นึกว่าผู้มีอำนาจจะใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนคนเห็นชัดกันทั้งบ้านทั้งเมืองแบบนี้ ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทำเรื่องนี้ตรงไปตรงมา ทำไมไม่กล้าแถลงว่า ตั้งแต่ต้นจนยุติโครงการจำนำข้าว ธ.ก.ส.โอนเงินตรงจากบัญชีธนาคาร เข้าบัญชีชาวนาทั้งสิ้นเท่าไหร่ กลัวอะไรกับความจริงเรื่องนี้

** คำสั่งคสช.ช่วยให้ระบายข้าวเร็วขึ้น

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2558 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดว่า เป็นเครื่องมือหนึ่งในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการดำเนินคดีของผู้กระทำผิดที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ จึงไม่อยากให้สังคมเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากขณะนี้ ยังมีข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในอดีต คงเหลืออยู่ในการดูแลของรัฐทั่วประเทศเป็นปริมาณมหาศาล จึงจำเป็นต้องระบายออก เพื่อไม่ให้เป็นภาระทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาในโกดังต่างๆ และการถูกกดราคาหากเก็บไว้นานกว่านี้

ทั้งนี้ การดำเนินการระบายข้าว มีความยากลำบากในการปฏิบัติหลายด้าน เช่น บางคลังมีข้าวล้มกอง จำเป็นต้องจำหน่ายเหมาคลัง ซึ่งอาจมีข้าวใช้ได้ปะปนอยู่บ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแยกแยะได้ นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวหลายคดี และสต็อกข้าวที่จะระบายจะมีราคาที่แตกต่างจากราคารับจำนำค่อนข้างมาก เพราะเป็นข้าวเสื่อมสภาพ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าตัดสินใจในการดำเนินการ และหาผู้ปฏิบัติงานได้ยาก

ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานทั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และอีกหลายส่วน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และป้องกันการถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

"การใช้ มาตรา 44 จะช่วยให้การระบายข้าวเร็วขึ้น ทั้งข้าวดี และข้าวเสื่อมสภาพ รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐ และช่วยให้ตลาดข้าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วได้ รัฐบาลขอยืนยันว่า แม้จะมีคำสั่ง หน.คสช. ดังกล่าวออกมา แต่ทุกอย่างก็ต้องดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบขั้นตอนในการระบายข้าวด้วยความโปร่งใส ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ"

*** “พาณิชย์”ชี้ม.44ช่วยเซฟเจ้าหน้าที่รัฐ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีความมั่นใจว่าการนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาใช้ในการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในสต๊อกของรัฐบาล จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการทำงานระบายข้าว และทำให้การระบายข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังช่วยป้องกันไม่ให้รัฐได้รับความเสียหายจากความล่าช้าในการระบายข้าว เพราะขณะนี้ยังเหลือข้าวในสต๊อกอีกกว่า 13 ที่จะต้องดำเนินการระบาย ซึ่งมีทั้งข้าวคุณภาพดี ข้าวเสียและข้าวเกรดซี

ทั้งนี้ ในส่วนของข้าวเสียและข้าวเกรดซี เป็นส่วนที่จะมีปัญหา เพราะการระบายแน่นอนว่าจะไม่สามารถขายได้ตามราคาตลาด ซึ่งจะมีส่วนต่างที่ภาครัฐจะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาคเอกชน โดยเฉพาะเจ้าของโกดังที่เก็บข้าว ซึ่งจุดนี้เอกชนอาจจะไม่ยอมรับว่าข้าวที่เก็บในโกดังของตนเองเสียหาย และไม่ยอมจ่ายส่วนต่างก็อาจจะฟ้องกลับรัฐได้ แต่ภาครัฐมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ เพราะมีบันทึกการตรวจสอบ มีห้องแล็ปที่เก็บตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบ

“ถ้าไม่มี ม.44 มาช่วย การบริหารจัดการข้าว ที่มีอยู่ปริมาณมาก และมีคนเกี่ยวข้องมาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าไม่ได้รับความคุ้มครองการทำงานที่สุจริต ก็จะไม่มีกำลังใจในการทำงาน ยิ่งการระบายข้าวจากนี้ไป จะมีแต่ความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง โดยเฉพาะข้าวเสีย ข้าวเกรดซี แต่เมื่อมี ม.44 มาช่วย ถ้าทำงานโดยสุจริต จะได้รับความคุ้มครอง ฟ้องร้องไม่ได้ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ถ้าทำงานโดยไม่สุจริต ยังฟ้องร้องได้ตามปกติ ซึ่งคงไม่มีทางเกิดขึ้น”น.ส.ชุติมากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น