"บุญทรง" ดิ้น! โพสต์เฟซบุ๊ก ป้อง "ยิ่งลักษณ์" ไม่ผิดในคดีจำนำข้าว อ้าง"ยุคมาร์ค" ก็มี จีทูจี มันสำปะหลัง หรือที่ "บิ๊กตู่" ไปลงนามขายยางรัฐต่อรัฐ เป็นการสมยอม-ฮั้วเหมือนกัน แขวะหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 คุ้มครองทุกองค์กรที่ตรวจสอบคดีการระบายข้าว เปรียบเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมือง ป้องพรรคพวกตัวเอง "หมอวรงค์" หนุนใช้ ม.44 ระบายข้าว สร้างหลักประกัน ขรก. ชี้อายุคดีเอาผิดเอกชนใกล้หมด หากปล่อยคนโกงลอยนวลรัฐบาลบิ๊กตู่จะลำบาก
วานนี้ (1 พ.ย.) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Boonsong Teriyapirom” โดยเขียนจดหมายเปิดผนึก ใจความว่า
"ผมเห็นภาพข่าวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซี่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว ผมย่อมรู้ดีกว่าใคร ว่านายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่การที่ท่านต้องถูกดำเนินคดี ถูกถอดถอน และกำลังจะถูกเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง โดยหัวหน้าคสช.ต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองทุกคน และทุกองค์กรที่ถูกใช้ให้มาจัดการกับท่านและพวกผมในเรื่องข้าว ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และโครงการรับจำนำข้าว คือเหยื่อในทางการเมือง ผมจึงควรพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
1. การกล่าวหาว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อทำลายนายกฯยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ปูทางไปสู่การยึดอำนาจการปกครองอย่างแท้จริง โดยใช้ชาวนาเป็นตัวประกัน นายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้รับผิดชอบโครงการโดยตรง กล่าวคือ
(1) การรับจำนำมีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวเป็นผู้รับผิดชอบและ
(2) การระบายข้าว มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบ จากโครงสร้างดังกล่าวนายกฯยิ่งลักษณ์ จึงไม่ควรถูกลากโยงเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเลย เพราะเป็นเพียงผู้กำกับดูแลนโยบายในภาพรวมเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการรับจำนำหรือการระบายซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะอนุกรรมการดังกล่าว นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงมิได้ปล่อยปละละเลยใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบแล้วด้วยการติดตามกำชับให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย มติ ระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องรวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบและป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ส่วนผมขอยืนยันว่าได้ดำเนินการไปโดยถูกต้องตรงตามมติ ระเบียบและแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวนี้ทุกประการ
2. ในส่วนของการรับจำนำไม่มีประเด็นกล่าวหามากนัก เพราะได้จ่ายเงินให้ชาวนาโดยตรงผ่าน ธ.ก.ส. คงเหลือเพียงการขายข้าวที่ถูกนำมาโจมตีเป็นประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G)ให้กับ Guangdong Stationary & Sporting Goods Imp. & Exp. Corp. หรือ GSSG และ Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company หรือ Hainan โดยกล่าวหาว่า ทั้งสองบริษัทมิได้มีฐานะเป็นรัฐและมีการสมยอมเรื่องราคา นั้น ผมขอชี้แจง ดังนี้
(1) ระเบียบและแนวปฏิบัติที่ถือว่ารัฐ (G)ให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อมีขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ครั้งที่ 5/2552 วันที่ 18 มิถุนายน 2552 โดยกรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ตรวจสอบ และพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอซื้อว่ามีฐานะเป็นรัฐหรือไม่ ซึ่งถือเป็นงานประจำของกรมการค้าต่างประเทศที่ทำกันมาทุกรัฐบาล
(2) กรมการค้าต่างประเทศตรวจสอบพบว่า GSSG และ Hainan เป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑล โดยรัฐบาลจีนถือหุ้น 100% จึงถือเป็นรัฐตามมติที่ประชุมดังกล่าว จากนั้นได้มีการทำสัญญาแบบ G2G ตามแนวปฏิบัตินี้หลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 กรมการค้าต่างประเทศได้เป็นคู่สัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังแบบ G2G กับ Guangxi Mingyang Biochemical Science & Technology ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑล กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ได้ทำสัญญาขายยางแบบรัฐต่อรัฐระหว่าง องค์การสวนยางกับ China Hainan Rubber Industry Group Co., Ltd.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของมณฑลเช่นกัน ดังนั้น GSSG และ Hainanจึงมีฐานะเป็นรัฐเช่นเดียวกันกับอีกสองรัฐวิสาหกิจในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และอยู่ในเครือเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจที่มาซื้อยางสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
(3) ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า วิธีการที่ บริษัท Guangxiเสนอขอซื้อมันจากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ และวิธีการที่บริษัท China Hainan เสนอซื้อยางจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ต้นจนจบทำโดยวิธีเดียวกันกับที่ GSSG และ Hainanขอซื้อข้าวจากรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่เหมือนกันเพียงอย่างเดียว คือ การซื้อขายของทั้งสองรัฐบาลไม่ถูกป.ป.ช.กล่าวหาว่ามีการสมยอมเรื่องราคาแต่ผมถูกกล่าวหาครับ
(4) ส่วนที่อ้างว่าพบหลักฐานเด็ด เป็นเช็คจากธนาคารภายในประเทศนำมาชำระค่าข้าวแสดงว่าไม่มีการซื้อขายจริงเพราะไม่ได้ชำระเป็น L/C จากต่างประเทศ จึงสงสัยกันว่าน่าจะไม่มีการส่งออกนั้น ขอเรียนว่า ผู้ซื้อข้าวเพื่อส่งออกสามารถชำระเงินเป็นเช็ค หรือเงินสดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิด L/C อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ผมคิดขึ้นมาเอง ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศได้กำหนดรูปแบบการชำระเงินไว้ 3 วิธี คือ 1. L/C ชนิดเพิกถอนไม่ได้ 2. การโอนเงินผ่านธนาคาร (SWIFT) หรือ 3. จ่ายเป็นเช็คเงินสดในรูปแบบของเงินบาทก่อนรับมอบข้าวในแต่ละงวดและเป็นวิธีที่กรมการค้าต่างประเทศเริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว
(5) ข้อโจมตีที่ว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวหรือระบายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ทำให้ประเทศขาดทุนมหาศาลนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องเพราะในความเป็นจริงข้าวเป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพตลอดเวลา การขายข้าว หรือสินค้าเกษตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับจำนำจากเกษตรกรจึงถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขายได้ต่ำกว่าราคาทุนเช่นกัน และจะว่าไปแล้ว ราคาที่แต่ละรัฐบาลจำหน่ายข้าวได้ก็ไม่แตกต่างกัน หากเทียบราคาขายต่อหน่วย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า โครงการจำนำข้าวไม่ได้มีขึ้นเพื่อการแสวงหาผลกำไรให้กับรัฐ แต่เป็นการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เพื่อช่วยเหลือชาวนาอันเป็นหน้าที่ๆ ทุกรัฐบาลต้องกระทำตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การขายข้าวได้ในราคาต่ำจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดว่า โครงการจำนำข้าวล้มเหลวแต่อย่างใด นอกจากนี้ การโจมตีเรื่องสต๊อกข้าวของรัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ว่าจำนวนมากนั้นก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ ต้องรับหน้าที่บริหารจัดการข้าวที่สะสมมาจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ด้วย เมื่อรวมกับข้าวล็อตใหม่ ที่นำมาเข้าโครงการในสมัยของตนตัวเลขข้าวในสต๊อกย่อมต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา เช่น ในสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ก็ต้องบริหารจัดการข้าวที่เหลือสะสมมาจากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เช่นเดียวกับที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องรับผิดชอบระบายข้าวที่สะสมมาจากยุครัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ด้วยเช่นกัน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ดังนั้น ที่อ้างกันว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศเสียหายมาก เพราะรัฐบาลขายข้าวไม่ได้ราคา หรือเพราะมีข้าวเหลือในสต็อกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และที่สำคัญการระบายข้าวที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนจบถูกดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ทั้งสิ้น
(6) กรณีที่มีการกล่าวหาว่าข้าวขาดหายไปจากโกดังก็ดี หรือข้าวเสื่อมสภาพเสียหายก็ดี อยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว มีเจ้าของโกดังที่เป็นผู้รับฝากเก็บสินค้าทำหน้าที่ดูแลปริมาณและรักษาคุณภาพข้าวให้เป็นไปตามสัญญาฝากเก็บโดยมีหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจากธนาคารมอบไว้กับ อ.ต.ก. หรือ อคส. แล้วแต่กรณี ดังนั้น หากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นรัฐบาลก็สามารถเรียกร้องเอาจากผู้รับฝากเก็บหรือจากธนาคารผู้ค้ำประกันได้จึงไม่ควรนำมาเป็นประเด็นการเมืองอีกต่อไป
(7) จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาจะเห็นว่าการรับจำนำและระบายข้าวสารได้กระทำตามมติ ระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่แล้วทุกประการ อีกทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยใดๆ ตามที่พยายามกล่าวหากัน ถ้าจะอ้างว่าเป็น G2G ปลอม ก็ปลอมมาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือจะกล่าวหาว่าเป็นการสมยอมเรื่องราคา หรือฮั้ว ก็ทำเหมือนกับทั้งสองรัฐบาล ส่วนเรื่องการรับเงินค่าซื้อขายเป็นเช็คก็เป็นระเบียบที่ทำกันมาก่อนหน้ารัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ เพียงแต่พวกผมเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี จนท้ายที่สุดเมื่อหัวหน้า คสช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองทุกคน และทุกองค์กร ที่ถูกใช้ให้มาจัดการในเรื่องนี้ คือหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โครงการรับจำนำข้าว ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายล้างนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการ ความถูกต้อง และไม่มีความเป็นธรรมใดๆ จึงต้องออกคำสั่งมาคุ้มครองตัวเอง และบริวาร ไม่ให้ถูกฟ้องกลับ แต่การที่นายกฯยิ่งลักษณ์ และผมเป็นเหยื่อทางการเมืองก็ยังสามารถต่อสู้คดีในศาลได้แม้ในชั้น ป.ป.ช. จะไม่ได้รับโอกาสและความเป็นธรรมก็ตาม แต่คนที่น่าเห็นใจที่สุดที่ต้องมารับกรรมในเรื่องนี้คือ เกษตรกรและชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากการใช้โครงการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายหรือกำจัดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ออกไปจากการเมือง
** กิตติรัตน์โพสต์คลิปป้องยิ่งลักษณ์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ ได้โพสต์ข้อความ พร้อมคลิปวีดิโอลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว"Kittiratt Na-Ranong (กิตติรัตน์ ณ ระนอง) " ถึงการป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ความยาว 3.41 นาที โดยภายในคลิประบุว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้วางมาตรการป้องการการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 มาตรการดังนี้ 1. มาตรการป้องการการทุจริตทุกขั้นตอนการดำเนินงาน 2. มาตรการกลไกการตรวจสอบ 3. การลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ 4. การปราบปรามทุจริต
ทั้งนี้ ในช่วยงท้ายคลิประบุย้ำว่า จากการมาตรการทั้งหมดถือเป็นเจตนารมณ์ ความทุ่มเท ใส่ใจ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อการบูรณาการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุกขั้นตอน
** "บิ๊กตู่"ใช้ ม.44จัดการข้าวค้างสต็อก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.mratchakitcha.soc.go.th/ ได้เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด
"ตามที่มีการดําเนินการตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐบาลในอดีต ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ปรากฏว่า ยังคงมีข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ ที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นปริมาณมหาศาล หากการเก็บรักษาและการควบคุมดูแลหรือการระบายข้าวออกสู่ตลาดไม่รอบคอบรัดกุม หรือไม่สุจริต ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจํานวนมาก เพื่อการบริหารจัดการและการเก็บรักษาข้าวที่คงเหลือไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้องเร่งตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพ รวมทั้งวางมาตรการระบายข้าวดังกล่าวออกสู่ตลาดให้เหมาะสม มิให้กระทบต่อราคาข้าวฤดูกาลใหม่ที่ทยอยออกมา ทั้งต้องดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นความจําเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
อาศัยอํานาจตามความใน มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าว ที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้นเพราะเหตุแห่งความเสื่อมสภาพของข้าว การแตกต่างระหว่างราคาข้าวที่รับจํานํากับราคาที่จําหน่ายได้ การที่รัฐต้องรับภาระ ค่าเช่าคลัง ค่าประกันภัย ค่าดูแลรักษาคุณภาพข้าว ค่าใช้จ่ายอื่น และดอกเบี้ย และเพื่อป้องกันมิให้การระบายข้าวเป็นการเพิ่มอุปทานในตลาดในช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลผลิตฤดูกาลใหม่โดยไม่สมควร รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งดําเนินการตามอํานาจหน้าที่และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
ข้อ 2 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 30 ตุลาคม พุทธศักราช 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ "
** "หมอวรงค์"หนุนใช้ม.44 ระบายข้าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ว่า เข้าใจว่าเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเอาจริงกับคดีจำนำข้าว เพื่อถือเป็นโครงการที่ทุจริตของรัฐบาลก่อนและเครือข่ายที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติจำนวนมหาศาล ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเฉพาะโครงการเดียวเกินกว่า 6 แสนล้านบาท ยังไม่ยังรวมค่าความเสียหายของข้าวเสื่อมสภาพที่ตกค้างในโกดัง และค่าดูแลเก็บรักษาถือเป็นสัญญารที่ดี ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอาจริง
ทั้งนี้ คำสั่งนี้มี 2วรรคทอง คือ สาระสำคัญในวรรคแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้าวในโกดัง และการขายข้าวที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซื้อมาเก็บในสต็อกในราคาแพงกว่าท้องตลาด และเสื่อมสภาพ ดังนั้นในการที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบมีหลักประกันในการทำหน้าที่ โดยไม่ถูกฟ้องกลับจากพรรคเพื่อไทย และเครือข่าย เพราะมีมุมมองต่างกัน
ส่วนวรรคที่ 2 เป็นการส่งสัญญาณว่า ต้องจัดการกับการทุจริตที่เป็นนโยบายเร่งรัดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะปราบปรามและขจัดการทุจริต เพราะระบุ ถึงเรื่องค่าเสียหายกับผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีจำนวนมาก ที่แยกออกเป็นข้าราชการประจำ และกลุ่มเอกชน เพราะตามกฎหมายรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการฟ้องร้อง กลุ่มเอกชนก่อนที่มีเวลาเพียง 1 ปี และใกล้จะครบในต้นปี 59 ส่วนข้าราชการประจำ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมมือทุจริต มีเวลา 2 ปี
เมื่อถามว่า บางฝ่ายระบุว่า เป็นการเร่งรีบเฉพาะโครงการนี้ และจะสร้างวาทกรรมว่า เป็นเรื่องสองมาตรฐานของรัฐบาลนี้อีก นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตนมองว่า เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและต้องรีบทำ ในเมื่ออายุความทางคดีที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ร่วมทุจริตโกงชาติจะหมดอายุ ก็ต้องรีบทำ หรือจะปล่อยให้คดีหมดอายุความไปเฉยๆ หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะตกที่นั่งลำบากเสียเอง เพราะสังคมไทยจะเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า ในเมื่อรู้ว่าใครโกง ใครทุจริตจนเสียหายทำเศรษฐกิจชาติแทบล่มสลาย แต่ยังกลับปล่อยให้คนโกงลอยนวล จะเกิดคำถามต่างๆ ตามมา ซึ่งสวนทางกับที่ประกาศรณรงค์ให้คนไทยร่วมใจต่อต้านการคอร์รัปชัน จึงไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐานที่บางฝ่ายพยายามบิดเบือน หรือชาติเสียหายขนาดนี้ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ.