ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลฯนัดตรวจหลักฐานคดีทุจริตขายข้าวจีทูจีเก๊ กรณีอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ‘บุญทรง-พวก21 คน’ ไม่เสร็จ เหตุคู่ความอ้างพยานเอกสารจำนวนมาก ศาลนัดพร้อมอีกครั้ง 12 พ.ย.นี้ ด้าน“ยิ่งลักษณ์” ควง “สมชาย” ขึ้นศาลอาญา รัชดาฯ ยื่นฟ้องสส. อธ.อัยการคดีพิเศษ รองอธ.อัยการสำนักงานการสอบสวน ข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ศาลขอเวลา 7 วัน "วิษณุ"เผยอายุความรับผิดทางละเมิดจำนำข้าว "ปู"ยังมีเวลาเหลือเฟือ ชี้ 30 ก.ย.ไม่ใช่จบอายุ ความแค่สิ้นสุดเวลาของคณะทำงาน คาดมีเวลาอีกปีครึ่ง ลั่นคดีไม่เกินสิ้นปีจะสั่งยิ่งลักษณ์ชำระหนี้จำนำข้าว ด้านบอร์ด อคส.สรุปสต๊อกข้าว 10.5 ล้านตันให้กระทรวงการคลังปิดบัญชีงวดวันที่ 30 ก.ย. 58 ชี้รัฐบาลอ่วมหนัก ขาดทุนเพิ่ม
วานนี้ (29 ก.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีหมายเลขดำ อม. 25/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย ในความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐหรือฮั้วประมูล พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151และ157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 พร้อมทั้งขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
โดยนายบุญทรง, นายภูมิ และจำเลยคนอื่น พร้อมทนายต่างทยอยเดินทางมาศาล ส่วนนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 14 มีอาการป่วย ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงมอบอำนาจให้ทนายยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ต่อศาลเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลจึงอนุญาตจำเลยที่ 14 ไม่ต้องมาศาลในวันนี้
ทั้งนี้ ในการตรวจพยานหลักฐาน โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารต่อศาลรวม 148 แฟ้ม ขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างเอกสารที่ผู้ครอบครองส่งมาตามคำสั่งเรียกจำนวนมาก องค์คณะฯ เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างพยานบุคคลหลายปาก และพยานเอกสารมีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจพยานหลักฐานได้เสร็จภายในวันนี้ ดังนั้น จึงให้คู่ความทั่งสองฝ่ายร่วมกันตรวจพยานหลักฐานต่อไปทุกวันอังคารจนกว่าจะแล้วเสร็จ
โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐาน และการกำหนดวันเพื่อไต่สวนพยาน ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เวลา 9.30 น.
ภายหลัง นายบุญทรง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การนัดตรวจหลักฐานในวันนี้ยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากยังมีหลักฐานพยานจำนวนมาก โดยเบื้องต้นมีหลักฐานเอกสารกว่า 60,000 แผ่น และพยานฝ่ายจำเลยขอนำพยานเข้าสืบ 100 กว่าปาก ศาลจึงนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย. นี้ ซึ่งเราก็จะขอโอกาสศาลต่อสู้ตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีอยู่ โดยพยานหลักฐานส่วนใหญ่ได้อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ส่วนกรณีที่คณะทำงานสรุปข้อเท็จจริงของกระทรวงพาณิชย์จะสรุปตัวเลขความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวเพื่อดำเนินการทางแพ่งนั้น ก็ต้องดูว่าทางคณะทำงานจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่ตนก็จะขอใช้สิทธิ์ตามกฎหมายฟ้องต่อศาลปกครอง โดยจะต้องปรึกษากับฝ่ายกฎหมายก่อน
***“ปู” ดิ้นฟ้อง อสส.-อธิบดีอัยการ อ้างทำคดีจำนำข้าวมิชอบ
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น.วันนี้ (29 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทนายความ และผู้ติดตาม ได้เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว และมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200
โดยคำฟ้องบรรยายว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้ง 4 แทนโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยเดือน ส.ค. 2557 และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2557 นายตระกูลจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายชุติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จำเลยที่ 2 นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จำเลยที่ 3 และนายกิตินันท์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนจำเลยที่ 4 เป็นคณะทำงานพิจารณาสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.กรณีการดำเนินคดีต่อโจทก์ในโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2558 นายตระกูล อัยการสูงสุดจำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นพนักงานอัยการดำเนินคดีที่ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2557 - 14 ส.ค. 2558 ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ระหว่างดำรงตำแหน่งอัยการได้บังอาจร่วมกันลักษณะแบ่งหน้าที่กันด้วยการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และยังร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่ง พนักงานอัยการกระทำการอย่างใดๆ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องรับโทษโดยภายหลังจากที่นายตระกูลอัยการสูงสุดจำเลยที่ 1 ได้รับรายงานและเอกสารความเห็นการไต่สวนข้อเท็จจริงจาก ป.ป.ช.ในคดีอาญาที่กล่าวหาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 แล้วได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าวว่ามีข้อไม่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฏหมายกลั่นแกล้ง และมีการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่เที่ยงธรรม ซึ่งวันที่ 3 ก.ย. 2557 จำเลยที่ 1 ได้มีความเห็นว่าการไต่สวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ใน 4 ประเด็นใหญ่ เรื่อง โครงการรับจำนำข้าว เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรื่องการทุจริต และการรวบรวมพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่ายังไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อไม่สมบูรณ์ และยังมีข้อถกเถียงเรื่องการนัดประชุมของคระทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ซึ่งวันที่ 21 ม.ค. 2558 มีการพาดหัวข่าวว่า “วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ ประธานคณะกรรมการร่วมอัยการ งงข่าว ป.ป.ช.เห็นควรสั่งฟ้องอดีตนายกฯ ปู ชี้ขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด ระบุนัดประชุมฝ่ายอัยการอีกครั้ง 26 ม.ค.นี้
ก่อนประชุมใหญ่ คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.” ซึ่งรายละเอียดของข่าวส่วนหนึ่งได้ระบุว่า นายวุฒิพงศ์ไม่ได้เป็นผู้เสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุด ขณะที่ยังปรากฏด้วยว่า รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาแถลงข่าวด้วยว่า ขั้นตอนยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม แต่ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.2558 กลับปรากฏว่า นายสุรศักดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน จำเลยที่ 3 ได้แถลงข่าวว่านายตระกูลจำเลยที่ 1 มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นเวลากะทันหันเพียง 1 ชั่วโมงก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์ ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญว่าเป็นวาระซ่อนเร้น โดยไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเหตุบังเอิญ โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานอัยการต้องให้ความสำคัญในข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ และต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นแล้วจึงมีความเห็น
การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การไต่สวนในข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะทำงานร่วมกลับรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้ว เห็นว่าการรวบรวมหลักฐานได้เสร็จสิ้นและเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2557 เรื่องการตรวจพิจารณาสำนวนและการใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาฯ แล้วยังได้บรรยายฟ้องบางตอนให้ผิดไปจากความจริงซึ่งการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ให้ยึดรายงาน ป.ป.ช.เป็นหลัก ซึ่งรายงาน ป.ป.ช.ระบุไว้ชัดเจนว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานในชั้นนี้ว่าโจทก์ได้ทำการทุจริต หรือสมยอมให้มีการทุจริต แต่จำเลยทั้งสี่กลับบรรยายฟ้องแตกต่างจากรายงานของ ป.ป.ช.ว่าโจทก์รู้เห็นและรับทราบการทำทุจริต จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้
การกระทำของจำเลยในฐานะพนักงานอัยการเป็นการกระทำหรือไม่กระทำการใดเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งต้องรับโทษหนักขึ้น และเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2558 จำเลยทั้ง 4 ยังร่วมกันยื่นบัญชีระบุพยาน พร้อมส่งพยานเอกสาร รวม 67,800 แผ่น เป็นเอกสารสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในคดีระหว่างนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กับพวกรวม 3 คน กล่าวหานายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 111 คน และเอกสารสำนวนคดีอาญาที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 21 คนเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ และพยานเอกสาร 148 แฟ้ม พยานเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารนอกสำนวนการสอบสวนที่ ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดี การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงได้นำคดีมายื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย
ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ได้ยื่นฟ้อง 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นเเรกมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการในการสอบข้อไม่สมบูรณ์ซึ่งในชั้นนี้ไม่มีการส่งข้อไม่สมบูรณ์ในการสั่งฟ้อง และมีการสั่งฟ้องคดีก่อนที่ สนช.จะมีคำสั่งถอดถอนตนในชั้น ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเดิมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่คำฟ้องขอ อสส.กลับบรรยายว่าตนเห็นเห็นชอบและสมยอมให้เกิดการทุจริต และในชั้นพิจารณาของชั้นศาล อสส.ได้นำเอกสารที่ไม่มีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. และคณะทำงานร่วมในคดีนี้เข้ามาอยู่ในสำนวน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมมายื่นฟ้องในเวลานี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า การมายื่นฟ้องในวันนี้เป็นไปตามขั้นตอนและมีความพร้อมในด้านเนื้อหาเอกสาร และเป็นการขอใช้สิทธิตามกระบวนการมากกว่า ซึ่งตนได้รับเอกสารนอกสำนวนที่อัยการสูงสุดเสนอให้ศาลฎีกาฯ 60,000 แผ่นแล้วก็รู้สึกหนักใจ เพราะเราเตรียมการขึ้นศาลสู้คดี แต่กลับได้รับเอกสารเพิ่มเติมถึง 60,000 แผ่น ตัวเองในฐานะที่ถูกฟ้องก็อยากเตรียมตัวให้รอบคอบ
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่นายมานัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จำเลยร่วมกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ คดีระบายข้าวจีทูจี น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตัวเองทำเต็มที่ มาใช้สิทธิตามกระบวนการ แต่คงก็ไม่กล้าที่จะคาดหวัง แล้วแต่ศาลจะพิจารณา
ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความเปิดเผยว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับที่นายตระกูล อัยการสูงสุด กำลังจะเกษียณจากตำแหน่งสิ้นเดือน ก.ย.นี้ เพราะในคำฟ้องระบุอยู่แล้วว่าอัยการสูงสุดและคณะอัยการทั้ง 4 คน ขณะดำรงตำแหน่งนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการพิจารณาสำนวนอย่างไร ขณะที่การฟ้องก็ไม่ได้คิดขนาดว่าคดีอาญานี้จะมีประโยชน์อย่างไรต่อการพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อคณะอัยการ เป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายที่จะให้ได้รับความเป็นธรรม หากเราเห็นว่าอะไรกระทำโดยไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะใช้สิทธิตามกฎหมายทุกช่องทางต่อไป
สำหรับคดีนี้เบื้องต้นศาลได้รับไว้ในสารบบความ หมายเลขดำที่ อท.25/2558 โดยอีก 7 วัน ศาลนัดให้คำสั่งอีกครั้งว่าจะรับคดีไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่
**อายุความคดีจำนำข้าวยังเหลือเฟือ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุว่า การสรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ในคดีโครงการรับจำนำข้าวให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย. เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความว่า ที่บอกว่าจะต้องจบปิดในวันที่ 30ก.ย.ไม่ใช่อายุความ แต่เป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดการทำงานของคณะกรรมการ ของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเขาแจ้งมา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่าเสร็จหมดแล้ว เมื่อรายงานมาที่ตน ก็จะรายงานนายกฯ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง วันนี้ยังไม่มีใครพูดถึงอายุความเลย ไม่มีอะไรต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องอายุความ ไม่มีใครพูดว่า จะต้องรีบฟ้องเพื่อไม่ให้ขาดอายุความ ไม่มี เพราะอายุความมันไม่ขาด
เมื่อถามว่าจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า นับตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้ตัวผู้กระทำผิด และรู้ถึงการกระทำความผิด คนที่มีหน้าที่เขาจะทำให้เสร็จภายในอายุความ รับรองว่าเสร็จครบแน่ ก่อนจะครบตั้งนานด้วย แล้วมาพูดกันทำไมเรื่องอายุความ เพราะยังไม่มีใครบอกว่าจะครบ รัฐบาลไม่เคยพูดเลยว่าจะครบ สมมติว่านับแบบคนหนึ่งนับ อาจต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ถ้าให้อีกคนหนึ่งนับ อาจจะเริ่มนับ 2-3 เดือนข้างหน้า แต่จะนับแบบไหน ก็ไม่ขาดอายุความทั้งนั้น จะเดือดร้อนทำไม ไม่ว่าจะเริ่มนับจากไหน รวมความก็ 2 ปี ฉะนั้นทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเหลืออายุความอยู่ประมาณ 1 ปี 6 เดือน ฉะนั้น ขอแสดงความเสียใจด้วยถ้าจะพูดเรื่องอายุความ และวันที่ 30 ก.ย. คณะกรรมการจะส่งเรื่องมาถึงตน
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนจากนี้ หากนายกฯพิจารณาและส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน เมื่อคณะกรรมการชุดนี้พิจารณาสำนวนทั้งหมดแล้วเห็นด้วย ก็จะเสนอกลับมายังนายกฯ ให้ออกคำสั่งว่า บุคคลนั้นมีความผิดและสั่งให้ชำระหนี้ภายในอายุความ หรือเรื่องส่งถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางภายในต้นเดือนต.ค. น่าจะสั่งได้ก่อนสิ้นปี และอายุความยังเหลือเฟือ จากนั้นก็ยังต้องรอนายกฯ ออกคำสั่งทางปกครอง จึงจะจบกระบวนการของอายุความ ถ้ายอมชำระก็จบ ถ้าไม่ชำระก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ รวมทั้งไปร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งนายกฯ ที่ให้เขาต้องชำระหนี้ คดีก็จะอยู่ในศาลโดยเขาเป็นโจทก์รัฐบาลเป็นจำเลย
เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) กับศาลอาญา จากกรณี อสส. สั่งฟ้องคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิที่จะฟ้องได้ และคิดว่าถ้าศาลรับ คงไม่ทำให้คดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสะดุด เพราะฟ้องเป็นส่วนตัว แต่เวลาสั่งฟ้อง สั่งฟ้องโดยส่วนรวมเป็นตำแหน่ง และสั่งโดยนายตระกูล เป็น อสส.คนเก่า พรุ่งนี้อสส.คนใหม่ก็ขึ้นรับหน้าที่ คงไม่เกี่ยวกัน จะฟ้อง ก็ฟ้องไป
**บอร์ดอคส.สรุปขาดทุนข้าวเสื่อมเพิ่ม6,230 ลบ.
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ได้ส่งข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือ 10.5 ล้านตัน ที่อยู่ในคลังของอคส.ให้กับกระทรวงการคลัง เพราะในวันนี้ (30 ก.ย.) กระทรวงการคลังจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวงวดวันที่ 30 ก.ย. 2558 โดยคาดว่าผลการขาดทุนจะสูงกว่าการปิดบัญชีงวดที่ผ่านมา เนื่องจากมีข้าวเสีย ข้าวเสื่อม และข้าวกองล้มในโกดังเพิ่มขึ้น ทำให้การระบายข้าวขายได้ต่ำกว่าราคาต้นทุนมาก ส่วนกรณีการทุจริตข้าวถุง ในส่วนความผิดของขั้นตอนกระจายข้าวถุงนั้น ได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางป.ป.ช.กำลังสอบพยายามที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้อคส.เร่งดำเนินการสะสางงานเก่าๆที่ยังค้างคางให้เรียบร้อย เพราะที่ผ่านมาอคส.มีงานที่ค้างคา และคดีต่างๆที่ต้องดำเนินการสอบสวนมาก จึงจำเป็นต้องรีบแก้ไขงานเก่าให้เสร็จสิ้น
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่าคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ได้ออกประกาศประมูลขายข้าวสารในสต๊อกของรัฐ ครั้งที่ 7/2558 ปริมาณ 4.45 แสนตัน แบ่งเป็นข้าว 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 และปลายข้าวเอวันเลิศ ผลปรากฎว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติทั้ง 26 ราย แต่ยื่นซองเสนอราคา 25 ราย และจากการเปิดซองเสนอราคาพบว่ามีเพียง 12 ราย ที่เสนอราคาสูงสุดใน 37 คลัง หรือครบทั้งปริมาณที่เปิดประมูล 4.45 แสนตัน มูลค่า 4,574 ล้านบาท
ทั้งนี้ ชนิดข้าวที่มีผู้เสนอราคาซื้อมากสุดชนิดเป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 3.33 แสนตัน คิดเป็น 75% รองลงมาปลายข้าวขาวเอวันเลิศ 6.33 หมื่นตัน คิดเป็นสัดส่วน 14% และข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 4.88 หมื่นตัน คิดเป็น 11% ราคาที่มีการเสนอซื้อนั้นเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาท/ตัน หรือ 10 บาท/กก. โดยในวันที่ 2 ต.ค. จะมีการประชุมคณะทำงานฯเพื่อพิจาณาว่าราคาที่เสนอซื้อสูงสุดทั้ง 12 ราย ผ่านเกณฑ์ราคาขั้นต่ำ (ฟลอร์ แวลู่) ที่กรมกำหนดไว้แต่ไม่ได้ประกาศออกมาหรือไม่ ก่อนเสนอให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติขายต่อไป
"ส่วนการประมูลครั้งต่อไปขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนบข. ไม่สามารถบอกได้ว่าจะชะลอการระบายหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาในหลายๆ ปัจจัย เช่น ผลผลิตข้าวในประเทศ ผลผลิตข้าวคู่แข่ง ภาวะความต้องการของตลาดซึ่งขึ้นอยู่กับ นบข.ว่าจะพิจารณาระบายหรือไม่"
นางดวงพร กล่าวว่า หน่วยงานจัดซื้อข้าวรัฐบาลอินโดนีเซีย(บลูล็อค) เตรียมจะเปิดประมูลนำเข้าข้าว ปริมาณ 1.5 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% และ ข้าวข้าว 25% เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะสนใจนำเข้าข้าวจากไทยหรือไม่ ส่วนการตรวจสอบผู้ส่งออกข้าวที่ส่งออกในราคาต่ำกว่าตลาดนั้น กรมอยู่ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูล เนื่องจากมีรายละเอียดการขายจำนวนมาก ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า หากมีการอนุมัติขายข้าวสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 4.45 แสนตันในรอบนี้ทั้งหมด คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุน 1.4 หมื่นบาท/ตัน คิดจากราคาต้นทุนข้าวสารที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าว 2.4 หมื่นบาท และขายได้เฉลี่ย 1 หมื่นบาท/ตัน หรือขาดทุนประมาณ 6,230 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการอนุมัติขายข้าวไปแล้ว 10 ครั้ง ปริมาณข้าว 4.55 ล้านตัน ขาดทุน 6.92 หมื่นล้านบาท