ศาสตราจารย์ ดร. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
1 ฝันสลาย
สสส. เป็นองค์กรที่เคยเป็นความหวังของวงการแพทย์และสาธารณสุข เพราะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นแนวทางสำคัญในการอยู่ดีกินดีมีความสุขอย่างยั่งยืนของประชาชนคนไทย ปัญหาโรคจากสิ่งแวดล้อมและความชราจะมีมากขึ้นทับถม ปัญหาเยาวชนและคนหนุ่มสาวจะก่อตัวขึ้นจนสังคมไทยอาจจะกลายเป็นสังคมที่เหลวแหลก ด้วยเหตุนี้การมีกองทุนสร้างเสริมสุขภาพขนาดใหญ่ เช่น สสส. ของไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดาย แม้ผลงานของ สสส. สังคมจะเห็นแต่ไม่มีผลงานใดเลยที่ส่งผลแก้ปัญหาในระยะยาว คนไทยพิการและตายมากขึ้น ปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตมีมากขึ้น คนไทยในภาคเหนือยังเผชิญหมอกควันทุกปี คนไทยในภาคอีสานยังเป็นมะเร็งท่อน้ำดี มากที่สุดในโลก คนไทยป่วยเป็นมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวาย อัมพาต เยาวชนไทยติดยาเสพติด แบบไร้การป้องกัน ฯลฯ หาก สสส. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ปัญหาเหล่านี้ควรจะบรรเทาลงอย่างมาก นานมาแล้ว
2 ผลประโยชน์ทับซ้อนของ สสส. มีหรือไม่และทำให้เสียหายอย่างไร
เหตุผลหลักที่ทำให้ สสส. ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือการทำงานพร้อมกับมีผลประโยชน์ทับซ้อน ลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนใน สสส. มองเห็นได้ในหลายมิติ เริ่มจากตัวผู้บริหาร นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นผู้บริหารประจำสูงสุดใน สสส เคยถูกตัดสินว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถึงแม้นายแพทย์วิชัยจะพ้นผิดเพราะกฎหมายล้างผิดในสมัยนั้น www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1273588299
แต่ความจริงก็คือ นายแพทย์วิชัย เป็นคนเคยถูก ป.ป.ช. ตัดสินว่าทำผิด ดังนั้น นายแพทย์วิชัยไม่ควรได้รับเลือกมาเป็นรองประธานอันดับ 2 ซึ่งเป็นตำแหน่งถาวรสูงสุดใน สสส. เลย การที่นายแพทย์วิชัยยังอยู่ในตำแหน่งนี้ทั้งๆ ที่เคยมีปัญหาทำให้เดาได้ว่าน่าจะมีการช่วยเหลือกันแบบไม่สมควรในการให้และรักษาตำแหน่งนี้ของ นายแพทย์วิชัย
เหตุผลที่ 2 การที่ผู้ให้ทุน ผู้รับทุน และผู้วิเคราะห์ผลการทำงานเป็นบุคคลเดียวกันหรือมีหรือเคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อันนี้เป็นมาตรฐานสากลที่บ่งบอกว่านี่แหละคือผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อสังเกตสุดท้ายคือการให้ทุนที่ห่างไกลสุขภาพและสุขภาวะ เช่น ให้เรื่องการเมือง แสดงเจตนาลำเอียงชัดเจนของผู้ให้ทุน ความลำเอียงนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากผลประโยชน์ทับซ้อน
โดยธรรมชาติผลประโยชน์ทับซ้อนก็คือการใช้เส้นหรือใช้สินบนทางอ้อมเพื่อให้ได้งานทำ ดังนั้นประเทศชาติเสียโอกาสที่จะได้คนหรือโครงการที่ดีที่สุด นอกจากนี้การเล่นเส้นแบบนี้จะทำให้เกิดการเบียดเบียนทางอ้อม เช่น การที่ สสส. ให้ทุนการศึกษาวิจัยด้านการเมืองย่อมเบียดเบียนทุนสำหรับโครงการส่งเสริมสุขภาพที่สำคัญอื่นๆ คนไทยทั่วไปอาจไม่ทราบถึงผลกระทบต่อตนเองในการมีองค์กรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สสส. เป็นตัวอย่างชัดเจนเพราะคนไทยทั่วไปย่อมยังรู้สึกว่าได้ประโยชน์จาก สสส. เช่น ได้รับแจกเสื้อ ได้เห็นโฆษณางดบุหรี่ ได้สวดมนต์ข้ามปี เป็นต้น ดังนั้นความเสียหายจากผลประโยชน์ทับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก สสส. เป็นสิ่งที่จับต้องยาก เพราะเป็นสิ่งที่เราควรจะได้ในอนาคตแต่กลับไม่ได้เหมือนข้าวผัดไม่อร่อยแต่ดูสวยด้วยผักชี เมื่อยังไม่ได้กินก็จะไม่รู้ว่าข้าวจานนี้กินไม่ได้แน่ๆ หรือ เหมือนเราควรได้ภูเขาทองแต่ สสส. ก่อภูเขาทรายงานวัดให้คนไทยโดยที่คนไทยไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่เขาควรสร้างคือภูเขาทองให้เราและลูกหลานของเรา
3 ที่มาของผลประโยชน์ทับซ้อน
สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมองค์กรที่เป็นความหวังอย่างยิ่งแทนที่จะทำงานได้อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สร้างความดีงามให้สังคม กลับกลายเป็นองค์กรที่กลุ่มคนมารุมกันหาผลประโยชน์ เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนมีขั้นตอนการเติบโตดังนี้ ในระยะแรกสังคมไทยมีขนาดเล็ก ผู้เชี่ยวชาญมีน้อยทำให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ต้องทำทุกอย่างเองอันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ต่อมาสังคมไทยใหญ่ขึ้นประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ผู้ให้ทุนมีมุมมองโลกที่แคบไม่สามารถสร้างกลไกคัดเลือกโครงการตามประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่กลับใช้ความรู้จักสนิทสนมส่วนตัวเป็นเกณฑ์อันนี้เริ่มนับเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ลำดับต่อมาที่เป็นความผิดร้ายแรงนอกจากความรู้จักส่วนตัวแต่กลับเลือกเพราะการทำงานนั้นๆ ให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่สมควรหรือเกินควร ลำดับสูงสุดที่อันตรายต่อสังคมไทยคือคณะทำงานรวมหัวกันเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ผู้บริหารหรือผู้ก่อตั้งใน สสส. ไปตั้งมูลนิธิเพื่อหาประโยชน์เข้าพรรคพวกจาก สสส. ทั้งที่เกินควรและไม่สมควร
4 วิเคราะห์
ผู้เขียนไม่อาจฟันธงได้ว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนของ สสส. อยู่ในระดับไหน ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ สสส. มีความพยายามเพิ่มคนสนับสนุนและพรรคพวกแบบผิดปกติ เช่น มีการให้เบี้ยประชุมหลักหลายพันถึงเรือนหมื่นบาท เป็นที่ผิดสังเกต มีการให้เงินสื่อมากกว่างานประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทางสุขภาพ ที่น่าสงสัยที่สุดคือมีโครงการสร้างมวลชนของตนเองและโครงการวิจัยทางการเมืองจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้คืออะไร
5 ทางแก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ งดงามและยั่งยืน ในสามห่วงได้แก่ เหตุผล พอเพียง และภูมิคุ้มกัน เมื่อนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาควรเริ่มพิจารณาที่เหตุผล
เหตุผล
เป้าประสงค์ของการใช้เหตุผลของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือการสร้างวัฒนธรรมที่ตื่นรู้ ดังนั้น สังคมไทยและทุกคนในองค์กรนั้นต้องรู้ว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนคืออะไร ทำอย่างไร มีผลเสียอย่างไร เมื่อมีความพยายามทำผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้น เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่จะต้องช่วยกันป้องกัน
เหตุผลข้อที่ 2 คือ ควรตัดสินคนที่ผลงาน ในการคัดเลือกสนับสนุนโครงการต่างๆ ควรใช้ระบบแข่งขันกันทำความดี ผู้ที่มีคุณภาพสูงสุด มีโอกาสสำเร็จสูงเท่านั้นที่จะได้โอกาส เมื่อทำงานแล้ว ควรได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระบบนี้เป็นสากลและมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ขอทุนวิจัยจาก สกว. หากไม่สามารถสร้างผลงานก็จะหมดสิทธิรับทุนต่อไป เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน บอร์ดก็ควรจะถูกตัดสินตามผลงาน ทั้งความดีและความผิดพลาด ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดความเสียหายในชื่อเสียงขององค์กรอย่างมาก ตามมาตรฐานสากล ผู้บริหารควรรู้ตัวว่าควรทำอย่างไร
พอเพียง
ความพอเพียงนี้คือทางสายกลาง หมายความว่า พอเพียง พอประมาณ ไม่เบียดเบียน ที่มาของความพอเพียงคือเหตุผล ดังนั้นหลักการบริหารควรจะให้เหตุผลว่านโยบายหรือมาตรการใดมาตรการหนึ่งมีเหตุมีผลอย่างไร
ภูมิคุ้มกัน
ถึงแม้ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือการตื่นรู้ของประชาชน สิ่งที่มีประสิทธิภาพกว่าในระยะสั้นของสังคมไทยคือกฏหมาย ดังนั้นควรมีการแก้กฏหมาย พ.ร.บ.สสส. ที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้ พ.ร.บ.สสส. มีข้อบกพร่องที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย ดังมาตรา 18 (7) ได้บัญญัติไว้ว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้อง “ (7) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกองทุน หรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงกำไร” การมีข้อยกเว้น เว้นแต่เป็นผู้ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงกำไร นี่เองที่ทำให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงสมควรตัดข้อความดังกล่าวออกจาก พ.ร.บ. สสส. 2544
อนึ่งต้องเขียนเพิ่มเติมลงไปใน พ.ร.บ.สสส. 2544 ว่า กรรมการ อนุกรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหารทุกคนในสสส. ต้องไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ตามที่บัญญัติไว้ใน 1) พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13-17 2) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ถึงฉบับล่าสุด พ.ศ.2557 และ 3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมวด 9 มาตรา 100-103
นอกจากนี้มาตรการตรวจสอบบังคับใช้กฏหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศก็เป็นภูมิคุ้มกันป้องกันการทำผิดที่มีประสิทธิภาพ
6 ทำฝันให้เป็นจริง
ยังไม่มีอะไรสายเกินแก้ เพียงแต่ต้องยอมรับความจริง เลิกกระบวนการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเสีย หากได้ทำสิ่งใดที่ผิดกฏหมายแล้วก็ขอให้ยอมรับ หลังจากนั้นขอให้ทำตามหน้าที่ด้วยสติปัญญาที่มีด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ในบทความต่อไปผู้เขียนจะเสนอแนวทางการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประเทศ โปรดติดตาม
7 สื่อ
ที่ผ่านมา สื่อได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ค่อนข้างมาก ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า สื่อมีความกังวลว่าหาก ผู้บริหาร สสส. เป็นอะไรไป สื่อจะไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนเดิม ทำให้สื่อไม่กล้าทำหน้าที่เสนอข่าวความผิดที่เกิดขึ้น ผู้เขียนอยากจะขอบอกว่าสื่อไม่ควรกังวลเรื่องเหล่านี้ เพราะอย่างไรก็ดี สื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้อง สื่อนอกจากจะได้ค่าตอบแทนอย่างถูกต้องแล้ว ยังได้ทำงานที่เป็นบุญเป็นกุศลที่บริสุทธิ์และงดงามอีกด้วย