ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะนี้ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทางสองแพ่งหลังสหรัฐฯ ชงประเด็น TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยจะต้องกำหนดทิศทางว่าไปทางไหนถึงจะเหมาะสม พร้อมทั้งต้องรักษาสัมพันธ์ภาพกับมหามิตรประเทศอย่างจีนในคราเดียวกัน
แม้ข้อตกลงทำการค้าเสรีดังกล่าวมีส่งผลดีต่อประเทศไทย แต่ในเรื่องของผลเสียก็ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงในหลายประเด็น สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์เจาะลึกเบื้องหลังวิธีคิดของ “ประธานาธิบดีบารัค โอบามา” และเผยตัวแปรสำคัญก่อนตัดสินใจว่า ประเทศไทยได้คุ้มเสียหรือไม่หากเข้าร่วม TPP
การที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเร่งเดินหน้าเจรจา TPP มีวาระซ้อนเร้นอย่างไร
เราต้องเข้าใจเป้าหมายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ (เอเชีย-แปซิฟิก) หนึ่ง - ความครองความเป็นเจ้า สอง - ขณะนี้จีนผงาดขึ้นมาเขาก็กลัวจีนจะมาแย่งความเป็นอันดับหนึ่งไป เป้าหมายที่สองนี้คือการสกัดกั้นจีน หรือเรียกสั้นเป็นเรื่องการปิดล้อมจีน สาม - เป็นเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทั้งนั้น เขาก็กลัวว่าประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีเขา การทำ FTA (Free Trade Area - เขตการค้าเสรี) อะไรก็ตาม หรือจะรวมกลุ่มเป็นประชาคมนู้นประชาคมนี่ถ้าไม่มีสหรัฐฯ ก็จะไม่ยอม เขาจะรู้สึกถูกกีดกันออกไป ฉะนั้น ก็ต้องพยายามป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียร่วมกลุ่มกันเป็น FTA สี่ - เอเชียกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางที่ด้านเศรษฐกิจการเมืองของโลกในอนาคต เพราะฉะนั้นเอเชียจะเป็นเค้กก้อนโตมากที่เขาจะปล่อยไปไม่ได้ พูดง่ายๆ คือผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของเอเชียมันมหาศาล เขาต้องเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของเขา นั่นก็คือ 4 วัตถุประสงค์หลัก
ทีนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ลดลงไป ในขณะที่จีนก็ผงาดขึ้นมา แล้วก็จีนเองพยายามผลักดัน FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบของอาเซียน ก็จะมี FTA อาเซียนจีนซึ่งก็เจรจามาตั้งแต่ปี 2010 เจรจาเสร็จ 2010 ก็จะมี FTA อาเซียนญี่ปุ่น อาเซียนอินเดีย อาเซียนออสเตรเลีย อาเซียนนิวซีแลนด์ เยอะแยะไปหมด และอาเซียนเองกำลังจะเจรจา FTA อาเซียน+6 และ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน) ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่สู้กับ TPP ได้
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ แทบจะไม่มี FTA ในภูมิภาคเลย ก็มี FTA กับสิงคโปร์ เกาหลี ออสเตรเลีย เท่านั้นเอง ซึ่งสหรัฐฯ ดูแล้วเสียเปรียบมากเขาไม่มีทางจะสู้ได้เลยถ้าปล่อยไว้แบบนี้ เขาก็มองว่าการส่งออกของเขาก็ลดลงเศรษฐกิจก็ลดลงกำลังตกลงไปเรื่อยๆ ขณะที่เอเชียก็กำลังจะรวมตัวกันใหญ่ทำ FTA จีนก็กำลังผงาดขึ้นไปอีก เขาต้องทำอะไรซักอย่าง และการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างก็คือการผลักดัน FTA ตัวใหม่ขึ้นมา โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ซึ่งในที่สุดเขาก็มาค้นพบว่า TPP นี่แหละเป็นคำตอบสุดท้าย โดยที่เขาจะขยาย FTA ตัวนี้ออกไปได้เรื่อยๆ ก็จะกลายเป็น FTAใหญ่ที่สุดในโลก
หลายคนเห็นตรงกันว่า TPP เอื้อต่อบริษัทเอกชนข้ามชาติให้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์มากเกินไป อยากให้ช่วยขยายความในประเด็นนี้หน่อย
เป็นอีกประเด็นหนึ่งครับ แน่นอนว่าการทำธุรกิจระหว่างประเทศคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัททุนข้ามชาติ ซึ่งก็จะเป็นบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือไทยเอง พวกนี้จะเป็นกลุ่มผลประโยชน์แรกๆ ที่จะได้ประโยชน์จาก FTA และกลุ่มพวกนี้มักจะสนับสนุนทันที อย่างเช่นบริษัทใหญ่ๆ ของไทยก็สนับสนุนให้ไทยเข้า TPP เพราะเขาคิดว่าเขาได้ประโยชน์ (ยกตัวอย่าง บริษัททุนข้ามชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้หากออกนโยบายสาธารณะขัดประโยชน์ กลายเป็นว่าพลเมืองในประเทศเราถูกลิดรอนสิทธิ?) เป็นประเด็นปลีกย่อยนะครับ ตามข้อตกลง FTA ต้องมีอยู่แล้วในเรื่องของมาตราพูดถึงเรื่องหากเกิดข้อขัดแย้งระหว่างกันมันจะแก้ไขความขัดแย้งกันอย่างไร ก็จะมีกลไกอะไรต่ออะไร แต่ประเด็นหลักเราต้องดูภาพใหญ่สหรัฐฯ ว่ากำลังทำอะไร ต้องการอะไร แล้วเราจะได้อะไรเสียอะไร ดูภาพใหญ่เป็นหลัก
คือมีประเด็นปลีกย่อยอีกเยอะแยะ อย่างเช่นเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ NGO ของไทยต่อต้านมาโดยตลอด ซึ่งไม่อยากจะให้เราเข้าร่วม TPP เพราะว่าจะไปเข้าทางบริษัทยาของสหรัฐฯ ที่ต้องการขยายระยะเวลาการถือสิทธิบัตร เพราะฉะนั้นเราก็จะยิ่งเสียประโยชน์มากขึ้นในเรื่องสิทธิบัตรยา เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะมีเรื่องปลีกย่อยซึ่งจะเป็นประเด็นทางเทคนิคด้านต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถมีเคราะห์ขยายความตรงนี้ต่อไปได้ หรืออย่างสิทธิบัตรพรรณพืชพันธุ์สัตว์ต่างๆ ประเด็นเรื่องสิทธิบัตร มีผลกระทบมากเป็นเรื่องละเอียดที่ต้องพิจารณาให้ดี
ที่ผ่านมามีนักวิชาการออกมาพูดทำนองว่าประเทศไทยตกรถอีกครั้ง เพราะมัวรีรอไม่เข้าร่วม TPP โดยพิจารณาในมุมผลโยชน์เรื่องการเข้าตลาดสหรัฐฯ
ท่าทีของเราก็ลังเลใจมาตลอด สหรัฐฯ มาพูดเรื่องนี้กับเราหลายปีแล้ว เขาก็พยายามเข้ามาล็อบบี้ไทยให้เข้าร่วม แต่สำหรับไทยเราก็ลังเลมาตลอด เพราะว่าเราไม่แน่ใจมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีก็มีข้อเสียก็เยอะ ลังเลมาตลอดก็ยังไม่คิดว่าจะเข้าร่วมไหม ก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ได้เข้าร่วม ข้อดีที่เขาประเมินกันว่าเรื่องของการส่งออก 12 ประเทศ (ประเทศสมาชิก TPP - สหรัฐฯ ญี่ปุ่น, แคนาดา, ชิลี, เม็กซิโก, เปรู, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 40 เปอร์เซ็นต์ของการค้าโลกเป็นสมาชิก TPP เราก็จะค้าขายได้เยอะ แต่จริงๆ แล้วมันก็คงไม่ใช่ เพราะว่าถ้าเราดูรายชื่อ 12 ประเทศ เกือบทั้งหมดเรามี FTA กับเขาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการทำ TPP หรือไม่ทำมันก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่หรอก เพราะเรามี FTA อยู่แล้ว สามารถค้าขายกับเขาได้คล่องตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าประเทศหนึ่งที่เราไม่มี FTA ด้วยแล้วเราอาจจะได้ผลประโยชน์จะ FTA มากก็คือ สหรัฐฯ ซึ่งเราไม่ FTA ด้วย และเราก็หวังว่าถ้าเข้า TPP ก็จะเข้าตลาดสหรัฐฯ และส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น นี่เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนหรือกระทรวงพาณิชย์มองว่าเราจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ
แต่! ถ้าเป็นสมัย 10 - 20 ปีก่อน ดูแล้วต้องรีบเข้าเพราะว่าสมัยนั้น สหรัฐฯ คือตลอดอันดับหนึ่งของเรา สูงถึง20 - 30 เปอร์เซ็นต์ ยอดล่าสุดของการส่งออกไป สหรัฐฯ เหลือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ได้มั้ง ส่วนตอนนี้เราค้าขายกับอาเซียนเยอะมาก 25 เปอร์เซ็นต์ของการค้าขายไทยเราค้าขายกับอาเซียน และเราค้าขายกับจีนเยอะมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้เรื่องของตลาดมันไม่ได้ไปอยู่ที่ สหรัฐฯ แล้ว ตลาดของเราคือ อาเซียน ตลาดของเราคือจีน คือเอเชียนี่แหละ เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ไม่ได้สำคัญมากมายเหมือนกับในอดีต ฉะนั้นประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้าอาจจะไม่ได้มากมายมหาศาลอย่างที่เราหวัง
อีกเรื่องหนึ่งที่เราพูดกันมากเลย ถ้าเราไม่รับ TPPเดี๋ยวเราจะตกรถ หมายถึงคู่แข่งเข้าร่วมแต่เราไม่เข้าจะเสียเปรียบ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ซึ่งผมว่าเป็นการมองที่เราอาจจะมองในทัศนะแบบเก่าๆ ที่เรามองประเทศเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่งเรา แต่ว่าเรากำลังจะเข้า AEC (Asean Economic Community - ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) กำลังจะเป็นประชาคมอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ผมว่าความคิดแบบนี้เราคงต้องเปลี่ยนแล้ว เราควรจะต้องมองว่าประเทศพวกนี้เขาไม่ได้เป็นคู่แข่งเรา เขาเป็นหุ้นส่วนเรา
ถามว่าการที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราเข้าร่วม TPP สะท้อนว่าเราเสียโอกาสไหม? ต้องความเข้าใจว่าแต่ละประเทศไม่เหมือนกันครับ อย่างเวียดนามเขาไม่มี FTA กับใครเลย เขาทำ TPP ได้ 12 ประเทศเลย แต่ของไทยเรามี FTA เกือบหมดแล้วคือเข้าไปเราก็ได้แค่สหรัฐฯ อาจจะมีแถม แคนาดา เปรู ซึ่งก็ตลาดเล็กนิดเดียว
หากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วม TPP กับสหรัฐฯ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับมิตรประเทศอย่างจีน
จีนก็ไม่พอใจในเรื่อง TPP มาตลอด ขณะที่ไทยก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมาโดยตลอด อย่างที่ผมบอกว่าอนาคตของเราอยู่กับจีน จีนมีฐานเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ฉะนั้น เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษต้องดูให้ดีอย่าให้ไปกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ของจีน
กลับกัน ซึ่งเป็นผลดีประการหนึ่งในการเข้าร่วม TPP ในปัจจุบันเรามีการพูดกันมากว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไม่ค่อยดี ถ้าเราเข้าร่วม TPP สหรัฐฯ จะรักเรามากขึ้น น่าจะโอเค! เอ็นดูเรามากขึ้น หลังจากที่เราคล้ายๆ ขังขืนกับสหรัฐฯ มาตลอดตั้งแต่รัฐประหาร ถ้าเราเข้า TPP อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคิดกัน
แต่ในประเด็นนี้ประเทศไทยต้องคิดในกระบวนทัศน์ใหม่ มองเข้าไปในอนาคตยาวๆ ผมก็ได้เรียนไปแล้วว่า อนาคตของเรามันไม่ได้อยู่ที่สหรัฐฯ แล้ว อนาคตของเรามันคืออาเซียน คือจีน คือเอเชีย เพราะฉะนั้นสมัยก่อนเราต้องแคร์สหรัฐฯ มาก หรือบางคนถึงขั้นมองว่าเขาเป็นพระเจ้า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนไทยเหมือนพระเจ้ามา ซึ่งผมคิดว่าต่อไปมันไม่ใช่แล้ว
ชั่งน้ำหนักแล้วประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
จากการวิเคราะห์จุดข้อดีก็จะมีการถกเถียงต่อไปว่ามันดีจริงเหรอ? ในขณะที่ผลเสียค่อนข้างชัดเจน ผลเสียประการแรกเป็นเรื่องที่เราเจอมาแล้วเมื่อครั้งเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ประมาณ 10 ปีมาแล้ว ตอนนั้นก็จะให้เราเปิด FTA หมดในที่สุดเราก็บอกว่าเราไม่ไหวเราก็ถอยก็ไม่เกิด คือจะมีทั้งเรื่องการค้าภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องของการลงทุน มาตรฐานแรงงาน เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ กระบวนการศุลกากร เรื่องของสิ่งแวดล้อมเต็มไปหมด สหรัฐฯ จะให้เราแก้ทุกย่าง ซึ่งผมมองว่าถ้าเราเข้า TPP ก็จะไปเจออีหรอบเดิมที่เราเคยเจอมาแล้วที่เคยเจรจา จะหนักหนาสาหัสสำหรับประเทศไทยในเรื่องที่เราจะต้องไปเปิดเสรีทุกด้าน
เรายังมีเวลา ไม่ต้องรีบผลีผลามตัดสินใจ ขั้นตอนของสหรัฐฯ ต้องมีการให้สัตยาบัน ต้องใช้เวลาอีกนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสภาคองเกรส หรืออาจจะไม่ผ่านตกม้าตายก็เป็นไปได้นะครับ! เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคอยดูๆ ไปก่อนว่ามันจะไปทางไหน แล้วตอนนี้เขายังไม่เปิดรับสมาชิกใหม่ เราไม่ต้องรีบร้อน
ภาพโดย ศิวกร เสนสอน