ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
อ่าน 20 ข้อแรกได้จาก
• www.facebook.com/piti.srisangnam/posts/10153612975447225
21.หลังจากวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาที่ 12 ประเทศอันได้แก่ บรูไน, ชิลี, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ลงนามข้อตกลง TPP หรือ Trans-Pacific Partnership กระแส “กลัวตกขบวนรถไฟ” เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาในการเสรีการค้าในเวทีการค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดถึงกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ทั้งนี้เนื่องจาก “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” หรือ “ต้นทุนจากการไม่ได้มีส่วนร่วม (Cost of Non-Participation)” เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาแล้วในอดีต เช่น กรณีเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ที่ในรอบแรก 9 ประเทศอาเซียน ยกเว้นประเทศไทยลงนามและบังคับใช้ข้อตกลงนี้กับประเทศเกาหลี แต่ไทยไม่ยอมลงนาม เนื่องจากเราต้องการให้เกาหลีเปิดตลาด “ข้าว” ให้ไทย แต่เกาหลีไม่ยอม ดังนั้นเราจึงไม่ลงนาม นั่นทำให้เราขาดโอกาสที่จะขายข้าวให้เกาหลีเหมือนเดิม แต่ที่มากกว่านั้นคือ เราสูญเสียตลาด “กุ้ง” ให้ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ที่สามารถผลิตและส่งออกไปเกาหลีภายใต้อัตราภาษีศุลกากรร้อยละ 0 นั่นคือ เราไม่ได้ “ข้าว” แล้วเรายังเสีย “กุ้ง” ไปอีกต่างหาก และทำให้ในการเจรจารอบต่อไป เราจึงเจรจากับเกาหลีว่า เราต้องการข้าว ถ้าเกาหลีไม่ลดภาษีนำเข้าข้าวให้เรา เราจะไม่ลดภาษีการนำเข้ารถยนต์ ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเกินกว่า 3,000 cc ให้ และเมื่อเกาหลีต้องการตลาดรถยนต์ของเรา ในขณะที่เราต้องการตลาดข้าวของเกาหลี ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการตรงกัน เลยทำให้เราสามารถลงนามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีได้ แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ผู้ผลิตกุ้งของไทยก็เจ็บตัวไปแล้ว ดังนั้นสำหรับ TPP เที่ยวนี้ภาคเอกชนหลายๆ ฝ่ายจึงแสดงความกังวลในเรื่องของการตกขบวนรถไฟ
22.คำถามก็คือเราจำเป็นต้องกังวลว่าเราจะตกขบวนรถไฟเที่ยวนี้หรือไม่ เราจำเป็นต้องกระโดดเกาะขบวนรถไฟขบวนนี้หรือไม่ มีรถไฟขบวนอื่นๆ อีกหรือไม่ แต่คำถามที่ต้องตอบให้ได้เสียก่อนก็คือ รถไฟขบวนนี้มุ่งหน้าไปทางทิศไหน มุ่งหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรื่องสู่ความมั่งคั่ง หรือเป็นขบวนรถไฟวิ่งลงเหว ก็คงจะดีกว่าถ้าเราจะไม่กระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้
23.ทุกคนที่ออกมาวิเคราะห์ในเรื่อง TPP ในเวลานี้ ล้วนแต่วิเคราะห์ในลักษณะของ “ตาบอดคลำช้าง” ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจาก ตัวเอกสารข้อตกลงทั้ง 29 บทที่ลงนามกันไป ยังไม่มีใครได้เห็นตัวจริงเลย ยกเว้นทีมเจรจาของแต่ละประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศคู่เจรจาตกลงกันไว้แล้วตั้งแต่ปี 2011/2012 ว่าการเจรจาจะเป็นความลับ ลับขนาดที่ Obama ต้องเร่งผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อการเจรจาเกิดได้ โดยสมาชิกรัฐสภาและวุฒิสภาของสหรัฐไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดของข้อตกลง การผ่านกรอบการเจรจาเกิดขึ้นจากการพิจารณาเอกสารสรุปข้อตกลงที่ US Trade Representative นำเสนอเท่านั้น
24.ความลับของการเจรจา อยู่ในขั้นสูงสุด ขนาดที่ว่า สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐหากจะขอดูรายละเอียดของข้อตกลง ต้องยื่นเรื่องขอเข้าดู และไม่สามารถเข้าดูข้อตกลงทั้งฉบับได้ จะเข้าดูก็ได้เฉพาะเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยผู้ที่จะเข้าดูข้อตกลงเพียงบางส่วนต้องไม่มีอุปกรณ์จดบันทึกไม่ว่าจะเป็นกระดาษ-ดินสอ หรือเครื่องบันทึกข้อมูล และเมื่อพิจาณาเฉพาะส่วนเสร็จ ยังต้องสาบานกับหน่วยงาน USTR ด้วยว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่ตนเองได้รับให้กับผู้อื่น ซึ่งชั้นความลับเหล่านี้ทำให้สมาชิกรัฐสภาและวุฒิสภาสหรัฐรับไม่ได้กับการเร่งออกกฎหมายของ Obama
25.นั่นทำให้การผลักดันข้อตกลง TPP ของสหรัฐไม่ใช่เหตุผลหลักทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นประเด็นทางด้านการเมือง เพราะสิ่งที่ Obama กำลังพยายามทำให้โลกจดจำเขา นั่นคือ การสร้างให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นจุดศูนย์กลางของการค้าโลก โดยการสร้างข้อตกลงทางการค้าแห่งศตวรรษที่ 21 2 ข้อตกลง ได้แก่ TPP ที่หมายถึงฝั่งซ้ายของแผนที่อเมริกา และ TTIP (Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership) ซึ่งหมายถึงฝั่งขวาของแผนที่อเมริกา ถ้าทั้ง 2 ข้อตกลงนี้สำเร็จสหรัฐจะสามารถเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของโลก จากที่ปัจจุบันทุกคนกำลังพูดถึงบูรพาภิวัฒน์ที่มี จีน-อินเดีย-อาเซียน เป็นแกนกลาง
26.แน่นอนว่าสำหรับยุโรปที่สหรัฐพยายามผลักดัน TTIP เรื่อง ความไม่โปร่งใส การเร่งกระบวนการ โดยที่ตัวแทนของประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนเยอรมันจำนวนมากกว่า 250,000 คน ออกมาเรียกร้องความโปร่งใส จนถึง การชะลอ และการยุติการเจรจาการค้าภายใต้กรอบ TPP
27.นอกจากที่เยอรมันจะมีผู้คนนับแสนออกมาประท้วงแล้ว ชาวนาของประเทศญี่ปุ่นก็ออกมาคัดค้าน TPP ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจาก ญี่ปุ่นไม่เคยเปิดตลาด “ข้าว” ให้กับประเทศใดเลยที่มีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่น แต่ในกรณีของ TPP ตลาดข้าวของญี่ปุ่นกำลังจะถูกเปิดให้ต่างชาติที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าสามารถส่งข้าวเข้าไปตีตลาดได้ คำถามก็คือ ไทยพร้อมหรือไม่ ถ้าเราจะเข้า TPP แล้วเราต้องเปิดตลาดข้าวของเราให้ต่างชาติ
28.ในกรณีของสินค้าเกษตรอื่นๆ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขอให้ทุกประเทศสมาชิกเปิดตลาดสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม นั่นหมายความว่าถ้าเราเข้าเป็นสมาชิก TPP หนึ่งในภาคเกษตรของเราที่ไทยค่อนข้างปกป้อง นั่นคือ นมและผลิตภัณฑ์ ก็จะต้องผู้เปิดตลาดด้วยเช่นกัน
29.มาดูเรื่องของสินค้าอุตสาหกรรมกันบ้าง หนึ่งในรายการที่ไทยเกรงว่าจะสูญเสียตลาดไปนั่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้เนื่องจาก สหรัฐจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์ Eco-car หรือรถยนต์ขนาดเล็กจากที่เคยเก็บในอัตรา 2.5% เป็น 0% จากรถยนต์นำเข้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสมาชิก TPP นั่นทำให้เราหวาดเกรงใน 2 ประเด็นครับ 1) เรากลัวว่าในระยะสั้น รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้เนื่องจากสินค้าจากไทยยังโดนจัดเก็บภาษี และ 2) ในระยะยาว เพื่อได้ถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศสมาชิก TPP (ต้องผลิตในประเทศสมาชิก TPP มูลค่า 45%-55% ของมูลค่ารถยนต์) เรากลัวว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Toyota Honda จะย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศเวียดนาม
30.จากข้อ 29 เราต้องกลัวในเรื่องนี้จริงหรือไม่ แน่นอนครับว่าตอนนี้ไทยเป็น Champ การผลิตยานยนต์ ปีหนึ่งๆ เราผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 1.4 ล้านคัน ใช้เองขายเองในประเทศประมาณ 8.5 แสนคัน ที่เหลือเราส่งออกครับ และรถยนต์ที่เราส่งออกส่วนใหญ่คือ รถกระบะครับ ตลาดที่เรากลัวว่าจะเสียไปคือตลาดสหรัฐครับ ถามว่า ในสหรัฐคนอเมริกันนิยมขับรถยนต์ขนาดเล็กหรือ Eco-car หรือไม่ครับ คำตอบคือไม่ใช่ครับ คนอเมริกันนิยมขับรถยนต์อเนกประสงค์ เช่น Honda Odyssey นิยมขับรถกระบะคันใหญ่ๆ เช่น Toyota Tundra นิยมขับรถตู้ขนาดใหญ่เช่น Ford Transporter ซึ่งส่วนใหญ่เราไม่ได้ผลิตครับ และสหรัฐเองก็ป้องกันการสูญเสียตลาดไว้แล้วด้วยครับ โดยรถยนต์ในกลุ่มนี้ปัจจุบันภาษีนำเข้าของสหรัฐอยู่ที่ 14.5% - 25% และสหรัฐจะขอจัดเก็บภาษีในรายการนี้ต่อไปอีก 30 ปีครับ ดังนั้นเรื่องรถยนต์ในข้อที่ 9 เราคงยังไม่ต้องกังวลจนเกินไปครับ
31.คำถามคือ แล้วในภาคการผลิตสินค้า ใครบ้างล่ะที่จะเสียประโยชน์ แน่นอนครับว่า “สิ่งทอ” ที่ปัจจุบันสหรัฐจัดเก็บภาษีขาเข้าที่อัตรา 17%-21% และจะลดภาษีลงมาเป็น 0% ให้กับสมาชิก TPP อาจจะทำให้เราเสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนาม และ “กุ้ง” ก็เป็นอีก 1 ภาคการผลิตที่เราอาจจะสูญเสียตลาดไปครับ เพราะปัจจุบันภาษีอยู่ที่ 6.4%-7.2% เมื่อบวกกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าของเวียดนาม เราอาจจะสูญเสียตลาดกุ้งในสหรัฐครับ
32.สหรัฐเองก็ยิ่งแสดงความไม่จริงใจและไม่มีหลักการออกมามากยิ่งขึ้น โดย Hillary Clinton ซึ่งเดิมเคยสนับสนุน TPP อย่างสุดตัวในสมัยที่เธอเป็นผู้ดูแลด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ในสมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดีของ Obama แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลับออกมาประณามข้อตกลง TPP ซะเองว่าไม่ใช่ข้อตกลงที่มีคุณภาพสูงอย่างที่คิด และจะส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อแรงงานสหรัฐ และเธอไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Clinton เองก็สามารถที่จะกลืนน้ำลายของตัวเองได้ เพียงเพราะตอนนี้เธอกำลังรณรงค์หาเสียงเพื่อที่จะเป็นตัวแทนพรรค Democrat เพื่อชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 และ Democrat เองก็มีผู้สนับสนุนคือ สหภาพแรงงานในสหรัฐ ดังนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนน Vote เธอก็พร้อมที่จะประณาม TPP ผลงานเก่าของตนเอง
33.แน่นอนครับว่าในประเด็นที่คนอเมริกันเรียกร้องจะไม่เอา TPP ก็คือเรื่องของการสูญเสียภาคการผลิตไปให้กับประเทศสมาชิก TPP อื่นๆ และการทำให้มาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการทำงาน สวัสดิการแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อมในสหรัฐลดต่ำลง ทั้งนี้เป็นเพราะ TPP คือการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีมาตรฐานสูง เช่น สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น กับประเทศที่ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำกว่าและมีมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ต่ำกว่า เช่น เวียดนาม และประเทศในอเมริกาใต้ ดังนั้นเพื่อให้ข้อตกลงสามารถเกิดขึ้นได้ การพบกันครึ่งทาง ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดมาตรฐานลง และบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องปรับมาตรฐานขึ้นจะเกิดขึ้น คำถามคือ แรงงานสหรัฐจะยอมลดมาตรฐานหรือไม่ คำตอบคือ พวกเขาคงไม่ยอม และนั่นทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นผู้ประกอบการบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ก็จะมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาที่คราวนี้มีมาตรฐานสูงขึ้น นั่นหมายถึง การจ้างงานที่หายไปของแรงงานสหรัฐ และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของบริษัทข้ามชาติ ดังนี้นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Joseph Stiglitz คาดการณ์ไว้
34.และหากมองในมุมกลับ การเพิ่มขึ้นของมาตรฐานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศอย่างเช่น เวียดนาม สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นแต้มต่อที่อาจจะเกิดขึ้นจากอัตราภาษีที่ลดลงดังที่ผมยกตัวอย่างในข้อ 29, 30 ที่ได้แต้มต่อแค่ 2.5% ก็อาจจะไม่คุ้มค่าแล้วครับ ถ้าผู้ประกอบการจะย้ายฐานผลิตไปเพราะต้นทุนในการย้ายฐาน บวกต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานต่างๆ อาจจะไม่จูงใจให้เดินหน้าย้ายฐานอีกต่อไป
35.ในกรณีของสิ่งทอ สินค้าเกษตร ในเมื่อมาตรฐานเหล่านี้สูงขึ้น นั่นทำให้ต้นทุนการผลิตของเวียดนามสูงขึ้น หวยอาจจะมาออกที่ประเทศอย่างกัมพูชาแทนครับ เพราะเขาไม่ต้องถูกบีบให้เพิ่มต้นทุนจากมาตรฐานที่สูงขึ้น นั่นทำให้กัมพูชามีต้นทุนที่ต่ำตัวจริง และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐได้ด้วยมาตรการ GSP และ Everything but Arms อีกด้วย
36.สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกันที่ WikiLeak นำเอาข้อตกลง TPP ในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเผยแพร่ และสิ่งที่หลายๆ คนเคยคาดการณ์กันว่า การผูกขาดสิทธิบัตรยา การบังคับใช้และการควบคุมการใช้กฎเกณฑ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่รุนแรงสุดขั้วน่าจะหายไปในข้อตกลงฉบับที่เพิ่งลงนามไป เราพบว่าในตัวข้อตกลงเรื่องเหล่านี้มี ข้อความที่ลดความรุนแรงลงจริง หากแต่เมื่อพิจารณาพร้อมกับ ภาคผนวก และการวิเคราะห์ตีความแล้ว ผลก็คือ ทุกเรื่องที่ทุกคนหวาดกลัว “อยู่ครบ” (ดู https://wikileaks.org/tpp-ip3/WikiLeaks-TPP-IP-Chapter/WikiLeaks-TPP-IP-Chapter-051015.pdf)
37.เริ่มมีการเปิดเผยให้เห็นมากขึ้นว่า (ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณกรรณิการ์ กิตติเวชกุล ผู้ประสานงานเครือข่าย FTA Watch) ผลกระทบทางลบ หากการต่ออายุสิทธิบัตรยาเกิดขึ้น (จะเป็น 5 ปี, 8 ปี, 12 ปี, 20 ปี หรือ 25 ปีก็ตาม) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีกปีละ 70,000 – 80,000 ล้านบาท จากการศึกษาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใกล้เคียงกับการศึกษาโดยประเทศออสเตรเลียที่พิจารณาว่า หากมียาที่มีความจำเป็นในการรักษาโรคร้ายแรง 10 รายการได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรยายาวนานขึ้น ออสเตรเลียจะต้องมีต้นทุนการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกปีละ 205 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 5,260 ล้านบาทต่อปี
38.ตัวอย่างของราคายาที่เพิ่มขึ้น เช่น ยากลุ่ม Pyrimethamine ที่มีชื่อทางการค้าว่า Daraprim ซึ่งแต่เดิมเป็นยาป้องกันโรคไข้มาลาเรีย แต่ปัจจุบันเมื่อถูกนำไปผสมกับยาตัวอื่นๆ จะให้ผลในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ได้เป็นผลดีขึ้น สหรัฐอเมริกาซึ่งต้องการใช้มาตรการ Evergreening นั่นคือหากมีการค้นพบวิธีการใช้ยาตัวเดิมในรูปแบบใหม่ๆ ก็สามารถขอสิทธิผูกขาดจากการต่ออายุสิทธิบัตรยาตัวนั้นๆ ได้ นั่นทำให้ยาดังกล่าวขึ้นราคาจำหน่ายในสหรัฐจากเม็ดละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 750 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราคาถูกปรับขึ้นไปถึง 5,500% หรือ 55 เท่า ในขณะที่ยาชื่อสามัญที่จำหน่ายในประเทศไทยมีราคาเพียงเม็ดละ 48 สตางค์เท่านั้น และนี่คือตัวอย่างหากเราต้องยอมรับข้อตกลง TPP โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิบัตรยา
39. เมื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของ TPP ดังที่ผมเล่ามาแล้วตั้งแต่ต้น ผมคิดว่านโยบายที่ไทยน่าจะต้องเริ่มมองมากยิ่งขึ้นคือ การหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว ให้มากยิ่งขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้ได้สิทธิประโยชน์จาก TPP ในกรณีของเวียดนาม สิทธิประโยชน์ให้กับสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดนะครับ ไม่ได้จำกัดในเรื่องของสัญชาติของเจ้าของกิจการ และในกรณีของ เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว พวกเขาก็ยังได้ผลประโยชน์จาก GSP และ Everything but Arms อยู่ เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนเพราะมีอัตราการเจริญเติบโตสูง มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่พอสมควรจากขนาดประชากรกว่า 95 ล้านคน มีกำลังแรงงานกว่าร้อยละ 45 ของประชากร และแรงงานเหล่านี้ก็อยู่ในวัยฉกรรจ์ที่อายุเฉลี่ย 29.2 ปี มีการคาดการณ์ว่าคนรายได้ระดับกลางของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปี 2012 เป็น 44 ล้านคนในปี 2020 และ 95 ล้านคนในปี 2030
40.อีก 3 เรื่องที่ไทยต้องเร่งทำด้วยนั่นก็คือ
1) ไทยต้องทำการศึกษาผลกระทบข้อดี-ข้อเสียของการทำข้อตกลงทางการค้าอย่างละเอียด ศึกษาทั้งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ-ธุรกิจ และผลกระทบทางสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างละเอียด ไม่เฉพาะแต่ TPP แต่หมายรวมถึงทุกข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าในภาพรวมที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดวางแผนร่วมกัน
2) ไทยต้องวางตำแหน่งตนเองให้ดีในเกมภูมิ-รัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ ระหว่างมหาอำนาจใหม่เช่น จีนและพันธมิตร กับมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐอเมริกาที่พยายามสร้างให้ตนเองยังสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ บางครั้งการอยู่นิ่งๆ เล่นตัวหน่อยๆ มีจริตจก้านพองามประดุจผู้หญิงสาวสวยแรกแย้ม ก็อาจจะทำให้เธอได้รับข้อเสนอดีๆ จากหนุ่มๆ ที่มารุมล้อม เพราะต้องไม่ลืมว่าสหรัฐไม่สามารถปิดล้อมจีนโดยขาดประเทศไทยได้ เพราะสำหรับจีนทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีไทยเป็นจุดศูนย์กลางคือตำแหน่งสำคัญที่สุดในทางยุทธศาสตร์ และข้อสุดท้าย
3) ไทยต้องปรับโครงสร้างภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศใหม่ เราไม่สามารถจะพึ่งพาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่บนการส่งออกโดยใช้แต่สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเพียงคู่กับการใช้แรงงานต่างด้าวราคาถูก บนเทคโนโลยีล้าหลังและขาดการวิจัยและพัฒนาที่เป็นแนวทางของประเทศไทยเองได้อีกต่อไป มาตรฐานการค้าสมัยใหม่หลัง TPP จะปรับตัวสูงขึ้น เข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน ปัญหาคือ เราจะพัฒนาตนเองได้หรือไม่ หากเราต้องการจะพัฒนาตนเองให้หลุดจากกับดักประเทศรายได้ระดับกลางไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราต้องสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้น เทคโนโลยีที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น และระบบเศรษฐกิจที่พอเพียงและพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้