xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “โอบามา” ดันปักหมุดเอเชียดึงชาติแปซิฟิกร่วมเขตการค้า TPP คานอำนาจจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงสำหรับการบริหารประเทศในช่วง 1 ปีสุดท้ายของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่สามารถผลักดันให้ 12 ชาติริมฝั่งแปซิฟิกตกลงเข้าร่วมเป็นภาคีข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) เขตการค้าเสรีซึ่งจะมีมูลค่าถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และถูกยกให้เป็นข้อตกลงการค้าที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ต.ค. คณะผู้แทนจาก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ประกาศข้อตกลงเข้าร่วมเขตการค้าเสรี TPP ในการประชุมที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย หลังต้องใช้เวลาเจรจาต่อรองกันอยู่นานถึง 5 ปี

ข้อตกลงยุทธศาสตร์ฉบับนี้จะก่อตั้งเขตการค้าเสรีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 40% ของโลก โดยจะสร้างกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าประเด็นอื่นๆ ก็คือ กดดันให้ “จีน” ต้องปรับพฤติกรรมการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ TPP ในอนาคต

TPP ถือเป็นหัวใจหลักในยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” (Pivot to Asia) ของประธานาธิบดี โอบามา ซึ่งตั้งเป้าขัดขวางไม่ให้จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกเข้ามาช่วงชิงอิทธิพลด้านการค้าในภูมิภาค
“เราจะปล่อยให้ประเทศอย่างจีนเข้ามาเขียนกฎควบคุมเศรษฐกิจโลกไม่ได้ เราต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์เหล่านั้นเพื่อเปิดตลาดให้แก่สินค้าอเมริกัน และสร้างมาตรฐานที่ดีเพื่อปกป้องแรงงานและรักษาสภาพแวดล้อม” โอบามา แถลงเมื่อวันที่ 5 ต.ค.

สหรัฐฯ และทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตายุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” ของประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ซึ่งเป็นโครงการสร้าง “เส้นทางสายไหมใหม่” ในศตวรรษที่ 21 โดยจะมีทั้งเส้นทางบกที่เชื่อมจากจีนผ่านเอเชียกลางต่อไปยังทวีปยุโรป และเส้นทางทางทะเลที่มุ่งสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา

หลี่ เซียงหยาง นักวิเคราะห์จากวิทยาลัยสังคมศาสตร์จีน ชี้ว่า ในขณะที่ TPP เน้นสร้างกฎเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก รัฐบาลจีนจะเน้นลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต้องการอย่างแท้จริง

ผู้นำชาติภาคีออกมาแถลงชื่นชม TPP ว่าเป็น “ชัยชนะ” ทั้งที่แต่ละประเทศต่างก็ถูกบีบให้ต้องยอมลดทอนนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และขจัดกำแพงภาษี

“นี่คือการเปิดศักราชใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว พร้อมแสดงความชื่นชมต่อการถือกำเนิดของ “เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่” แห่งใหม่

นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ แห่งออสเตรเลีย ระบุว่า TPP จะเป็นรากฐานที่ยิ่งใหญ่สำหรับความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ส่วนมาเลเซียอ้างว่ารัฐบาลเสือเหลืองได้รับการผ่อนปรนในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย “ภูมิบุตร” ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อสิทธิประโยชน์แก่พลเมืองเชื้อสายมาเลย์

จีนซึ่งถูกกีดกันออกจากเขตการค้าเสรีของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความยินดีพอเป็นพิธี โดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีนชี้ว่า TPP เป็น “ข้อตกลงการค้าเสรีที่สำคัญฉบับหนึ่งสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก” แต่ไม่ยืนยันว่าปักกิ่งมีแผนจะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ในอนาคต

เนื้อหาหลักๆ ของ TPP กำหนดให้มีการยกเลิกกำแพงภาษีถึง 98% จากสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม ไวน์ น้ำตาล ข้าว พืชสวน อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เรื่อยไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวย้ำว่า นอกจากการยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าใน 12 ประเทศสมาชิกแล้ว การสร้างมาตรฐานที่เท่าเทียม ขจัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และสลายนโยบายรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทั้งนี้ ความมุ่งหมายของ TPP จะบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อสามารถดึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย และอินโดนีเซีย ให้มาเข้าร่วมด้วย ซึ่งเวลานี้รัฐบาลเกาหลีใต้ก็แสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิก

ความสำเร็จของ TPP ยังอาจเป็นแรงกระตุ้นที่ช่วยให้สหรัฐฯ สามารถผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (Transatlantic Trade and Investment Partnetship – TTIP) ซึ่งเวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา

ข้อตกลง TPP จะสำเร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อรัฐสภาของ 12 ประเทศภาคีให้สัตยาบัน ซึ่งปัญหาท้าทายที่สุดสำหรับ โอบามา ก็อยู่ที่การโน้มน้าวให้พรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ยอมรับรองข้อตกลงฉบับนี้

นักการเมืองสหรัฐฯ บางคนวิจารณ์ TPP ว่าเป็นข้อตกลงที่บั่นทอนอุตสาหกรรมของอเมริกา และกระตุ้นเศรษฐกิจโลกโดยแลกกับการที่ชาวอเมริกันจะต้องตกงานเพิ่ม

ล่าสุด ฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งและผู้สมัครตัวเก็งของพรรคเดโมแครตที่มุ่งหมายจะชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ได้ออกมาประกาศตัวว่า “ไม่เห็นด้วย” กับข้อตกลงฉบับนี้ ทั้งๆ ที่เธอเองก็เคยมีส่วนช่วย โอบามา ผลักดัน TPP สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

สหภาพแรงงานและองค์กรทางสังคมหลายกลุ่มเกรงว่า TPP อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอเมริกันเหมือนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ในปี 1994 ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องสูญเสียตำแหน่งงานหลายแสนให้กับแรงงานในเม็กซิโกและแคนาดา

รายละเอียดข้อหนึ่งของ TPP ที่ถูกวิจารณ์อย่างมากก็คือ การยืดอายุสิทธิบัตรยา โดยเฉพาะยาประสิทธิภาพสูงในกลุ่ม biologic

“ประชากรทั่วโลกที่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดยาที่ผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคนจึงต้องมีราคาแพง คงจะรู้สึกท้อแท้กับคำตอบที่ได้รับจาก TPP ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมยาเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกผู้นำการเมืองมากขนาดไหน” ปีเตอร์ เมย์บาร์ดุก จากองค์กร Public Citizen ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว

อดัม เฮิร์ช นักวิเคราะห์จากสถาบันรูสเวลต์ มองว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมที่สหรัฐฯ จะได้จาก TPP ยังไม่เด่นชัด แต่ผลเสียที่จะติดตามมาแน่ก็คือ การลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องนุ่งห่มจะทำให้ประเทศนอกกลุ่ม TPP อย่างจีนพลอยได้กำไรไปด้วย ส่วนกลไกคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลก็จะทำให้กลุ่มทุนมีอำนาจท้าทายกฎหมายและนโยบายภายในประเทศมากเกินไป

กำลังโหลดความคิดเห็น