xs
xsm
sm
md
lg

In Pics :อุ่นเครื่องรับดีเบตรอบแรกเดโมแครต ผู้นำกระแสสังคมนิยมในอเมริกา“ม้านอกสายตา เบอร์นี แซนเดอร์ส” นำโด่งโอบามารอบไพรมารี ทั้งฝูงชน-เงินบริจาค-ผลโพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อุ่นเครื่องรับการดีเบตฝั่งเดโมแครตเย็นวันนี้(13) Alternet สื่อสายโปรเกรสซีฟสหรัฐฯ รายงานเปรียบเทียบความเป็นม้านอกสายตาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามาในปี 2007 และสว.สายอิสระรัฐเวอร์มอนต์ เบอร์นี แซนเดอร์ส โดยพบว่าทั้งด้านจำนวนผู้สนับสนุน การระดมทุน และคะแนนจากผลสำรวจ แซนเดอร์สนำโอบามาอยู่ทุกด้าน

ดีเบตนโยบายหาเสียงฟากฝั่งพรรคเดโมแครตจะเริ่มต้นในเย็นวันนี้(13)ที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา แต่ทว่าทุกสายตาในอเมริกาไม่ได้จับจ้องไปที่ ฮิลลารี คลินตัน ตัวเต็งอันดับ 1 ของผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ2016 แต่ไปอยู่ที่ตัวเต็งอันดับ 2 ม้านอกสายตาเดโมแครต สว.สายอิสระรัฐเวอร์มอนต์ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ว่าจะสามารถไปรอดถึงประตูทำเนียบขาวหรือไม่

เพราะถึงแม้แซนเดอร์สจะสามารถขึ้นรั้งนำเป็นอันดับ 2 ในฝั่งเดโมแครตได้สำเร็จ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนนิยม คลินตันยังคงมีคะแนนความนิยมสูงกว่ามาก

โดยผู้ลงคะแนนต่างเชื่อว่าเธอจะสามารถชนะการเลือกตั้งปี 2016เมื่อแข่งกับตัวแทนพรรครีพับลิกันถึง 59% จากผลโพลของสื่อสหรัฐฯ CBS ในการสำรวจในระหว่างวันที่ 4-8 ตุลาคมที่ผ่านมาเมื่อสอบถามกับกลุ่มผู้มีลงทะเบียนเลือกตั้งสังกัดพรรคเดโมแครต ในขณะที่แซนเดอร์สที่แทบไม่มีใครนอกรัฐเวอร์มอนต์รู้จักได้คะแนนไปเพียง 15% ของผลสำรวจเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม Alternet สื่อสายโปรเกรสซีฟสหรัฐฯ รายงานเปรียบเทียบ “ความเป็นม้านอกสายตา” ระหว่างแซนเดอร์สและสว.สมัยแรกของ บารัค โอบามา เมื่อครั้งลงรับสมัครรับเลือกตั้งปี 2009 เมื่อครั้งที่เขาต้องแข่งกับอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 สหรัฐฯ เช่น ฮิลลารี คลินตัน

ซึ่งความเป็นม้านอกสายตาของโอบามาในการเลือกตั้งสมัยแรกยังคงเป็นที่โจษขานมาจนถึงทุกวันนี้ จากการรายงานของ MSNBC สื่อสหรัฐฯรายงานในวันที่ 10 ตุลาคมล่าสุดชี้ว่า โอบามาได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบล้อตัวเองอย่างติดตลกในงานการระดมทุนหาเสียงที่ซานฟรานซิสโกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สำหรับคำแนะนำสุดท้ายที่จะให้กับคานเย เวสต์ นักร้องแรปเปอร์ คู่ชีวิต คิม คาแดเชียน เจ้าแม่เรียลลิตีทีวีโชว์ ในการเตรียมตัวเตรียมใจลงรับสมัครการเลือกตั้งสหรัฐฯ

“คานเย คุณคิดจริงๆหรือว่า ประเทศนี้จะยอมเลือกชายผิวสีจากเซาท์ไซด์ในชิคาโกที่มีชื่อแปลกมากกกกกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

ทั้งนี้ คาเยน เวสต์ นักร้องเพลงแรปผิวสี ได้ประกาศโพล่งกลางเวทีแจกรางวัลแกรมมีอวอร์ดในปีนี้ว่า จะตั้งเป้าลงสมัครรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในอนาคตอันใกล้

โดยในการรายงานของสื่อโปรเกรสซีฟสหรัฐสรุปว่า ในช่วงระหว่างปี 2007 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2008 ของโอบามาในทั้งด้านจำนวนตัวเลขฝูงชนที่มาสนับสนุน จำนวนเงินบริจาค และผลคะแนนสำรวจ สว.โอบามาไม่สามารถสู้กับแซนเดอร์สได้

จำนวนผู้สนับสนุน
ตลอดช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา แซนเดอร์สได้พิสูจน์ให้สื่ออเมริกันเห็นว่า เขามีศักยภาพเป็นแม่เหล็กดึงดูดฝูงชนได้มากเพียงใดเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การเลือกตั้งรอบไพรมารีของพรรคเดโมแครต ด้วยตัวเลขหลายหมื่นคนของผู้สนับสนุนที่ยอมเดินทางมาเพื่อร่วมฟังปราศรัยของเขาตามเมืองต่างๆในอเมริกา

เมื่อเทียบกับ สว.สมัยแรก บารัค โอบามา ในปี 2007 ที่ต้องตระเวนหาเสียงตามที่ต่างๆเช่นกัน พบว่าโอบามาประสบความสำเร็จในการทำให้ชาวอเมริกันจำนวน 24,000 คนในเมืองนิวยอร์กที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นให้เข้ามาฟังเขาปราศรัย

แต่ในขณะที่แซนเดอร์สกลับสามารถชนะโอบามาด้วยการทำให้ผู้คนมาร่วมฟังการปราศรัยได้สูงกว่าในเมืองที่มีจำนวนประชากรอาศัยหนาแน่นน้อยกว่า เช่น บอสตัน พอร์ตแลนด์ และลองแอนเจลิส

โดยแซนเดอร์สทำให้สื่อสหรัฐฯต่างฮือฮาด้วยสถิติการมีฝูงชนจำนวนมากที่สุดเข้าฟังการหาเสียงที่บอสตันในช่วงต้นเดือนนี้

Alternet ชี้ว่า ความสำเร็จของสว.สายโปรเกรสซีฟเกิดมาจากการที่เขาสามารถเปลี่ยนให้ฝูงชนที่สนใจเข้ามารับฟังการหาเสียงให้กลายเป็นทีมงานหาเสียงของเขาได้สำเร็จ โดยในเดือนกรกฎาคมล่าสุด แซนเดอร์สได้ใช้นโยบายหาเสียงที่เข้าถึงความต้องการของคนอเมริกันกับฝูงชนจำนวน 100,000 คนในการประกาศตัวเป็นผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016

การระดมทุนหาเสียง
และต่อมาแซนเดอร์สได้ใช้นโยบายการหาเสียงในการปักธงสร้างอาณาเขตสร้างฐานเสียงสนับสนุนของตัวเอง ซึ่งAlternetชี้ว่าสามารถพิสูจน์ได้จากการที่สว.รัฐเวอร์มอนต์สามารถเรียกระดมทุนสนับสนุนบริจาคเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงได้จากประชาชนสหรัฐฯจำนวน 1 ล้านคน

โดยทีมหาเสียงของเบอร์นี แซนเดอร์สเปิดเผยว่า ค่าฉลี่ยสูงสุดสำหรับจำนวนตัวเลขบริจาคต่อคนอยู่ที่ 24.86 ดอลลาร์ และทำให้สื่อสหรัฐฯชี้ว่า เป็นสถิติใหม่ที่แซนเดอร์สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น เพราะจากรายงานพบว่าโอบามามีผู้สนับสนุนครบ 1 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2008ไปแล้ว

ทั้งนี้ในสหรัฐฯมีธรรมเนียมว่า การที่จะแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนผู้สมัครคนใด ที่นอกจากจะสวมเสื้อผ้า หมวก หรือเข็มกลัดเป็นสัญลักษณ์แล้ว ยังรวมไปถึงส่งเช็กกรอกตัวเลขระบุจำนวนเงินเพื่อร่วมบริจาคด้วย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตัวเลขของผู้สนับสนุนการบริจาคทุนหาเสียงมีความสำคัญในแง่การประเมินความนิยมของผู้สมัครคนนั้นไปในตัว

ผลสำรวจความนิยม
และนอกจากนี้ ความเหมือนระหว่างแซนเดอร์สและโอบามอีกประการคือ คนทั้งคู่เริ่มต้นจากศูนย์ในผลสำรวจความนิยมของประชาชนสหรัฐฯต่อตัวผู้สมัครที่คนทั้งคู่ต้องแข่งขันกับผู้ที่มีชื่อเสียงคนเดียวกันคือ ฮิลลารี คลินตัน

พบว่าในช่วงเริ่มต้นหาเสียงลงชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2007 ผลสำรวจชี้ว่า สว.โอบามาตามหลังสว.คลินตันอยู่มาก โดยพบว่าในรอบไพรมารี ผลโพล The Real Clear Politicsในเดือนตุลาคม 2007 ระบุว่า โอบามาได้คะแนนเพียง 22.6 % ตามหลังคลินตันที่มีคะแนนนำ48.2  %

และเมื่อเปรียบเทียบกับแซนเดอร์ส จากผลโพลสำนักเดียวกันนี้ในช่วงระหว่างวันที่17กันยายน- 8ตุลาคม 2015 สว.วัย 74 ปีได้คะแนน 25.4% ตามคลินตันที่ได้คะแนนนำที่ 42 %

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเบอร์นี แซนเดอร์สจะดูเหมือนมีปัจจัยที่โดดเด่นเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 3 ที่กล่าวมาแล้ว แต่ทว่าในทัศนะของสื่อยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ เช่น วอชิงตันโพสต์ ยังไม่คิดว่า ความเป็นโปรเกรสซีฟของแซนเดอร์สจะสามารถนำเขาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไปสำเร็จ

โดยสื่อสหรัฐฯรายงานเมื่อวานนี้(12)ระบุว่า ถึงแม้กระแส “Feel the Burn” จะสั่นสะเทือนจนทำให้มีสมาชิกรัฐสภาคองเกรสรายที่ 2 สส.คีธ เอลิสัน (Keith Ellison) ประกาศตัวให้การสนับสนุน หลังจากก่อนหน้านี้  สส. รอล กริจาลวา (Raul Grijalva) ประกาศสนับสนุนแซนเดอร์สเป็นรายแรก

แต่ทว่าในทัศนะของโพสต์ ไม่คิดว่าชาวอเมริกันจะสนับสนุนความเป็นสังคมนิยมของเขา

โดยสื่อสหรัฐฯอ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของเบอร์นี แซนเดอร์สในรายการ Meet the Press วันอาทิตย์(11)ที่ผ่านมาทางสถานีโทรทัศน์ทีวีเน็ตเวิร์ก MSNBC ที่ได้ยืนยันกับ ชัค ท็อดด์ ผู้ดำเนินรายการว่า “เขาเป็นเดโมเครติกโซเชียลิสต์ และไม่ใช่แคปิตอลลิสต์ หรือทุนนิยมอย่างแน่นอน”

โดยโพสต์ชี้ในประเด็นที่ว่า ในทันทีที่แซนเดอร์สประกาศตัวผ่านสื่อเป็น “โซเชียลลิสต์” ทำให้เขาหลุดจากการเป็นผู้นำสหรัฐฯคนต่อไปทันที

เพราะถึงแม้ในพรรคเดโมแครตจะมีปีกโปรเกรสซีฟที่เข้มแข็ง แต่ทว่าคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงฝั่งพรรครีพับลิกันที่โปรตลาดทุนเสรี ต่างยังคงประกาศจุดยืนร่วม “ปกป้องทุนนิยม” และต่างมองว่า “โซเชียลลิสต์” เป็นคำที่มีความหมายในแง่ลบ

สื่อสหรัฐฯได้ใช้โพลสำรวจสถาบันพิวในปี 2011 ยืนยันความเห็นนี้ โดยกล่าวว่า จากแบบสอบถามความเห็นชาวอเมริกันถึง “ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม” เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกันจำนวน 50 % ชอบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมากกว่า ในขณะที่อีก 40% ไม่เห็นด้วยทั้งสองระบบ

และนอกเหนือไปจากนี้ เมื่อดูประเด็นสังคมนิยม โดยในแบบสอบถามของสถาบันพิวได้ถามผู้ตอบแบบสอบถามถึงความรู้สึก เมื่อได้ยินคำว่า “ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม” แต่พบว่ามีเพียงแค่ 3 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่มีความเห็นในแง่บวกต่อคำนี้ ในขณะที่อีกถึง 61% คิดว่าคำว่าสังคมนิยมนี้มีความหมายเชิงลบอย่างชัดเจน

และจากจุดนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า คำประกาศตัวของแซนเดอร์สนั้นเป็นผลลบอย่างร้ายแรงต่อคะแนนเสียงของเขา

และสื่อสหรัฐฯยังใช้ในการสำรวจความเห็นล่าสุดของสำนักแกลลอปโพล ตอกย้ำถึงความเป็นโซเชียลลิสต์ที่แปรผกผันกับความนิยมในการเมืองสหรัฐฯ โดยผลการสำรวจพบว่า ครึ่งหนึ่งของประชาชนชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามไม่ต้องการลงคะแนนให้ผู้สมัครที่ประกาศตัวเป็นโซเชียลลิสต์

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ต้องติดตามต่อไปว่า กระแสโซเชียลลิสต์ของเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่สามารถดึงดูดชาวอเมริกันรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลให้ร่วมสนับสนุนตัวเขา รวมไปถึงมาจากฐานเสียงหลายภาคส่วน เป็นต้นว่า กลุ่มเพศที่ 3 กลุ่มอเมริกันผิวสี และรวมไปถึงสหภาพแรงงานสหรัฐฯ จะสามารถเปลี่ยนให้เป็นพลังขับเคลื่อนนำเขาเข้าสู่ประตูทำเนียบขาวได้หรือสำเร็จหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า บารัค โอบามา ทำให้ชาวอเมริกันที่แต่เดิมไม่เคยมีความคิดจะโหวตคนผิวสีเป็นผู้นำสหรัฐฯ ต่างกลับใจเทคะแนนหนุนเขาถึง 2 สมัยติดต่อกันมาแล้ว

ทั้งนี้เบอร์นี แซนเดอร์สเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองสหรัฐฯตั้งแต่ปี 1981ในฐานะนายกเทศมนตรีของเมืองเบอร์ลิงตัน(Burlington) รัฐเวอร์มอนต์ และเป็นนักการเมืองอเมริกันไม่สังกัดพรรคเพียงคนเดียวที่สามารถดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในสภาคองเกรสมาจนถึงทุกวันนี้






ดีเบตรอบแรกในลาสเวกัส รัฐเนวาดาในเย็นวันนี้(13)

กำลังโหลดความคิดเห็น