เอเอฟพี - รัฐบาลมาเลเซียแถลงชื่นชมการบรรลุข้อตกลงสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ในภูมิภาคแปซิฟิกเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างรัฐภาคี 12 ประเทศ พร้อมระบุว่ามาเลเซียได้รับการ “ผ่อนปรน” ในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายเอื้อสิทธิประโยชน์ให้แก่พลเมืองเชื้อสายมาเลย์
กลุ่ม 12 ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งจะสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) ซึ่งถือเป็นการมอบชัยชนะทางนโยบายครั้งสำคัญให้แก่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ที่ยกย่องข้อตกลงนี้ว่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับประเทศพันธมิตรของอเมริกาในภาคพื้นแปซิฟิก
“เราเชื่อเหลือเกินว่า ข้อตกลงทีพีพีจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุน และช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกที่มาเลเซียต้องเผชิญ” มุสตาฟา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรมมาเลเซีย ระบุในคำแถลงที่เผยแพร่เมื่อค่ำวานนี้ (5)
รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ข้อตกลงทีพีพีจะเป็นโอกาสให้มาเลเซียเข้าถึงตลาดใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก และเปรู ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับกัวลาลัมเปอร์ และจะช่วยกระตุ้นการส่งออกน้ำมันปาล์ม ยางพารา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของแดนเสือเหลือง
ก่อนหน้านี้ ทางการมาเลเซียยืนยันว่าจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่กระทบต่อนโยบายหลักภายในประเทศ โดยเฉพาะ “นโยบายภูมิบุตร” ที่เอื้อประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ชาวมาเลย์ในหลายภาคส่วน รวมถึงในด้านการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
“รัฐสมาชิกตกลงที่พิจารณาปัญหาและประเด็นละเอียดอ่อนของเราเกือบทุกข้อ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง กิจการของรัฐ และนโยบายภูมิบุตร”
มุสตาฟาเผยด้วยว่า คณะผู้แทนเจรจาสามารถโน้มน้าวให้รัฐภาคียอม “อนุมัติช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ยาวนานขึ้น และแนวทางปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษสำหรับประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในมาเลเซีย”
การเอื้อประโยชน์และให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมาเลย์เหนือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลกลุ่ม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ยึดถือมานานหลายสิบปี แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นตัวบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติขึ้นในแดนเสือเหลือง ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
เนื้อหาของทีพีพีจะมีการเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบในภายหลัง และจะต้องผ่านการลงนามรับรองจากรัฐสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ
ข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้มีการเปิดตลาดอย่างมีนัยยะสำคัญในแคนาดา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตลอดจนสร้างกลไกคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ และตั้งเงื่อนไขการปฏิบัติที่เท่าเทียมสำหรับบริษัทต่างชาติที่เข้าไปทำสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล
ทีพีพียังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงมาตรฐานแรงงานในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดสิทธิแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
พรรคฝ่ายค้านมาเลเซียเรียกร้องวันนี้ (6) ให้รัฐบาลพิจารณาเงื่อนไขของทีพีพีอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะลงนามรับรอง ทั้งยังวิจารณ์ขั้นตอนการเจรจาที่ปกปิดเป็นความลับ และเตือนว่าทีพีพีอาจสร้างภาระหนักแก่ผู้บริโภคในประเทศ เพราะจะทำให้ยารักษาโรคมีราคาแพงขึ้น และยังปกป้องบริษัทต่างชาติมากเกินไป