เอเอฟพี - กลุ่ม 12 ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันจันทร์ (5 ต.ค.) ได้บรรลุข้อตกลงสำหรับการสร้างเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก มอบชัยชนะทางนโยบายครั้งสำคัญแก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ที่ยกย่องข้อตกลงนี้ว่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับประเทศพันธมิตรของอเมริกาในภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21
ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งนำโดยสหรัฐฯและญี่ปุ่น มีเป้าหมายจัดตั้งกฎระเบียบต่างๆสำหรับการค้าและการลงทุนในยุคศตวรรษที่ 21 และกดดันจีน ที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม 12 ประเทศ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการค้าให้ตรงตามมาตรฐานของ TPP
“ตามหลัง 5 ปีแห่งการเจรจาอันเข้มข้น ท้ายที่สุดเราได้บรรลุข้อตกลงที่จะสร้างงาน ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาอย่างครอบคลุมและส่งเสริมนวัตกรรมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯกล่าว
ข้อตกลงนี้จะสร้างเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลก ขณะที่ผู้แทนจากชาติต่างๆ ใช้เวลาหารือกันตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกัน 5 วัน ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในแอตแลนตา ก่อนบรรลุข้อตกลงในท้ายที่สุด
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งวางข้อตกลง TPP เป็นเป้าหมายลำดับต้นๆในวาระดำรงตำแหน่งสมัย 2 ได้ชื่นชมข้อตกลงนี้ว่าช่วยกำหนดมาตรฐานในระดับสูงและยังจะช่วยสนับสนุนธุรกิจของสหรัฐฯ “กลุ่มลูกค้ากว่า 95% ของเราอาศัยอยู่นอกพรมแดนของเรา เราจึงไม่สามารถปล่อยให้ประเทศอย่างจีนเขียนกฎเกณฑ์เศรษฐกิจโลกได้แต่เพียงรายเดียว” โอบามากล่าว “เราต้องเป็นผู้เขียนกฎเหล่านั้น เปิดตลาดใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ของอเมริกา ขณะเดียวกันก็วางมาตรฐานระดับสูงสำหรับปกป้องแรงงานและปกปักษ์ไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อม”
ในข้อตกลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดอย่างมีนัยสำคัญจากแคนาดา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดมาตรฐานสิทธิบัตรใหม่อันเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับยาไบโอลอจิกส์ที่ล้ำสมัยและข้อเรียกร้องสำหรับประเทศต่างๆ อย่างเวียดนาม เม็กซิโก และมาเลซีย ต่อการปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน
กลุ่มประเทศ TPP ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม
เหล่ารัฐมนตรีพาณิชย์ทั้งหลายบอกว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ ใส่ใจกับประเด็นใหม่ๆอย่างเช่นข้อมูลการค้า ปกป้องการลงทุนของต่างชาติและทรัพย์สินทางปัญหา ซึ่งเหล่านี้ไม่ถูกครอบคลุมในข้อตกลงการค้าพหุภาคีต่างๆ นานาที่ผ่านมา
ส่วนนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ข้อตกลงครั้งนี้เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในอนาคต ไม่ใช่แต่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้น แต่สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ยังต้องมีการลงนามและรับรองโดยแต่ละประเทศเสียก่อน ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ เคยเตือนว่าพวกเขาจะไม่เห็นชอบข้อตกลงใดๆ หากอเมริกาต้องเสียผลประโยชน์มากเกินไป