xs
xsm
sm
md
lg

กกร.-ธปท.ห่วงไทยยังไม่ร่วม TPP หวั่นเสียโอกาส-ถูกแย่งตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.แสดงความกังวลต่อการที่ประเทศเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิกกับสหรัฐอเมริกา (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งมีการลงนามกันที่สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. เนื่องจากเกรงว่าจะแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยในกลุ่มประเทศทีพีพี

นายอิสระกล่าวว่าที่ประชุม กกร. กังวลต่อการลงนามข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากไทยไม่มีความชัดเจนต่อการเข้าร่วมเจรจา รวมทั้งการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับยุโรปไม่มีความคืบหน้า กกร.จึงตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดข้อดีข้อเสียของข้อตกลงกรอบต่างๆ เพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้

ประธาน กกร.กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินผลกระทบรายอุตสาหกรรมได้ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม TPP เช่นกัน

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินว่าข้อตกลงดังกล่าว ไม่กระทบไทยในระยะสั้น แต่อาจจูงใจนักลงทุนญี่ปุ่นไปลงทุนในประเทศเวียดนาม

สหรัฐฯ และประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกรวมทั้งหมด 12 ประเทศบรรลุข้อตกลง TPP เมื่อวานนี้หลังจากเจรจามานานถึง 5 ปี น่าสังเกตว่ามีประเทศสมาชิกอาเซียนถึง 4 ประเทศ ที่เข้าร่วมในข้อตกลงนี้ รายชื่อทั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และ เวียดนาม

TPP กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของ 12 ประเทศรวมกันแล้วมีมากถึง 800 ล้านคน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของจีดีพีทั้งโลก และคาดว่าจะมีมูลค่าการค้าสูงถึง 295,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี

เป้าหมายของการทำข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่ยังเน้นส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ปกป้องแรงงานท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เน้นการบริหารงานที่โปร่งใสเป็นธรรม เรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการค้าโลก

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาเคยกล่าวถึงเหตุผลที่สหรัฐฯ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการเจรจาข้อตกลง TPP นี้ว่า "มากกว่าร้อยละ 95 ของลูกค้าที่มีศักยภาพของสหรัฐฯอยู่นอกเขตแดนของเรา สหรัฐฯจึงไม่อาจปล่อยให้ประเทศจีน มากำหนดกฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจโลกได้"

นอกจากนี้โอบามายังหวังว่าเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วจีนจะถูกบีบให้ต้องยอมรับมาตรฐานการค้าที่ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่โดยกลุ่ม TPP

ในขณะที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นต้องการให้จีนเข้ามาร่วมใน TPP ด้วย โดยนายอาเบะกล่าวว่า "พื้นฐานการทำข้อตกลงทีพีพีก็เพื่อเสริมสร้างกฎระเบียบทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมแห่งโลกยุคใหม่และหากจีนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในอนาคตจะส่งเสริมเสถียรภาพทั้งของญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"

การทำข้อตกลงในครั้งนี้มีสมาชิกอาเซียนถึง 4 ประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ บรูไน เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งล่าสุดเกาหลีใต้ออกมาแสดงท่าทีว่าจะศึกษารายละเอียดและอาจจะเข้าร่วมในอนาคต และในส่วนของประเทศไทยซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมด้วย

ขณะที่นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว่า แม้ไทยยังไม่เป็นสมาชิกในกลุ่ม TPP แต่ไทยเพิ่งได้ต่อสิทธิพิเศษทางศุลากร (GSP) กับสหรัฐฯ จึงเชื่อว่า อาจลดความเสี่ยงหากเกิดผลกระทบ พร้อมแนะนำผู้ประกอบการให้หาประโยชน์ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตกับประเทศสมาชิก TPP เพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในระยะกลางต่อไป

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทั้ง 12 ประเทศที่เข้าร่วม TPP จะต้องให้สภาของตัวเองลงสัตยาบันรับรองข้อตกลงก่อนรวมถึงสหรัฐฯด้วย ซึ่งสหรัฐฯ อาจจะมีปัญหาไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส แต่ในท้ายที่สุดผู้นำสหรัฐฯ สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ที่เรียกว่า "ฟาสต์แทรค" ผลักดันให้ข้อตกลงนี้ผ่านความเห็นชอบได้

ขณะนี้ทางการจีนยังไม่มีท่าทีในเรื่องนี้ แต่นักวิชาการของจีนมองว่า จีนจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากนักเพราะ 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิก TPP ได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีนอยู่แล้ว นอกจากนี้ลำพังการค้าขายของจีนเองก็มีสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของมูลค่าการค้าทั้งโลก ดังนั้นจีนจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น