ธปท.จับตาผลกระทบ 12 ประเทศลงนามในข้อตกลง TPP เพื่อเป็นตัวหนุน และเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ คาดส่งผลต่อการค้าโดยรวมและเศรษฐกิจโลก ในระยะปานกลาง และระยะยาว
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลงนามของกลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของ 12 ประเทศวานนี้ (ประกอบด้วย ประเทศออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม) โดยมองว่า ขั้นตอนหลังจากนี้แต่ละประเทศต้องดำเนินการภายในเพื่อขออนุมัติจากสภาของแต่ละประเทศก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อการค้าโดยรวม และเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง และระยะยาวต่อไปอย่างใกล้ชิด
สำหรับประเด็นของประเทศเวียดนาม คาดว่าการเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ได้รับประโยชน์ในเรื่องการเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุน เนื่องจากประเทศเวียดนามยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA กับกลุ่มประเทศ TPP มาก่อน ในขณะที่ประเทศไทย ได้มีข้อตกลง FTA กับกลุ่มประเทศ TPP อยู่แล้ว ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 ถึงปี 2560 ทำให้ประเทศไทยยังสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในบางหมวดสินค้าได้ต่อไป
ทั้งนี้ ไทยจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมทั้งการหาประโยชน์ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตกับประเทศสมาชิก TPP เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลางต่อไป
โดยในส่วนคำถามที่ว่า ประเทศไทยควรจะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ TPP หรือไม่นั้น ธปท.ไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องระดับนโยบายของประเทศ