เอเอฟพี - ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีตัวเก็งของพรรคเดโมแครต ออกมาประกาศเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) ว่า “ไม่เห็นด้วย” กับข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือของเธอ หลังจากที่เคยมีส่วนช่วยประธานาธิบดี บารัค โอบามา โปรโมตแผนนี้อย่างแข็งขัน สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ คลินตัน ตัดสินใจผันตัวออกห่างจากนโยบายของโอบามา ในขณะที่ตัวเธอเองเดินสายสร้างคะแนนนิยมเพื่อลงสู้ศึกในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2016
เมื่อวันจันทร์ (5) กลุ่ม 12 ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งจะครอบคลุมมูลค่าเศรษฐกิจถึง 40% ของโลก และนอกจากจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมาแล้ว ยังเป็นผลงานชิ้นโบแดงด้านเศรษฐกิจและการทูตที่ โอบามา ฝากไว้ก่อนจะอำลาตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2017
คลินตัน ซึ่งเป็นผู้สมัครที่มาแรงสุดในสายเดโมแครตเวลานี้ ระบุว่า เงื่อนไขของทีพีพีไม่เป็นไปตาม “มาตรฐานสูง” ของเธอ ซึ่งหวังว่าข้อตกลงฉบับนี้จะต้องช่วยสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกัน เพิ่มค่าแรง และยกระดับความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ
“มาถึงวันนี้ ดิฉันไม่พึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับรู้มา” คลินตัน ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวพีบีเอส
“ดิฉันไม่คิดว่าข้อตกลงนี้จะสอดคล้องกับมาตรฐานที่ดิฉันตั้งเอาไว้สูง”
คลินตัน ยังวิจารณ์พรรครีพับลิกันว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนที่จำเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และนวัตกรรม “อเมริกามีศักยภาพในการแข่งขันน้อยกว่าที่เราควรจะเป็น”
“ทุกวันนี้แรงงานของเราได้รับการปกป้องน้อยลง การค้าได้รับอิทธิพลในเชิงบวกน้อยลง ขณะที่ผลกระทบเชิงลบกลับมากขึ้น”
“เราเดินมาถึงจุดนี้ด้วยสภาพของคนที่ถูกมัดมือไพล่หลัง”
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่งยอมรับว่า คำพูดของ คลินตัน ทำให้วอชิงตันตระหนักถึงจุดยืนที่เปลี่ยนไปของเธอ แต่ไม่ขอพูดรายละเอียดมากกว่านี้
ข้อตกลงยุทธศาสตร์ฉบับนี้นอกจากจะสร้างกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังหมายกดดัน “จีน” ให้ต้องปรับพฤติกรรมการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ TPP ในอนาคตด้วย
บรรดา ส.ส. และ ส.ว. อเมริกันต่างออกมากล่าวชื่นชมความสำเร็จของ โอบามา อย่างระมัดระวัง ขณะที่วอชิงตันยังต้องรอลุ้นในปี 2016 ว่าสภาคองเกรสที่พวกรีพับลิกันครองเสียงข้างมากจะยอมให้สัตยาบันในข้อตกลงฉบับนี้หรือไม่
คลินตัน ระบุว่า เธอรู้สึก “ไม่สบายใจ” ที่ ทีพีพี ไม่ได้สร้างกลไกป้องกันการปั่นค่าเงิน
“พลเมืองอเมริกันต้องสูญเสียตำแหน่งงานไปมากมาย จากพฤติกรรมปั่นค่าเงินที่บางประเทศในเอเชียกระทำอยู่”
ข้อตกลงทีพีพีกำหนดให้รัฐภาคีจะต้องทยอยลดภาษีนำเข้าและขจัดข้อกีดกันทางการค้าอื่นๆ สำหรับสินค้าหลายพันรายการ ตั้งแต่ชิ้นส่วนยานพาหนะญี่ปุ่นที่ถูกส่งไปขายในสหรัฐฯ, ยาของออสเตรเลียที่ส่งไปยังเปรู, ข้าวสหรัฐฯ ที่ส่งไปญี่ปุ่น และชีสจากนิวซีแลนด์ที่ส่งไปจำหน่ายในแคนาดา เป็นต้น
คำแถลงของ คลินตัน เป็นการประกาศจุดยืนเดียวกับคู่แข่งคนสำคัญอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส และ มาร์ติน โอมัลลีย์ ซึ่งจะต้องเปิดศึกดีเบตพร้อมกับเธอเป็นครั้งแรก ในวันอังคารหน้า (13 ต.ค.)
คณะกรรมการพรรครีพับลิกันแห่งชาติออกมาวิจารณ์ คลินตัน ว่าเป็นพวก “เหลาะแหละ” และชี้ว่าเธอเองเคยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาผลักดันทีพีพี สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลโอบามาหนึ่ง
“การพูดกลับไปกลับมาของ ฮิลลารี คลินตัน ถือเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับความได้เปรียบทางการเมือง และนี่เองคือสาเหตุที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือในตัวเธอ” ไรน์ซ พรีบัส ประธานคณะกรรมการพรรครีพับลิกันแห่งชาติ แถลง
คลินตัน เรียกร้องเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้ประกาศ “เขตห้ามบิน” ในซีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งที่วอชิงตันยืนกรานว่าจะไม่ทำ และก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม เธอก็ออกมาคัดค้านการตัดสินใจของ โอบามา ที่อนุญาตให้มีการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในมหาสมุทรอาร์กติก