ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
สัปดาห์ที่ผ่านมา (23-30 พฤษภาคม 2558) มีเรื่องที่น่าสนใจและสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นหลายเรื่องนะครับ ผมขอเริ่มจากการเสียชีวิตของ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล John Nash ซึ่งจากเราไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาก็คือ Game Theory การประยุกต์ใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์มาใช้อธิบายกระบวนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำ (ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ) ไม่น่าเชื่อนะครับว่า PhD Thesis ของ John Nash ซึ่งหนาเพียง 31 หน้า นอกจากจะทำให้เขาได้รับปริญญาเอก ได้ภรรยา (จากการจีบผู้หญิงตามทฤษฎีที่เขาพัฒนา) ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และในที่สุดได้รับ Nobel Prize
Game Theory ที่เขาพัฒนาขึ้นถูกนำมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ที่สำคัญมากในขณะนั้น นั่นคือ สงครามเย็น ที่ทั้งโซเวียตและสหรัฐอเมริกาต่างแข่งกันพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ต่างคนต่างลงทุนมหาศาล อาวุธนิวเคลียร์ที่สร้างขึ้นแทนที่จะสร้างความสุ่มเสี่ยงให้กับโลก กลับกลายเป็นการ Balance ขั้วอำนาจทั้ง 2 แน่นอนใครไม่พัฒนาอาวุธคนนั้นก็อ่อนแอ ดังนั้นนโยบายหลักของทั้ง 2 ฝ่าย (Dominant Strategy) คือเร่งพัฒนาอาวุธเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตนเอง แต่ถามว่าต่างคนต่างกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้นประหัตประหารกันหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทั้งคู่รู้ว่าหากใช้อาวุธยิงกัน ในทันทีทันใดนั้น ทั้งสองฝ่ายจะสูญเสียอย่างมหาศาล ดังนั้นดุลยภาพ (Nash Equilibrium) ที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นสันติภาพ ที่ต่างคนต่างยังคงทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างอาวุธ แต่อาวุธเหล่านั้นไม่เคยได้ใช้งานเลย ต่างคอยคุมเชิงกันอยู่เช่นนั้นเอง และนั่นทำให้เราเรียกสงครามนั้นว่า “สงครามเย็น” เพราะมันคือการคุมเชิง แข่งกันทางยุทธวิธี การวางกลยุทธ์ แต่ทั้งโซเวียตและสหรัฐต่างก็ไม่กล้าห่ำหั่นกันด้วยนิวเคลียร์ ตรงตามสถานการณ์ที่ถูกเรียกว่า Prisoner Dilemma ที่คู่กรณีต่างเสียประโยชน์ แต่ส่วนรวมกับได้ประโยชน์
อีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการทหารของเวียดนามและฟิลิปปินส์ออกมาแสดงความยินดีถึงขนาดร้องเพลงเต้นรำร่วมกัน ในกรณีที่ทั้งคู่บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ นัยว่าจะรวมพลังกันยันมหาอำนาจจีน และแน่นอนว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เพราะสหรัฐเองก็กำลังดำเนินนโยบาย Pivot to Asia Pacific ที่มีเป้าหมายหลักในการปักหมุดสหรัฐในพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อดำเนินนโยบายปิดล้อมจำกัดเขต (Containment) ประเทศจีน ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของสหรัฐในศตวรรษที่ 21
เหตุการณ์คล้ายๆ ช่วงสงครามเย็นกำลังเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ครับ ทั้งจีนซึ่งก็เอาเรือรบ เรือดำน้ำ และหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ที่เกาะไหหลำ (Hainan) เพื่อคุมพื้นที่ที่ตนเองกำหนดในทะเลจีนใต้ ในขณะที่สหรัฐก็มาสร้างพันธมิตรจะร่วมซ้อมรบกับเวียดนาม (ทั้งที่เคยรบกันมาอย่างดุเดือดในช่วงสงครามเวียดนาม แต่ตอนนี้จะร่วมซ้อมรบกันแล้วเพื่อคานอำนาจจีน) หรือกับฟิลิปปินส์ที่สหรัฐได้รับอนุญาตให้สามารถนำเรือรบและเครื่องบินรบเข้ามาประจำการในน่านน้ำและผ่านน่านฟ้าของฟิลิปปินส์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ทำให้มีเรือรบของสหรัฐมาประจำการในทะเลจีนได้บริเวณแนวประการัง Scarborough รวมทั้งการที่สหรัฐขายเครื่องบิน F-16 C/D ให้กับไต้หวันซึ่งก็เป็นหนึ่งในคู่กรณีกับจีนในทะเลจีนใต้ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สำคัญ นั่นเท่ากับทั้งคู่ทุ่มเทแสนยานุภาพลงทุนมหาศาลในบริเวณนี้ แต่ทั้งคู่ (สหรัฐและจีน) ต่างก็ไม่กล้ารบกันหรอกครับ เพราะรู้ว่าถ้าสงครามเกิดขึ้นในบริเวณนี้ต่างฝ่ายต่างจะสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลทางเศรษฐกิจ ดังนั้นภาวการณ์แบบเดียวกับที่ผมอธิบายโดยใช้ Game Theory ในกรณีสงครามเย็นก็กำลังเกิดขึ้นใหม่ในทะเลจีนใต้แล้ว สะสมแสนยานุภาพแต่ใช้เพื่อการคุมเชิง และสร้างความตึงเครียดระหว่างกัน
คำถามคือ แล้วต่างฝ่ายต่างจะดำเนินนโยบายอย่างไรในลำดับต่อไป
แน่นอนครับ การเปิดแนวรบด้านอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้น ตามเนื้อหาในหนังสือ “America’s Pacific Century” โดยHillary Clinton นโยบาย US Pivot Policy จะดำเนินการใน 6 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 5 คือ Forging a Broad-Based Military Presence ซึ่งเราเห็นแล้วนะครับดังที่ผมอธิบายข้างต้น เมื่อรวมกันการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในภารกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศเนปาลเมื่อเกิดธรณีภิบัติภัย (ทำไมไม่ไปใช้สนามบินที่อื่นครับ ไทยกับเนปาลห่างกันตั้งไกล) หรือการขอใช้สนามบินที่ภูเก็ตในกรณีผู้อพยพย้ายถิ่นอย่างผิดปกติในอ่าวเบลกอล (กรณีโรฮีนจา) เราเริ่มเห็นการขยายแนวรบลงมาจากทะเลจีนใต้สู่อ่าวเบงกอล
และขั้นตอนที่ 6 ของ US Pivot Policy คือ Advancing Democracy and Human Right ซึ่งนั่นทำให้ประเด็นการค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยถูกบรรจุใน Tier 3 ของบัญชีประเทศที่มีการค้ามนุษย์ในปี 2014 ต่อมาจนถึงเรื่อง Hot ในขณะนี้ก็คือประเด็นเรื่องโรฮีนจาก็เกิดขึ้น
มาดูทางด้านจีนบ้างครับ แน่นอนสถานการณ์ในทะเลจีนใต้คือความเสี่ยงของจีนครับ ถ้ามีอะไรรุนแรง ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานซึ่งจีนมีภาวะพึ่งพิงต่างประเทศสูงมากกว่าด้านอื่นๆ ปัจจุบันจีนนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยมจำนวนมากผ่านทางช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้ ดังนั้นหากเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ภาคการผลิตของจีนซึ่งต้องใช้พลังงานจะหยุดชะงักและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยง และเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองจีนจึงเริ่มไปสร้างโครงการ “Sino-Burma Pipelines” ในปี 2008 และในปี 2010 ธนาคาร China Development Bank และ Myanmar Foreign Investment Bank ก็บรรลุข้อตกลงในการกู้ยืมเงินในวงเงินกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการสร้างท่อส่งน้ำมันความยาว 1,060 กิโลเมตรจากบริเวณนี้เข้าไปถึงเมืองคุนหมิงในมลฑลยูนนาน โดยคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จในปี 2015 และสามารถลำเลียงส่งน้ำมันทางท่อได้กว่า 4 แสนบาร์เรลต่อวัน นั่นก็จะทำให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางได้โดยไม่ต้องผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งแน่นอนว่าต้นทางของท่อก๊าซและท่อน้ำมันแห่งนี้เริ่มต้นที่รัฐยะไข่-อาระกันในประเทศเมียนมาร์
สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนบทความใน Facebook ส่วนตัว เรื่อง อาระกัน-ยะไข่ ดินแดนแห่งพันธะสัญญาของชาวโรฮีนจา (อ่านได้ใน www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000057227) ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจจะเกิดความสุ่มเสี่ยงที่สหรัฐและตะวันตกจะใช้กองกำลังรักษาสันติภาพเข้าแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาร์และนำไปสู่การตั้งเขตอิสระปกครองตนเองในบริเวณรัฐยะไข่-อาระกัน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของทั้งจีนและอินเดีย และแน่นอนครับการแทรกแซงแบบนั้นย่อมนำไปสู่การต่อต้าน และผมกลัวพื้นที่รอบๆ บ้านเราจะเกิดความรุนแรงคล้ายๆ กรณีซีเรีย อัฟกานิสถาน อิรัก และปาเลสไตน์ หลายๆ ท่านแอบถามมาว่าผมวิตกกังวลเกินไปหรือไม่ ขอยืนยันครับว่าไม่วิตกกังวลเกินไปอย่างแน่นอนเพราะ ในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกันครับที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) เข้าไปรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) เรื่องการอพยพของคนโรฮีนจา และแน่นอนครับ UNSC ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อธำรงรักษาสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศตามวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ ทำหน้าสอบสวนเกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ รวมทั้งเสนอแนะวิธีที่จะใช้กรณีพิพาทเช่นว่านั้น หรือ เงื่อนไขที่ให้มีการตกลงปรองดองกัน และวางแผนเพื่อสถาปนาระบบการควบคุมกำลังอาวุธ ซึ่งหลายๆ ครั้งกองกำลังรักษาสันติภาพก็ถูกส่งเข้าไปในดินแดนต่างๆ ที่ผมกล่าวไปแล้ว
และแน่นอนครับในรายงานของ UNHCR ต่อ UNSC ก็มีเนื้อหาแบบนี้ชวนให้ก่อให้เกิดความกังวลครับ นั่นคือ เกิดการทารุณกรรม เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ มีขบวนการค้ามนุษย์นำชาวโรฮีนจาเดินทางมาจากเมียนมาร์ (ทั้งที่ UNHCR ประมาณการณ์ว่ามีผู้อพยพปีละกว่า 100,000 คน และตัวเลขของผมก็ตรงกับตัวเลขของคุณอาลี อำหมัด กรรมการสมาคมโรฮีนจาแห่งประเทศไทย ที่ว่ามีชาวโรฮีนจาในเมียนมาร์ประมาณ 250,000 – 300,000 คนซึ่งเข้ามาอยู่ในเมียนมาร์ตั้งแต่ปี 1958 คำถามคือ ถ้าอพยพมาปีละกว่าแสนคนจริง ป่านนี้โรฮีนจาน่าจะหมดไปจากเมียนมาร์ตั้งนานแล้วครับ หรือจากทางฝั่งอินโดนีเซียก็มีการยืนยันนะครับว่าผู้อพยพกว่า 60% มาจากบังคลาเทศ แต่เราก็ยังได้ยินคำพูดว่า โรฮีนจามาจากเมียนมาร์อยู่ ) ซึ่งแน่นอนเปิดช่องให้ UNSC ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
และจีนกับรัสเซียซึ่งเป็น 2 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรอันได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำการยับยั้งและขอให้ไม่นำประเด็นเรื่องนี้มาพิจารณาในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (โล่งอกครับ)
จริงๆ เรื่องการจะใช้กองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาร์มีความพยายามเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วนะครับ โดยครั้งที่รุนแรงและเปิดช่องให้เกิดขึ้นอย่างมากก็คือเมื่อเกิดพายุทอร์นาโดนาร์กิสถล่มประเทศเมียนมาร์ในปี 2551 ตอนนั้นเมียนมาร์ยังไม่ได้เปิดประเทศเท่าตอนนี้นะครับ พายุนาร์กิสทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที่ 130,000 คนและที่เหลืออีกว่า 4 แสนคนกำลังรอคอยความช่วยเหลือ รัฐบาลทหารเมียนมาร์ในขณะนั้นปิดประเทศไม่ยอมรับการช่วยเหลือจากต่างชาติเพราะกลัวการแทรกแซงกิจการภายใน ทำให้ในขบวนเรือที่จะทำอาหาร อุปกรณ์ยังชีพและความช่วยเหลือซึ่งกำลังเดินทางมาจากยุโรป มาพร้อมกับเรือรบ และในขณะสหรัฐเองก็เตรียมเรือบรรทุกเครื่องบินและกำลังทหารที่จะเตรียมความพร้อมในการเข้าแทรกแซงเมียนมาร์ได้ตลอดเวลา โชคดีที่คราวนั้น เลขาธิการอาเซียนและประเทศไทยเข้ามาขอเป็นตัวกลาง นำความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมาร์ และการันตีกับเมียนมาร์ว่าจะไม่ถูกตะวันตกแทรกแซงกิจการภายใน เหตุการณ์ต่างๆจึงคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาร์ในขณะนั้นก็ตระหนักถึงภัยคุกคามจากตะวันตกแล้วครับ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอครับ เพราะนายทหารเหล่านี้เป็นนักยุทธศาสตร์และทราบที่ครับว่าแสนยานุภาพของสหรัฐและตะวันตกสามารถยิงอาวุธระยะไกลจากเรือรบที่ลอยลำในทะเลเข้าโจมตีเมืองหลวงเก่าคือย่างกุ้งซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งมากนักได้อย่างสบายๆ เมียนมาร์เตรียมรับสถานการณ์แล้วตั้งแต่ปี 2551 ครับ
และการที่เมียนมาร์ส่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้ามาร่วมประชุม Special Meeting on Irregular Migration in the Indian Ocean ที่จัดขึ้นในประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมทั้งมีการขอไม่ให้ใช้คำว่า โรฮีนจา หรือเบงกาลี แต่ให้ใช้ คำว่า Irregular Migrant, People Stranded at Sea, Victims of Trafficking แทนคนกลุ่มนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการเปิดทางให้เกิดการแทรกแซงเรื่องภายในภูมิภาคโดยมหาอำนาจจึงถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรได้รับการชื่นชม ในขณะเดียวกันสหรัฐและออสเตรเลียก็ยังไม่ละความพยายามนะครับที่จะเข้าถึงพื้นที่ในเมียนมาร์ให้ได้โดยการตั้งวงเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่รัฐยะไข่ แต่ในที่สุดก็หาทางออกได้ด้วยการระบุพื้นที่เป็นทั้งรัฐยะไข่และ Cox’s Bazaar ในบังคลาเทศ
สิ่งที่ไทยต้องทำให้ชัดเจนต่อจากนี้ก็คือ เมื่อเรายอมรับอย่างไม่เป็นทางการว่าเราจะให้เครื่องบินของสหรัฐเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อลาดตระเวนในอ่าวเบงกอลได้ เราก็ต้องขอให้ชัดเจนด้วยนะครับว่า ถ้าจะใช้บ้านเราเป็นฐาน สหรัฐก็ปฏิบัติภารกิจภายใต้การปฏิบัติการบังคับบัญชาของฝ่ายไทย ต้องมีรายละเอียดของการปฏิบัติภารกิจและมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และเมื่อครบตามกรอบระยะเวลาสหรัฐต้องกลับออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะไทยเราเองมีภาพที่ดีแล้วในการริเริ่มให้เกิดการประชุมในระดับภูมิภาค แต่เราต้องดำเนินการต่อเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก อย่าให้ใครมาพูดได้ว่า ไทยชักศึกเข้าบ้าน ไทยพามหาอำนาจให้เข้าแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้าน
เรื่องที่ผมอยากเห็นต่อไปก็คือเลขาธิการอาเซียนควรต้องออกมาแสดงตนและพยายามผลักดันเพื่อให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเรา 10 ประเทศอาเซียนจะดูและกันเอง ไม่ต้องการการแทรกแซงจะมหาอำนาจ
สัปดาห์นี้ เรื่องเยอะจริงๆ ครับ