รองนายกฯ และ รมว.กต.ประชุม UNSCOD แนะคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ ส่งเสริมการพัฒนาควบคู่รักษาสันติภาพ ชื่นชมประธานาธิบดีชิลีผลักดันสิทธิสตรี ก่อนถกรัฐมนตรีต่างประเทศชิลี เชื่อมสัมพันธ์อาเซียน-แปซิฟิก ก่อนคุย ประธานสมัชชาสหประชาชาติ และจบที่ถกเลขาฯ ยูเอ็น ขอบคุณส่งสารรำลึกสึนามิ พร้อมแจงโรดแมปไทย
วันนี้ (21 ม.ค.) กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ภารกิจของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเข้าร่วมการประชุมพิเศษ United Nations Security Council Open Debate หัวข้อ “การพัฒนาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Inclusive Development for the Maintenance of International Peace and Security)” ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.นี้
การประชุมพิเศษดังกล่าวจัดขึ้นโดยสาธารณรัฐชิลี ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council - UNSC) ประจำเดือนมกราคม 2568 โดยนางมิเชล บาเชเลต ประธานาธิบดีชิลี เป็นประธานการประชุม โดยชิลีได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่างๆ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมดังกล่าว การประชุมพิเศษในครั้งนี้มีหัวข้อที่ตรงกับแนวคิดของไทยที่เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความสำคัญต่อความมั่นคง
โดยการเข้าร่วมการประชุมฯ เป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงบทบาทและความแข็งขันด้านการต่างประเทศในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญซึ่งนับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อไทยด้วย นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการรณรงค์การสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2560-2561 จะมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2559
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยเห็นว่าคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีภารกิจในการรักษาสันติภาพและแก้ไขความขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ควรส่งเสริมการพัฒนาไปควบคู่กัน เนื่องจากปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกัน และการเลือกปฏิบัติ ก่อให้เกิดลัทธิหัวรุนแรงซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้น การพัฒนาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ จะเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งและมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่ต้นเหตุ
ในการนี้ ไทยเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ให้ความสำคัญกับมิติความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงในรูปแบบใหม่มากขึ้น โดยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชนไปอย่างควบคู่กัน นอกจากนี้ และการทำงานของคณะมนตรีความมั่นคงควรเปิดกว้างต่อทุกภาคส่วน โดยมีกลไกที่เปิดให้ประเทศที่มิใช่สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และควรให้ความสำคัญกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรี โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาและการรักษาสันติภาพ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชื่นชมประธานาธิบดีชิลีที่ได้ผลักดันประเด็นการสนับสนุนบทบาทสตรีมาโดยตลอด และได้ริเริ่มโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการ He For She ที่รณรงค์ให้ผู้ชายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสตรี
ภายหลังการประชุมพิเศษ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายเอราลโด มูนโญส วาเลนซุเอลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชิลี โดยทั้งสองฝ่ายประสงค์ที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อเป็นตัวเชื่อมในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในละตินอเมริกา มีสมาชิกประกอบด้วย โคลอมเบีย เปรู ชิลี และเม็กซิโก โดยชิลีมองว่าไทยมีบทบาทสำคัญในอาเซียน ทั้งนี้ ชิลีรับที่จะเร่งผลักดันกระบวนการภายในในการให้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี ที่ได้มีการลงนามไปแล้วให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายแซม กาฮามบา คูเตซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐยูกันดา และประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 69 โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของประธานสมัชชาฯ ซึ่งมีวาระสำคัญในการผลักดันวิสัยทัศน์หลังปี ค.ศ. 2015
โดยก่อนหน้านี้ ไทยได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเป้าหมายวิสัยทัศน์หลังปี ค.ศ. 2015 นอกจากนั้น ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีกับยูกันดา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศแอฟริกา ภายใต้กรอบนโยบาย Thai-African Initiative เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับแอฟริกาในฐานะหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้พบหารือกับนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้มีข้อความสารร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย ในโอกาสที่ไทยจัดพิธีรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองไทย ภายใต้แผน Roadmap โดยเฉพาะกระบวนการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันการมีบทบาทแข็งขันของไทยในการให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2016 ซึ่งไทยสนับสนุนและพร้อมร่วมมือกับเลขาธิการสหประชาชาติและประเทศสมาชิกในการจัดทำวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2015 อย่างสร้างสรรค์ โดยไทยเห็นว่าวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2015 ควรมีความสมดุลระหว่างมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินการของสหประชาชาติต่อไปในอนาคต