เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เพนตากอนเผยเมื่อวันจันทร์ (27 ต.ค.) เหล่าทหารที่กำลังเดินทางกลับจากแอฟริกาตะวันตก จะถูกนำไปแยกตัวสังเกตอาการ ณ ฐานทัพแห่งหนึ่งในอิตาลี ในมาตรการป้องกันไว้ก่อนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ขณะที่ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อมาตรการกักกันโรคของสหรัฐฯ ที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยไม่จำเป็น
“เพื่อป้องกันไว้ก่อน กองทัพสั่งให้บุคลากรจำนวนไม่มากนักราวสิบกว่านาย ที่เพิ่งเดินทางกลับมายังอิตาลีเมื่อเร็วๆ นี้ อยู่ภายใต้มาตรการแยกตัวเพื่อสังเกตอาการที่ฐานทัพในเมืองวิเซนซา” พันเอก สตีฟ วาร์เรน โฆษกเพนตากอน บอกกับผู้สื่อข่าว อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า “ไม่มีนายทหารรายใดที่แสดงอาการของการติดเชื้อ”
โฆษกรายนี้เผยต่อว่า พลตรี ดาร์รีล วิลเลียมส์ หัวหน้าทีมภารกิจทางทหาร ช่วยต่อสู้การแพร่ระบาดของอีโบลาในไลบีเรียกับลูกทีมอีก 11 คน ที่เสร็จสิ้นหน้าที่เมื่อวันเสาร์ (25 ต.ค.) ได้รับคำสั่งให้แยกตัว ณ ฐานทัพในอิตาลี และเวลาอยู่กำลังอยู่ภายใต้การสังเกตอาการของคณะแพทย์ ในมาตรการป้องกันไว้ที่ตัดสินใจโดยกองทัพสหรัฐฯ
วาร์เรน เผยต่อว่า นายทหารอีกหลายสิบคนที่มีกำหนดบินกลับมาจากไลบีเรีย และ เซเนกัล ก็จะถูกแยกตัวเช่นกันและอยู่ภายใต้การสังเกตอาการเพิ่มเติมอีก 21 วัน ทั้งนี้ เขายืนยันว่ามาตรการนี้ไม่ใช่การกักกัน แต่ก็ไม่ได้ชี้แจงว่ามันแตกต่างกันอย่างไร
เวลานี้มีทหารสหรัฐฯประจำการอยู่ในแอฟริกาตะวันตกราว 700 นาย ในนั้นเกือบ 600 นาย อยู่ที่ไลบีเรีย และอีกราวๆ 100 นาย อยู่ในเซเนกัล อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพมีแผนเสริมกำลังเข้าไปอีกอย่างน้อยๆ 3,200 นาย ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
มาตรการนี้ของเพนตากอน มีขึ้นพร้อมๆ กับที่มลรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์นีย์ ใช้มาตรการกักกันโรค 21 วัน พวกแพทย์พยาบาลที่เพิ่งกลับจากการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก หลังจาก เคร็ก สเปนเซอร์ แพทย์ชาวนิวยอร์ก ถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้ออีโบลา หลังกลับจากเดินทางไปรักษาผู้ป่วยในกินี ทว่าก่อนแสดงอาการ สเปนเซอร์เดินทางอย่างอิสระไปทั่วเมือง ซึ่งอาจหมายถึงการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
แผนการนี้ก่อความเห็นแย้งจากพวกนักวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติที่แสดงความคิดเห็นเมื่อวันจันทร์ (27 ต.ค.) ว่ามันอาจก่อแรงกดดันโดยไม่จำเป็นกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้คนในแอฟริกาตะวันตก ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญจากพยาบาลสหรัฐฯคนหนึ่งที่ถูกกักกันโรคในนิวเจอร์ซีย์ว่าเธอรู้สึกเหมือนกับเป็นอาชญากร
“เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่กำลังเดินทางกลับ คือ บุคคลพิเศษที่อุทิศตัวเพื่อมนุษยธรรม” นายบัน กล่าว “พวกเขาไม่ควรต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คนที่ติดเชื้อควรได้รับการหนุนหลัง ไม่ใช่ถูกตราหน้า”
เคซี ฮิกค็อกซ์ พยาบาลที่กำลังถูกกักกันโรคหลังเธอกลับจากไปดูแลผู้ป่วยอีโบลาในเซียร์ราลีโอน ได้ร้องเรียนว่า เธอถูกปฏิบัติราว “อาชญากร” เมื่อเดินทางถึงนิวเจอร์ซีย์ เนื่องจากถูกนำไปไว้นอกอาคารหลักของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเพียงเตียงคนไข้ ส้วมเคมีที่ไม่ต้องกดชักโครก และไม่มีห้องอาบน้ำ
ฮิกค็อกซ์ ที่ผลตรวจหาไวรัสอีโบลายืนยันออกมาแล้วว่าเธอไม่ได้ติดเชื้อ กลายเป็นเหยื่อคนแรกของมาตรการกักกันโรคนาน 21 วันตามกฎหมายล่าสุดที่หลายมลรัฐทั้งนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และ อิลลินอยส์ ประกาศใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (24) โดยที่เธอเดินทางกลับสู่อเมริกาในวันนั้นพอดี
อย่างไรก็ตาม แม้ทนายความของฮิกค็อกซ์ขู่ว่าจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลภายในสัปดาห์นี้ และทำเนียบขาวออกมากดดันโดยแสดงความกังวลว่า มาตรการของรัฐเหล่านั้นอาจยับยั้งไม่ให้แพทย์และพยาบาลเดินทางไปช่วยผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นการแก้ไขต่อสู้กับปัญหาที่ต้นตอของโรค ทว่า ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ยังคงยืนยันว่า จะบังคับใช้แผนกักกันโรคต่อไป