รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯเมื่อวันพุธ (22 ต.ค.) เปิดตัวมาตรการเพิ่มเติมสำหรับรับมืออีโบลา ด้วยจะดำเนินสังเกตอาการทุกคนที่เดินทางมาจาก 3 ชาติแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดในทุกๆวันจนพ้นระยะฟักตัว เสริมการเฝ้าระวังการแผ่ลามของไวรัสมรณะ ขณะที่องค์การอนามัยโลกอัพเดทข้อมูลล่าสุด พบยอดผู้ติดเชื้อขยับเข้าใกล้ 10,000 คนเข้าไปทุกที
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (ซีดีซี) ระบุว่า ในมาตรการดังกล่าวนักเดินทางที่มาจากกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน จะต้องเข้ารายงานตัวตรวจเช็กร่างกายกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกๆ วัน รวมถึงต้องดำเนินการแจ้งในทันทีหากพบอุณหภูมิร่างกายผิดปกติและมีอาการใดๆ ของอีโบลาจนพ้นระยะฟักตัว 21 วัน
นอกจากนี้ ในมาตรการที่เพิ่มเติมเข้ามา นักเดินทางทุกคนไม่ว่าจะโดยตรงหรือต่อเที่ยวบิน จะถูกกำหนดให้ต้องมอบอีเมล หมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ตลอดระยะเวลา 21 วัน และข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวที่จะถูกแบ่งปันให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น
พวกนักเดินทางที่มาจาก 3 ชาติแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาหนักหน่วงที่สุด เกือบร้อยละ 70 มักเลือกเข้าสหรัฐฯ ผ่าน 6 รัฐ ได้แก่นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย แมรีแลนด์ เวอร์จิเนีย นิวเจอร์ซีย์ และจอร์เจีย
ทั้งนี้ เหล่านักเดินทางจะถูกกำหนดให้ต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นหากมีความประสงค์เดินทางภายในสหรัฐฯ แต่หากเพิกเฉย ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นก็มีอำนาจที่จะดำเนินการมาตรการต่างๆ ทันทีในการค้นหาบุคคลนั้นๆ
ทอม ไฟรเดน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (ซีดีซี) บอกว่า โครงการเฝ้าระวังอย่างกระตือรือร้นนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าการแพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกสิ้นสุดลง “มาตรการใหม่ที่ผมแถลงในวันนี้จะช่วยยกระดับความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถกักกันโรคบุคคลที่มีอาการอีโบลาได้เร็วขึ้นในระหว่างระยะเวลาที่คนเหล่านั้นป่วย และด้วยมาตรการนี้ มันจะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของอีโบลา จากผู้ป่วยไปยังคนอื่นๆที่ใกล้ชิดและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข”
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการเสริมมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่มาจาก 3 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ณ ท่าอากาศยานหลักของสหรัฐฯ 5 แห่ง อย่างไรก็ตามยังไม่ถึงขั้นห้ามการเดินทางตามที่สมาชิกรัฐสภาอเมริกาหลายคนเรียกร้อง
การตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการป้องกันอีโบลาของสหัฐฯ มีขึ้นไล่เลี่ยกับที่องค์การอนามัยโลกเมื่อวันพุธ (22 ต.ค.) เผยแพร่ข้อมูลชุดปรับปรุงล่าสุด ระบุยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสมรณะขยับเข้าใกล้ 4,900 คน จากผู้ติดเชื้อเกือบๆ 10,000 คนแล้ว
ในข้อมูลล่าสุด องค์การอนามัยโลกบอกว่าจนถึงวันที่ 19 ตุลาคม มีผู้เสียชีวิตจากอีโบลา 4,877 คน จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 9,936 คนใน 7 ประเทศ เพิ่มจากเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่หนนั้นยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 9,216 คน เสียชีวิต 4,555 ราย
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกย้ำว่าการเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อ ไม่ได้หมายความว่าการแพร่ระบาดหนักหน่วงขึ้นอย่างผิดสังเกต แต่สะท้อนถึงการนับที่ล่าช้า สืบเนื่องจากสภาพการณ์ที่ยุ่งยากในเหล่าชาติแอฟริกาตะวันตก
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกนั้นได้แบ่ง 7 ประเทศที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกประกอบด้วยกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน เหล่าชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหล่วงที่สุด โดยไลบีเรีย จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม พบผู้ติดเชื้อ 4,665 ราย เสียชีวิต 2,705 คน ส่วนเซียร์ราลีโอน มีผู้เสียชีวิต 1,259 คน จากผู้ติดเชื้อ 3,706 ราย และกินี จุดเริ่มต้นของการแรพ่ระบาด ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,540 คน เสียชีวิต 904 ราย
ในส่วนของกลุ่มที่สองนั้น ประกอบไปด้วยเหล่าประเทศที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนเล็กน้อย ในที่นี้รวมถึงเซเนกัลและไนจีเรีย ที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศให้เป็นดินแดนปลอดอีโบลาก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ (17 ต.ค.) และวันจันทร์ (20 ต.ค.) ตามลำดับ
นอกจาก 2 ประเทศข้างต้น ในกลุ่มนี้ยังประกอบด้วย สเปน ที่พบพยาบาลนางหนึ่งติดเชื้อจากมิชชันนารีที่เธอให้การดูแลและเสียชีวิตจากอีโบลาไม่นานหลังถูกส่งตัวกลับมาจากไลบีเรีย เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่พบพยาบาล 2 คนติดเชื้ออีโบลา หลังเป็นหนึ่งในคณะดูแลชายนายโทมัส เอริก ดันแคน ชายชาวไลบีเรีย ผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกที่แสดงอาการบนแผ่นดินอเมริกา ขณะที่ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม