xs
xsm
sm
md
lg

ผวา!!อีโบลาระบาดนอกแอฟริกา หลังพบผู้ติดเชื้อในสเปนเป็นรายแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - เริ่มมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆในอียูวันอังคาร(7ต.ค.) ว่าอีโบลาอาจกำลังแพร่ระบาดนอกทวีปแอฟริกา เมื่อสเปนต้องกักตัวประชาชนเพิ่มอีกราย 3 ตามหลังพบพยาบาลของโรงพยาบาลในกรุงมาดริดติดเชื้อในประเทศเป็นคนแรกและยังเป็นผู้ติดเชื้อขณะที่อยู่ในยุโรปเป็นรายแรกด้วย

อียูต้องการคำตอบว่าไวรัสมรณะชนิดนี้ถึงสามารถแพร่ระบาดในแผนกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ป่วยอีโบลามากที่สุดของสเปน ขณะที่พยาบาลผู้ติดเชื้อนั้นคือผู้ดูแลบาทหลวงมิชชันนารีแดนกระทิงดุวัยชราที่ติดเชื้ออีโบลาระหว่างปฏิบัติภารกิจในแอฟริกา ก่อนถูกส่งตัวกลับมารักษาและเสียชีวิตในสเปน

อีโบลาเริ่มแพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกมาตั้งแต่ต้นปีและจนถึงตอนนี้มันคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 3,500 ศพ ขณะที่ผลตรวจคือเครื่องยืนยันว่าพยาบาลวัย 40 ปีรายดังกล่าวคือผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อไวรัสมรณะนอกทวีแอฟริกา

เหล่าคณะแพทย์และสามีของเธอที่อยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงที่สุด เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของพยาบาลที่มีอาการท้องร่วง กำลังถูกสังเกตอาการที่โรงพยาบาลกษัตริย์การ์ลอสที่ 3 อันเป็นสถานที่ทำงานของพยาบาลผู้ติดเชื้อ ส่วนอีกกรณีคือชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากต่างแดน ก็ถูกกักตัวสังเกตอาการที่นี่เช่นกัน

พยาบาลที่ติดเชื้อรายนี้เริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบายเมื่อวันที่ 30 กันยายน หลังจากเสร็จสิ้นหน้าที่ดูแลบาทหลวง 2 คนในแผนกกักกันโรคของโรงพยาบาล แต่กว่าที่เธอจะกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งก็คือวันอาทิตย์(5ต.ค.)หรืออีก 5 วันต่อมา พร้อมกับบ่นว่ามีไข้ จากนั้นจึงเพิ่งถูกนำไปตรวจร่ายกาย ท้ายที่สุดผลการตรวจหาไวรัสอีโบลาก็ออกมาเป็นบวก และตอนนี้เธอก็รักษาตัวอยู่ในแผนกเดียวกัน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยายามควานหาคำตอบว่าพยาบาลรายนี้สัมผัสกับใครบ้าง และตอนนี้กำลังสังเกตอาการผู้คน 30 คนในนั้นรวมถึงเพื่อนร่วมงานของเธอ เพื่อดูว่ามีอาการของการติดเชื้ออีโบลาหรือไม่

ขณะเดียวกันการติดเชื้อของพยาบาลรายนี้ก็ถือคำถามว่าขั้นตอนต่างๆที่ใช้ดูแลบาทหลวงมิชชันนารี 2 คนนั้นมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน "มีคนออกนอกลู่นอกทาง" นักหัวใจวิทยารายหนึ่งของโรงพยาบาลบอกกับเอเอฟพี "เราไม่เข้าใจว่าคนที่สวมชุดป้องกัน 2 ชั้นและสวมถุงมือป้องกันจะติดเชื้อได้อย่างไร" พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าสเปนไม่เคยรับมือกับผู้ป่วยอีโบลามาก่อน ดังนั้นมันจึงก่อคำถามว่าทำไมถึงตัดสินใจรับบาทหลวงมิชชันนารีทั้ง 2 คนกลับมารักษาในประเทศ

พยาบาลรายดังกล่าวเป็นผู้ให้การดูแล มานูเอล การ์เซีย เบียโฮ บาทหลวงวัย 69 ปีที่โรงพยาบาลกษัตริย์การ์ลอสที่ 3 ในกรุงมาดริด ที่ติดเชื้ออีโบลาระหว่างปฏิบัติภารกิจที่เซียร์ราลีโอน และถูกส่งกลับมารักษาตัวในสเปน แต่ เบียโฮ เสียชีวิตหลังจากนั้นแค่ 2 วันในวันที่ 25 กันยายน นับเป็นบาทหลวงสเปนรายที่ 2 ที่อำลาโลกจากไวรัสมรณะชนิดนี้ ต่อจากสาธุคุณมิเกล พาฮารัส วัย 75 ปี ซึ่งได้รับเชื้อขณะปฏิบัติหน้าที่ในไลบีเรีย ก่อนถูกส่งกลับมารักษาที่สเปนและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม

ทั้งนี้ระหว่างให้การดูแลเบียโฮนั้น เจ้าหน้าที่เผยว่าพยาบาลรายนี้เข้าไปยังห้องกักตัวเบียโฮ 2 ครั้ง หนหนึ่งคือเช็ดทำความสะอาดเนื้อตัวแก่ผู้ติดเชื้อและอีกครั้งคือเข้าไปเก็บเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆหลังผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ดังนั้นคณะผู้ดูแลมิสชันนารีทั้ง 2 คนจึงต้องอยู่ภายใต้การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

อียูออกมาระบุในวันอังคาร(7 ต.ค.) ว่าได้ขอให้สเปนอธิบายเกี่ยวกับพยาบาลรายหนึ่งที่เคยดูแลรักษาผู้ป่วยอีโบลาในกรุงมาดริด ติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ได้อย่างไร ซึ่งนับว่าเป็นรายแรกที่มีการแพร่เชื้อถึงกันนอกทวีปแอฟริกา

โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ได้ส่งจดหมายไปหารัฐมนตรีสาธารณสุขสเปนเมื่อวันจันทร์ (6 ต.ค.) เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับการติดเชื้อดังกล่าวว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีการป้องกันไว้เป็นอย่างดี

"เห็นได้ชัดเลยว่ามันจะต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง" เฟรเดอริค วินเซนต์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการแพร่เชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ ที่บรรดาชาติสมาชิกยุโรปน่าจะมีมาตรการป้องกันการระบาดของอีโบลาไว้อย่างเต็มที่

เอลีนา โมรัล แกนนำสหภาพแรงงานพนักงานรัฐให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุแห่งหนึ่งของสเปนว่า "มาตรการป้องกันไว้ก่อนที่นำมาใช้อาจไม่พอเพียง ไม่มีการฝึกหัดที่จำเป็นและเราจำเป็นต้องหาผู้รับผิดชอบ" ส่วนอันโตนิโอ อเลมานี หัวหน้าการสาธารณสุขมูลฐานของแคว้นมาดริด แถลงกับผู้สื่อข่าวว่าพยาบาลรายนี้ที่ยังไม่มีบุตร อาการทรงตัวแต่ยังคงมีไข้อยู่

ข่าวคราวการติดเชื้อของเธอ กระตุ้นให้เกิดคำถามว่าทำไมสเปนถึงตัดสินใจพาตัวมิสชินนารีทั้ง 2 คนกลับมารักษาในประเทศ ด้วยพวกนักวิจารณ์บอกว่าโรงพยาบาลต่างๆของสเปนไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการกับอีโบลา

จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ไวรัสมรณะชนิดนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 3,439 ศพจากผู้ติดเชื้อ 7,478 คนทั่ว 5 ชาติแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ไลบีเรีย กินี เซียร์ราลีโอน ไนจีเรียและเซเนกัล โดยก่อนหน้านี้มีคนไข้ถูกส่งตัวกลับมารักษาในยุโรปและสหรัฐฯ แต่จนถึงตอนนี้สเปนคือชาติแรกที่มีผู้ติดเชื้อนอกทวีปแอฟริกา ส่วนอเมริกาก็เพิ่งพบผู้ติดเชื้อคนแรกในประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น