เอเอฟพี - มิชชันนารีสหรัฐฯ 2 คนที่ล้มป่วยจากการติดเชื้ออีโบลาขณะช่วยรักษาคนไข้ในไลบีเรีย อาการฟื้นตัวและออกจากโรงพยาบาลในแอตแลนตาแล้ว จากการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (21 ส.ค.) หลังได้รับการรักษาด้วยยาทดลอง อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการแพร่ระบาดยังไม่บรรเทาลง ด้วยล่าสุดแอฟริกาใต้ สั่งห้ามประชาชนต่างแดนที่มาจาก 3 ชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เดินทางเข้าประเทศ
เคนต์ แบรนต์ลีย์ นายแพทย์ชาวอเมริกันวัย 33 ปี และแนนซี ไรท์โบล มิชชันนารี วัย 60 ล้มป่วยด้วยโรคอีโบลาในมันโรเวียเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนถูกนำตัวขึ้นเครื่องส่งตัวมารักษายังโรงพยาบาลอีโมรี “คนไข้ทั้งสองที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว ไม่พบความเสี่ยงเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุข” บุณซ ริบเนอร์ ผู้อำนวยการแผนกโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลบอก
ด้าน SIM USA องค์กรที่เข้าอุทิศเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นต้นสังกัดของไรท์โบล เผยว่าเธอได้รับอนุญาตให้กลับบ้านตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคมแล้ว
ในส่วนของนายแพทย์แบรนต์ลีย์ ได้นั่งอยู่ข้างๆ เหล่าคณะแพทย์ของโรงพยาบาลอีโมรี ระหว่างการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (21) ด้วยสีหน้าสดชื่น มีรอยยิ้มและกุมมือภรรยา “หลังผ่านช่วงเวลาแห่งการรักษาและตรวจร่างกายอย่างเคร่งครัด คณะแพทย์ของอีโมรี สรุปว่าคนไข้ทั้งสองคนได้ฟื้นตัวจากอีโบลาแล้ว และสามารถกลับสู่ครอบครัวและชุมชน โดยไม่มีความกังวบว่าจะแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นๆ” ริบเนอร์กล่าว
การแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกในปัจจุบัน ถือเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และนับตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงตอนนี้ มันคร่าชีวิตผู้คนในไลบีเรีย กินี เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย ไปแล้วกว่า 1,350 ศพ ขณะเดียวกันมันยังก่อความหวาดผวาไปยังชาติอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงหรือแม้แต่ในทวีปอื่นๆ ด้วย
ล่าสุดทางการแอฟริกาใต้ในวันพฤหัสบดี (21) ประกาศห้ามพลเมืองต่างชาติที่มาจาก 3 ชาติแอฟริกาตะวันตก ซึ่งได้รับผลกระทบจากอีโบลาเลวร้ายที่สุดเดินทางเข้าประเทศ
ถ้อยแถลงของกระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า “ขอห้ามผู้คนทั้งหมดที่ไม่ใช่พลเมืองของเรา ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเข้าประเทศ” อ้างถึงกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน พร้อมระบุว่าในส่วนของชาวแอฟริกาใต้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เหล่านี้ก็จะถูกตรวจสอบคัดกรองอย่างเข้มข้น นอกจากนี้แล้วทางการแอฟริกาใต้ ยังห้ามออกเดินทางไปยัง 3 ประเทศเหล่านั้น ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ
จนถึงตอนนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้ออีโบลาในแอฟริกาใต้ แม้ว่ามีกรณีที่น่ากังวล 2 รายเมื่อช่วงหลายสัปดาห์ก่อน โดยเป็นชายชาวแอฟริกาใต้ที่เดินทางกลับมาจากไลบีเรีย ส่วนอีกคนเป็นสตรีชาวกินี อย่างไรก็ตาม ต่อมาผลตรวจร่างกายของคนทั้งสองออกมาเป็นลบ
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดใดๆของอีโบลาในแอฟริกาใต้จะก่อความกังวลใหญ่หลวงต่อทั่วโลก ด้วยเมืองโยฮันเนสเบิร์ก คือศูนย์กลางหลักของการสัญจรทางอากาศระหว่างทวีปแอฟริกาทางใต้กับทวีปอื่นๆ