เอเอฟพี - รัฐบาลสเปนเตรียมส่งเครื่องบินไปยังไลบีเรียเพื่อรับตัวมิชชันนารีสูงวัยผู้หนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” กลับมารักษาพยาบาลในบ้านเกิด กระทรวงกลาโหมแดนกระทิงดุแถลงเมื่อค่ำวานนี้ (5 ส.ค.)
กระทรวงได้แถลงผ่านทวิตเตอร์ว่า เปโดร โมเรเนส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสเปน มีคำสั่งให้เตรียมเครื่องบินแอร์บัส A310 “พร้อมบุคลากรและเครื่องมือแพทย์” เพื่อส่งไปรับพลเมืองซึ่งเข้าไปทำงานในไลบีเรีย โดยคาดว่าเครื่องบินลำนี้จะพร้อมออกเดินทางได้ในเวลา 05.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (10.00 น.ตามเวลาในไทยวันนี้)
กระทรวงกลาโหมไม่ได้ระบุวันเวลาที่ครูสอนศาสนาจะเดินทางกลับถึงแผ่นดินสเปน และไม่แจ้งด้วยว่า สถานพยาบาลแห่งใดจะถูกใช้เป็นที่ดูแลผู้ติดไวรัสมรณะซึ่งทำให้มีภาวะเลือดออกอย่างรุนแรงนี้
มิเกล ปาฆาเรส มิชชันนารีโรมันคาทอลิกวัย 75 ปี ถูกตรวจพบเชื้ออีโบลาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงมอนโรเวีย ตามข้อมูลซึ่งองค์กรช่วยเหลือที่เขาทำงานอยู่ด้วยแถลงออกมาเมื่อวานนี้ (5)
ปาฆาเรส ถูกกักตัวเพื่อรอดูอาการอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์โจเซฟ ร่วมกับเพื่อนมิชชันนารีอีก 5 คน หลังจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้เพิ่งจะเสียชีวิตลงจากเชื้ออีโบลาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (2)
ปาฆาเรสทำงานอยู่ในไลบีเรียมานานกว่า 50 ปี โดยในช่วง 7 ปีหลังนี้ได้เข้ามาทำงานกับโรงพยาบาล เซนต์ โจเซฟ
ฆวน ชิอูดัด โอเอ็นจีดี องค์กรบรรเทาทุกข์ของสเปน ระบุว่า สตรีชาวคองโก 1 คน และชาวกินีอีก 1 คน ซึ่งทางโรงพยาบาลกักตัวไว้เพื่อดูอาการ ก็ตรวจพบเชื้ออีโบลาเช่นกัน
จากบทสัมภาษณ์ซึ่งออกอากาศทางสถานีข่าวซีเอ็นเอ็นภาคภาษาสเปนเมื่อวันจันทร์(4) ปาฆาเรสกล่าวว่า เขาและมิชชันนารีคนอื่นๆ ต้องการกลับไปรักษาตัวที่สเปน
“ผมมีอาการไข้ ไม่อยากรับประทานอะไรเลย ผมอยู่เฉยๆ โดยไม่กินอะไรก็ได้ รู้สึกปวดตามข้อกระดูก และต้องขอให้ผู้อื่นช่วยพยุงเวลาจะไปไหนมาไหน” ปาฆาเรส กล่าว
“เราหวังว่ารัฐบาลจะช่วยอพยพเราออกไป สำหรับเราแล้วการได้กลับสเปนคงเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะมั่นใจได้ว่าเราจะได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เก่ง และคงอาการดีขึ้นหากพระเจ้าทรงประสงค์”
ชาวอเมริกัน 2 คนซึ่งทำงานกับองค์กรคริสต์ในไลบีเรียและติดเชื้ออีโบลาขณะช่วยดูแลผู้ป่วยในกรุงมอนโรเวีย ก็ถูกส่งตัวกลับไปรักษาพยาบาลที่สหรัฐฯ แล้ว เมื่อไม่กี่วันก่อน
จำนวนผู้ติดเชื้ออีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกพุ่งสูงกว่า 1,600 รายนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งถือว่าเป็นการแพร่ระบาดครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
ยอดผู้เสียชีวิตในเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย กินี และไนจีเรีย อยู่ที่ 887 ราย ซึ่งคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 55 จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ประกาศมอบเงินทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่รัฐบาลกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน เพื่อนำไปใช้สกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ
อีโบลา เป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วย หรือทำหน้าที่รักษาพยาบาล จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด