เอเอฟพี - ไลบีเรียเผยเมื่อวันอังคาร (19 ส.ค.) พบตัวคนไข้อีโบลา 17 คนที่หลบหนีตามหลังเหตุจู่โจมตีสถานกักกันแล้ว หลังการหายตัวไปของพวกเขากระพือการตามล่าอย่างตื่นตระหนกไปทั่วเมืองที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากไวรัสมรณะที่ดูเหมือนว่ามิอาจหยุดยั้งได้ ท่ามกลางยอดผู้เสียชีวิตในแอฟริกาตะวันตก เพิ่มเป็นเกือบ 1,230 ศพ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ไนจีเรียและกินีเริ่มมีหวัง หลังมาตรการป้องกันต่างๆเริ่มได้ผล
องค์การอนามัยโลกเผยว่าในรอบ 3 วันที่ผ่านมา มีผ้เสียชีวิตจากอีโบลาเพิ่มอีก 84 คน ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้ในแอฟริกาตะวันตก เพิ่มเป็น 1,229 ศพ
ลูอิส บราวน์ รัฐมนตรีข่าวสารของไลบีเรียย แถลงว่าได้ตัวผู้ติดเชื้อที่หายตัวไปเมื่อวันเสาร์ (16) คืนมาแล้ว หลังจากคนไข้ 17 คนหลบหนีออกไปตามหลังเหตุพวกวัยรุ่นที่ใช้ไม้กระบองเป็นอาวุธจู่โจมตีศูนย์กักกันทางการแพทย์ในย่ายชุมชนแออัดในกรุงมันโรเวีย
การหายตัวไปของพวกเขาได้ก่อความกังวลต่อฝันร้ายการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางภายในเมืองซึ่งพบเห็นร่างไร้วิญญาณของผู้ติดเชื้อถูกทิ้งไว้ตามท้องถนนสายต่างๆ “คนไข้ทั้ง 17 คนที่หลบหนีออกจากศูนย์อีโบลา ตอนนี้พบตัวแล้ว” บราวน์กล่าว
จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ไลบีเรียกลายเป็นชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ระหว่างวันพฤหัสบดี (14) จนถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา หนักหน่วงที่สุด ด้วยมีผู้เสียชีวิต 53 คน ส่วนเซียร์ราลีโอน พบผู้เสียชีวิต 17 คนและ 14 คนในกินี
อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีบ้างเล็กน้อยเมื่อนายบราวน์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ 8 คน ในนั้นรวมถึงหมอ 2 คน ที่ได้รับยา ZMapp ซึ่งผลิตโดยสหรัฐฯ ตอบสนองต่อการรักษาเป็นอย่างดี
โดยรวมแล้ว หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติระบุว่ายอดผู้ที่ได้รับการยืนยันหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีโบลา อยู่ที่ 2,240 คน นับตั้งแต่มันเริ่มแพร่ระบาดในช่วงต้นปี ส่งผลให้มันเป็นการแพร่ระบาดครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่พบการระบาดของอีโบลาเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1970
จากกินี จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งปัจจุบัน มันได้แผ่ลามไปยังชาติอื่นๆอีก 3 ประเทศ และการแพร่ระบาดของมันหนักหน่วงเกินกว่าบริการสาธารณสุขที่ไม่พอเพียงของชาติเหล่านั้นจะรับมือไหว ขณะที่พวกเขาต้องสู้ต่อกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออื่นๆอย่างเช่นมาลาเรียอยู่ก่อนแล้ว
กินี พบผู้ติดเชื้อ 543 คน เสียชีวิต 394 ราย เซียร์ราลีโอน มีผู้ติดเชื้อ 848 คน เสียชีวิต 365 ราย ไลบีเรีย ติดเชื้อ 834 คน เสียชีวิต 466 ราย ขณะที่ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของแอฟริกา พบผู้ติดเชื้อ 15 คนและเสียชีวิต 4 ราย
ความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดไปทั่วแอฟริกาตะวันตกต้องเผชิญกับความไม่ไว้วางใจของชาวบ้านต่อคณะแพทย์ที่มาจากต่างถิ่น และความหวาดกลัวว่าเจ้าหน้าที่ด้านบรรเทาทุกข์อาจเป็นพาหะนำเชื้อไปติดพวกเขา “ตอนแรกเลยพวกชาวบ้านคิดว่าหากไปหาหมอ พวกเขาจะถูกสูบเลือดออกจนหมด จนถึงแก่ความตาย” เนลโล ผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวที่คลินิกอีโบลาแห่งหนึ่งในเซียร์ราลีโอน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกกับเอเอฟพี
อย่างไรก็ตาม ฟาเดลา ชาอิบ โฆษกขององค์การอนามัยโลก เน้นว่าพบเห็นสัญญาณที่มีหวังขึ้นในไนจีเรียและกินี หลังมาตการป้องกันต่างๆเริ่มได้ผล
การแพร่ระบาดที่ไนจีเรียเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติรายเดียว ได้แก่ชายชาวอเมริกันเชื้อสายไลบีเรีย ซึ่งเสียชีวิตในลากอส ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และผู้ติดเชื้อทั้งหมดล้วนแต่เคยสัมผัสโดยตรงกับเขา “ทุกมาตรการที่เจ้าหน้าที่ไนจีเรียบังคับใช้ เริ่มแสดงผลในทางบวก” ชาอิบบอก พร้อมเสริมว่าในส่วนของกินีเองก็มีความคืบหน้าบางส่วนในการระงับการแพร่ระบาดเช่นกัน
ด้วยในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาอีโบลา ที่ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งของร่างกาย นั่นหมายความว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกักกันผู้ป่วย แต่ด้วยขอบเขตการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทางอนามัยโลกเห็นชอบกับการใช้ยาที่ยังอยู่ขั้นการทดลองมารักษาผู้ติดเชื้ออีโบลา ในนั้นรวมถึง ZMapp และวัคซีน VSV-EBOV ที่ผลิตโดยแคนาดา
กระนั้นด้วยที่ยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผลอย่างแท้จริงๆ ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจึงต้องดำเนินการกำหนดเขตกักกันในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด อาทิ Gueckedou ในกินี เคเนมาและไคลาอุน ในเซียร์ราลีโอน รวมถึงโฟยา ในไลบีเรีย
โฆษกขององค์การอนามัยโลกบอกว่ามีประชาชนราว 1 ล้านคนพำนักอยู่ตามโซนต่างๆ เหล่านั้น และขณะที่พวกเขาเข้าช่วยระงับการแพร่ระบาด เหล่าชาวบ้านก็อาจประสบปัญหาเข้าถึงความจำเป็นทางพื้นฐานต่างๆ “มันจำเป็นที่ประชาชนในเขตเหล่านี้ต้องเข้าถึงอาหาร น้ำและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงสิ่งของพื้นฐานอื่นๆ” โดยเวลานี้องค์การอนามัยโลกกำลังร่วมมือกับโครงการอาหารโลกนำส่งอาการและเสบียงอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ เข้าไปยังเขตเหล่านั้นอย่างเป็นประจำ
ขณะที่องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้นานาชาติจำกัดการสัญจรทางอากาศ พวกเขาได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสายการบินทั่วโลกและกลุ่มท่องเที่ยวต่างๆในความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดของอีโบลา ส่วนหลายชาติในแอฟริกาก็ดำเนินการปิดชายแดนที่ติดกับชาติที่ได้รับผลกระทบ โดยล่าสุดก็เป็นแคเมอรูนที่ปิดชายแดนติดกับไนจีเรีย