xs
xsm
sm
md
lg

“อนามัยโลก” จัดประชุมการใช้ “ยาทดลอง” มารักษาอีโบลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา องค์การอนามัยโลก (ฮู) ก็กำลังจัดประชุมในวันนี้ (11 ส.ค.) เพื่อหารือกันในประเด็นด้านจริยธรรม ของการใช้ยาตัวใหม่ที่อยู่ระหว่างการทดลองมารักษาโรคร้ายแรงนี้

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่หลายชาติในแอฟริกาตะวันตกกำลังอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่จากการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และด้วยมาตรการอันเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของประเทศเหล่านี้ได้ทำให้เกิดความวุ่นวายในด้านการขนส่ง สินค้ามีราคาถีบตัวสูงขึ้น อาหารขาดแคลนจนหวาดกลัวว่าอาจจะมีประชาชนต้องอดตาย

จนถึงวันนี้ยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลสำหรับอีโบลา เชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลานั้นมีเกือบ 1,000 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกเองก็ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดครั้งนี้เป็นวิกฤติฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการใช้ยาตัวใหม่ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง จนเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรงในด้านจริยธรรม ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกได้รับการนัดหมายให้มาประชุมกับองค์การอนามัยโลกในวันนี้ (11 ส.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการร่างแนวทางในการใช้ยาที่ไม่ผ่านการรับรองเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินอย่างการระบาดของอีโบลา

ทั้งนี้ มีชาวอเมริกัน 2 ราย และบาทหลวงชาวสเปนอีกรายหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจากการดูแลผู้ป่วยในแอฟริกา ทั้งสามต่างก็ได้รับการรักษาด้วยยาที่มีชื่อว่า “ซีแมป” ซึ่งยังไม่ผ่านการทดสอบ โดยมีรายงานว่าผลการใช้ยาดังกล่าวออกมาค่อนข้างดูดีมีความหวัง

อย่างไรก็ตาม ยาตัวที่ว่านี้ ซึ่งผลิตโดย “แมป ฟาร์มาซูติคอล” บริษัทยาเอกชนในสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาขั้นต้นๆ โดยในช่วงที่ผ่านมามีการนำไปทดลองเพียงแค่กับลิงเท่านั้น นอกจากนี้ ยาตัวนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก

การนำยาที่ไม่ผ่านการรับรองตัวนี้ไปใช้กับผู้ติดเชื้อในชาติตะวันตก ได้ทำให้เกิดการถกเถียงและเรียกร้องให้มีการนำไปใช้ในแอฟริกาบ้าง ซึ่งที่นั่นมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน

แมรี-พอล เคนี รองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ผู้จัดการประชุมในวันจันทร์ (11 ส.ค.) เอ่ยถามในที่ประชุมว่า จะเป็นการขัดต่อจริยธรรมหรือไม่หากนำยาที่ไม่ผ่านการรับรองมาใช้รักษาผู้คน หากไม่ขัด ควรจะมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ควรจะมีเงื่อนไขอะไร ควรจะนำไปใช้รักษากับใคร

“ตามหลักจริยธรรมแล้วควรจะทำอย่างไรกันดี?”

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เคยออกมาระบุไว้เมื่อวันเสาร์ (9 ส.ค.) ว่าการทดลองใช้วัคซีนรักษาอีโบลาควรจะเริ่มได้ในเร็วๆ นี้ โดยน่าจะพร้อมสำหรับการใช้ในวงกว้างช่วงต้นปีหน้า

“คิดว่ากำหนดที่กล่าวมานี้น่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้” เคนีบอกกับเอเอฟพี

ซีแมปแสดงให้เห็นว่าใช้ได้ผลกับผู้ติดเชื้อชาวอเมริกัน 2 ราย และในขณะนี้ก็มีการนำไปใช้กับบาทหลวงชาวสเปนแล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ายาที่นำมาใช้ได้นั้น ยังมีอยู่เพียงน้อยนิด อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่า ยาเหล่านั้นจะสามารถผลิตออกมาได้รวดเร็วเพียงใด

ฮูได้พบปะพูดคุยกับหลายรัฐบาลและบรรดาบริษัทยาหลายแห่ง เพื่อขอให้มีการเร่งพัฒนาวัคซีนหรือยารักษาอีโบลา แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับบรรดาคำถามด้านจริยธรรมที่กดดันเข้ามา อาทิ ผู้ติดเชื้อทุกคนควรจะได้รับยาขั้นทดลองหรือไม่ แล้วผู้ที่เคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่มีโอกาสจะสัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้ง่าย อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ควรจะได้รับยาด้วยหรือไม่

เคนีระบุว่า สำหรับข้อสรุปของการประชุมในวันจันทร์ (11 ส.ค.) จะมีการเปิดเผยออกมาในวันอังคาร (12 ส.ค.) นอกจากนี้ยังจะมีการดูด้วยว่าควรจะมีความคืบหน้าในการทดสอบยาไปถึงขั้นไหน จึงจะสามารถนำยาขั้นทดลองมาใช้ได้

“ควรหรือไม่ที่จะกำหนดคุณลักษณะขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งพวกยาที่ยังไม่ผ่านการรับรองจะต้องผ่านให้ได้ก่อน อย่างเช่น ข้อมูลประสิทธิภาพในแง่ความปลอดภัย รวมถึงควรจะทดลองยานี้กับผู้ป่วยจำนวนเท่าไหร่” เคนีกล่าว

เคนีระบุอีกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงแค่การพูดถึงหลักการและแนวทางการจัดหายาให้กับองค์การอนามัยโลกว่าควรจะเป็นแบบใด อย่างไรก็ตาม ฮูยังมีแผนที่จะจัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น