xs
xsm
sm
md
lg

“อนามัยโลก” โอเคให้ใช้ “ยาทดลอง” รักษา “อีโบลา”-ยอดตายทะลุ 1,000

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - องค์การอนามัยโลก (ฮู) แถลงในวันอังคาร (12 ส.ค.) แสดงความเห็นชอบกับการใช้ยาที่ยังอยู่ขั้นการทดลองมารักษาผู้ติดเชื้ออีโบลา ขณะยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสมัจจุราชชนิดนี้พุ่งทะลุเลยหลัก 1,000 คนแล้ว โดยบาทหลวงชราชาวสเปน ซึ่งป่วยเป็นโรคระบาดร้ายแรงนี้ ขณะช่วยเหลือคนป่วยในแอฟริกาแล้วถูกนำตัวกลับมาเยียวยาที่กรุงมาดริด ก็กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่จบชีวิตด้วยเชื้อไวรัสมหาภัยนี้

“ในสภาพแวดล้อมอันเฉพาะเจาะจงของการแพร่ระบาดคราวนี้ รวมทั้งถ้าหากมีการทำตามเงื่อนไขบางอย่างบางประการแล้ว ... การให้ยาที่ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจดทะเบียน ยังไม่เป็นที่ตระหนักรับทราบทั้งในแง่ประสิทธิภาพและในเรื่องผลข้างเคียงด้านลบ ก็ถือเป็นการกระทำที่เหมาะสมด้านจริยธรรม” องค์การอนามัยโลก แถลง ภายหลังการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในนครเจนีวาตั้งแต่วันจันทร์ (11)

ก่อนหน้านี้ ฮู ได้แถลงในคืนวันจันทร์ (11) ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในขณะนี้ ซึ่งถือว่าเป็นระลอกรุนแรงที่สุดนับแต่มีการค้นพบไวรัสนี้เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,013 คน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,848 คน

ตัวเลขผู้เสียชีวิตของฮูนี้ น่าจะยังไม่ได้รวมเอารายของ มิเกล ปาคาเรซ บาทหลวงคริสตจักรคาทอลิกวัย 75 ปีชาวสเปน ซึ่งติดเชื้อจากโรงพยาบาลเซนต์โจเซฟในไลบีเรีย ที่เขาทำงานอยู่ จากนั้นได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม โดยมีการใช้ “ซีแมปป์” ยาที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองของสหรัฐฯ มาทำการรักษาด้วย ทว่าเขาสิ้นชีพในวันอังคาร หรือ 5 วันหลังถูกส่งตัวกลับสเปน

อย่างไรก็ตาม เวลานี้การระบาดของเชื้อไวรัสมัจจุราชนี้ยังคงจำกัดวงอยู่ในประเทศทางแอฟริกาตะวันตก อย่าง กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย เท่านั้น ประเทศเหล่านี้ขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขก็อ่อนแอ

ปัจจุบันยังไม่มีตัวยาหรือวิธีรักษาตลอดจนวัคซีนป้องกันอีโบลาซึ่งได้รับการพิสูจน์รับรองแล้ว โดยที่ฮูได้ประกาศในปลายสัปดาห์ที่ผานมาว่า การระบาดของไวรัสชนิดนี้กลายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลกแล้ว

ในสหรัฐฯ ได้มีการนำเอายา “ซีแมปป์” ที่ผลิตโดย แมปป์ ไบโอฟาร์มาซูติคัล บริษัทยาอเมริกัน และยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาขั้นต้นๆ โดยเคยทดสอบกับลิงเท่านั้น มาใช้กับแพทย์และพยาบาลชาวอเมริกัน 2 คน ซึ่งถูกนำตัวกลับมารักษาในสหรัฐฯสัปดาห์ที่แล้วหลังจากไปติดเชื้อที่ไลบีเรีย ปรากฏว่าได้ผลในทางที่น่าพอใจ จากนั้นจึงมีการนำซีแมปป์มารักษาบาทหลวงชาวสเปน ทว่าไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้

ตั้งแต่การนำเอาซีแมปป์มาใช้รักษาผู้ป่วยจริงๆ ก็ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่ามีความเหมาะสมทางจริยธรรมหรือไม่ รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่าทำไมไม่ส่งยาตัวนี้ให้แก่พื้นที่ซึ่งระบาดหนักในแอฟริกาบ้าง ข้อถกเถียงเหล่านี้ดูจะมีคำตอบแล้ว จากการจัดประชุมและออกมาประกาศขององค์การอนามัยโลก

ทางด้านบริษัท แมปป์ฯ เปิดเผยว่า ได้จัดส่งยาซีแมปป์ทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังชาติแอฟริกาตะวันตกรายหนึ่งแล้วโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และการตัดสินใจใช้ยาตัวนี้ต้องขึ้นอยู่กับทีมแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย

แมปป์ฯไม่ได้เปิดเผยว่า ส่งยาให้แก่ประเทศใดหรือจำนวนเท่าใด แต่ประธานาธิบดี เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ของไลบีเรีย ระบุว่า ทำเนียบขาวและสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ได้อนุมัติคำขอตัวอย่างยาซีแมปป์เพื่อนำไปรักษาแพทย์ไลบีเรียที่ติดเชื้ออีโบลาในขณะนี้ โดยที่ “ผู้แทนของรัฐบาลอเมริกา” จะนำยาไปมอบให้ภายใน 48 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน มาตรการเข้มงวดซึ่งพวกชาติแอฟริกาตะวันตกประกาศใช้เพื่อสกัดกั้นการระบาดของอีโบลา กำลังส่งผลให้ประเทศยากจนเหล่านี้เผชิญสถานการณ์จลาจลทางการขนส่ง อาหารขาดแคลนและแพงขึ้นหลายเท่า ทำให้มีความกังวลกันว่า ผู้คนมากมายจะล้มตายจากความอดอยาก

ที่ไลบีเรีย ที่อีโบลาคร่าชีวิตเหยื่อไปแล้วกว่า 300 ราย และมีการประกาศจังหวัดที่เป็นพื้นที่กักกันโรคจังหวัดที่สามเมื่อวันจันทร์

ผู้นำไลบีเรียยังสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 1 เดือน รวมทั้งสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่นอกประเทศเดินทางกลับภายใน 1 สัปดาห์

ที่เซียร์ราลีโอน แพทย์และพยาบาลจีน 8 คนที่รักษาผู้ติดเชื้ออีโบลา ถูกกักบริเวณ ทว่า ยังไม่มีการสรุปว่า บุคลากรเหล่านี้แสดงอาการว่า ติดเชื้ออีโบลาหรือไม่

นอกจากนั้น ยังมีพยาบาลอีก 24 คน ส่วนใหญ่จากโรงพยาบาลในเมืองฟรีทาวน์ของเซียร์ราลีโอน ถูกกักตัวเช่นเดียวกัน และมีรายงานว่า แพทย์อาวุโสคนหนึ่งติดเชื้ออีโบลา แต่ตอบสนองการรักษาเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ นักไวรัสวิทยาเพียงคนเดียวของเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้กับไวรัสร้ายนี้ เสียชีวิตจากการติดเชื้อเมื่อเดือนที่ผ่านมา

หลายประเทศทั่วโลกประกาศใช้มาตรการฉุกเฉิน เช่น ญี่ปุ่นที่สั่งอพยพเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ ของตนกว่า 20 คนออกจากกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน แล้ว

ในวันจันทร์ โกตดิวัวร์ (ไอเวอรีโคสต์) ประกาศห้ามเที่ยวบินทั้งหมดที่มาจาก 3 ประเทศดังกล่าวที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด รวมทั้งส่งชาวไลบีเรียราว 100 คนที่พยายามหนีข้ามแดนกลับประเทศ

ทางด้าน ไนเจอร์ ประกาศแผนการฉุกเฉินเพื่อฝึกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเพิ่มมาตรการตรวจสอบตามด่านชายแดน สนามบิน และสถานีขนส่ง ขณะที่ โตโก ก็ยกระดับการคัดกรองผู้ป่วยเข้มงวดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น