xs
xsm
sm
md
lg

ผวาเชื้ออีโบลาลามพรีเมียร์ลีกนักเตะแอฟริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนตื่นนักเตะแอฟริกันค้าแข้งไทยพรีเมียร์ลีกแพร่เชื้ออีโบลา กรมควบคุมโรคยันไม่จริง ชี้เข้าไทยมานานหลายเดือนเกินกว่าระยะฟักตัวของโรค ด้าน สสจ.พังงายันชายชาวพม่าไม่ได้ตายเพราะเชื้ออีโบลาและโรคฉี่หนูอย่างที่เข้าใจ เผยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เร่งตรวจสอบสาเหตุเชิงลึก คาดรู้ผล 13 ส.ค. ด้านสสจ.บุรีรัมย์สั่งทุกอำเภอเตรียมพร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ห้องแยกโรค และเวชภัณฑ์ยา ไว้รับมือเชื้อ "ไวรัสอีโบลา" แม้พบการระบาดอยู่ห่างไกล พร้อมย้ำสาธารณสุข และ รพ.อำเภอบ้านกรวดจัดจนท.ตรวจสกรีนผู้ผ่านเข้า-ออกช่องสายตะกูพรมแดนเขมรอย่างเข้มงวด สกัดการระบาดโรคติดเชื้อทุกประเภท ขณะที่คณะกรรมาธิการวางแผนสาธารณสุขแห่งชาติจีน จะส่งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อไปยังแอฟริกาตะวันตก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฯ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าป่วยและเสียชีวิต หลังย้ายเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา โดยไม่ทราบสาเหตุ จนเกิดข่าวลือว่าป่วยเป็นโรคติดต่อ รวมถึงโรคติดเชื้ออีโบลา ว่า ชายชาวพม่าที่เสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้ออีโบลาแน่นอน เนื่องจากไม่มีประวัติเดินทางหรือข้องเกี่ยวกับ 3 ประเทศแอฟริกาที่กำลังมีการระบาดอยู่ในขณะนี้ ขอประชาชนที่พบเจอการป่วยตายด้วยโรคเช่นนี้อย่าแตกตื่น ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเป็นเพราะโรคติดเชื้อบางอย่าง สำหรับชาวแอฟริกันจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดพบว่ายังคงมีการเดินทางเข้าออกประเทสไทยทุกวัน ประมาณ 10 กว่าราย แต่จากการติดตามตรวจสอบทุกรายในระยะเวลา 21 วัน พบว่ายังสบายดี ซึ่งกรมฯ มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีประชาชนบางส่วนกังวลว่านักฟุตบอลจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดที่เข้ามาร่วมทีมสโมสรฟุตบอลในประเทศไทย ในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกที่กำลังจัดขึ้นนี้ จะนำโรคติดเชื้ออีโบลาเข้ามานั้น ขอชี้แจงว่าเหล่านักฟุตบอลนั้นเดินทางเข้ามาประเทศไทยหลายเดือนแล้ว ไม่มีโอกาสสัมผัสเชื้ออีโบลา และพ้นระยะการฟักตัวของโรคไปนาน จึงไม่ใช่กลุ่มที่จะนำเชื้ออีโบลาเข้ามาแพร่ระบาดแต่อย่างใด ขออย่าเป็นกังวล ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งยา "ซีแมป" ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองรักษาโรคอีโบลา ไปช่วยบาทหลวงชาวสเปนที่ติดเชื้อนั้น ถือว่าเป็นความหวังใหม่ในการรักษา เพราะขณะนี้ทราบว่า แพทย์ชาวสหรัฐฯที่ติดเชื้อเช่นกัน ก็ได้ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา อาการก็เริ่มดีขึ้นบ้าง
นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พังงา กล่าวว่า ชายชาวพม่าที่เสียชีวิตนั้นจากลักษณะทางคลินิกและผลการชันสูตร ยืนยันว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้ออีโบลา และไม่ใช่โรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนู อย่างที่เข้าใจกัน แต่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ไม่ใช่เชื้อไวรัส ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการเพาะเชื้ออยู่ว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดใด และจะมีการสอบสวนโรคต่อไปด้วยว่าชายชาวพม่ามีการติดเชื้อดังกล่าวได้อย่างไร คาดว่าจะได้ข้อมูลที่แน่ชัดภายในวันที่ 13 ส.ค. และจะเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ชาวบ้านค่อนข้างตื่นตระหนกและพร้อมเชื่อว่าการเสียชีวิตแปลกๆ อาจเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้ออีโบลา นพ.ไพศาล กล่าวว่า เราคงต้องควบคุมข้อมูลให้นิ่ง ซึ่งวันที่ 13 ส.ค.จะแถลงผลการตรวจชายชาวพม่าอย่างเป็นทางการและตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ไม่ให้ตกใจ เพราะข่าวที่ออกไปมีค่อนข้างหลากหลาย บางครั้งข้อมูลก็คลาดเคลื่อน จึงขอให้ข้อมูลครบถ้วนชัดเจนก่อนก็จะสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้าน

สสจ.บุรีรัมย์สั่งพร้อมรับมือ"ไวรัสอีโบลา"
วานนี้ (11 ส.ค.) นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดบุรีรัมย์เตรียมพร้อมห้องแยกโรค เวชภัณฑ์ยา และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ ไว้รับมือเชื้อไวรัสอีโบลา ที่กำลังระบาดในแอฟฟริกาอยู่ในขณะนี้ จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสร้างความตื่นตระหนกแก่คนทั่วโลก ทั้งนี้ แม้มีการระบาดอยู่ห่างไกล แต่ต้องให้เจ้าหน้าที่มีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรคป้องกันระบาดโรคติดเชื้อทุกประเภทโดยเฉพาะโรคระบาดอุบัติใหม่ เช่น โรคซาร์ส เชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น
รวมถึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศึกษาข้อมูลวิธีการตรวจจับโรคอย่างรวดเร็ว และการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งหากพบผู้ป่วยมีอาการต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในพื้นที่ใดต้องจัดทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทันที เพื่อตรวจสอบข้อมูลหรือสอบสวนโรค พร้อมส่งข้อมูลหรือตัวอย่างเลือดให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันโดยเร็ว เพื่อจะได้ทำการควบคุมป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรค และจะได้จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่นั้นทันที
นอกจากนี้ ยังกำชับให้สาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาล อ.บ้านกรวด ที่มีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกู ชายแดนไทย-กัมพูชา ให้จัดเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสกรีนผู้ที่ผ่านเข้า-ออกพรมแดนอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการสกัดป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ ในอีกทางหนึ่งด้วย
"อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกับกระแสการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลามากจนเกินไป เพราะพื้นที่ระบาดอยู่ห่างไกล แต่ไม่ว่าจะมีการระบาดหรือไม่ก็ตามประชาชนต้องดูแลพื้นฐานสุขภาพของตัวเอง รวมถึงบุคคลในครอบครัวและชุมชน เช่น การกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ที่สำคัญอาหารที่นำมารับประทานต้องปรุงสุก เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค" นพ.สมพงษ์กล่าว

จีนส่งอุปกรณ์การแพทย์ช่วยปท.ที่เชื้อ
คณะกรรมาธิการวางแผนสาธารณสุขแห่งชาติจีน เผย (11 ส.ค.) ว่าจะส่งคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อไปยังแอฟริกาตะวันตก เพื่อช่วยเหลือในการควบคุมป้องกันโรคและรักษาผู้ป่วยไวรัสอิโบล่า ในวันจันทร์นี้ (11 ส.ค.) โดยจะไปยังประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียรรา ลีโอน
รายงานข่าวกล่าวว่า จีนยังได้ส่งอุปกรณ์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉินจากเซี่ยงไฮ้ไปยังแอฟริกาตะวันตก โดยซุน ฮุย หนึ่งในคณะแพทย์ที่ร่วมเดินทางไปกล่าวว่า ในแต่ละทีมแพทย์จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญในการฆ่าเชื้อและการป้องกันจากศูนย์ควบคุมป้องกันโรค และจากสถาบันอื่น ๆ เพื่อให้การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ในท้องถิ่น พร้อมกับให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ผ่านทางสถานทูตจีนในประเทศเหล่านั้น
กระทรวงพาณิชย์จีน ยังได้จัดเตรียมวัสดุบรรเทาทุกข์หลังจากที่รัฐบาลประกาศในวันที่ 7 สิงหาคม ให้การเงินช่วยเหลือ 30 ล้านหยวน แก่ ไลบีเรีย, เซียร์ราลีโอนและนิวกินี ไปพร้อมกับคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ด้วย
กลุ่มประเทศในแอฟริกาตะวันตกกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนยาและความรู้การป้องกันโรค มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเวชภัณฑ์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดที่ยากในการควบคุม สำหรับวัสดุส่วนใหญ่ที่ส่งไปนั้นมีทั้ง เสื้อผ้าป้องกันและเคลือบสารฆ่าเชื้อ และยาฯ โดยเป็นความช่วยเหลือชุดที่สองต่อจากเดือนพฤษภาคม ที่เคยส่งความช่วยเหลือไปก่อนหน้า
ทั้งนี้ รายงานข่าวกล่าวว่า ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสอิโบล่า โรคติดต่อที่ยังไม่มียารักษาฯ นี้ไปแล้วเกือบ 1,000 คน ในแอฟริกาตะวันตก โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน
องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนเมื่อวันศุกร์ (8 ส.ค.) ว่า โรคนี้เป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของนานาชาติ" และเรียกร้องให้มีการตอบสนองการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายระหว่างประเทศของไวรัสอีโบลานี้
นอกจากนั้น จากการเผยแพร่แผนที่ในเว็บไซต์ องค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับวิกฤติอีโบลาระบาด ที่ออกมาล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ได้ระบุพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ด้วยการใช้วงกลมสีแดง และสีฟ้า แสดงจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ติดเชื้ออีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดใน 4 ประเทศ คือ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และไนจีเรียเท่านั้น
ด้านรัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งกำลังเป็นประเทศที่ 4 ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งพบผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้ออีโบลา ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายศพผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาข้ามประเทศ หรือข้ามรัฐต่างๆ ในประเทศอย่างเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น