xs
xsm
sm
md
lg

โกตดิวัวร์ “แบน” เที่ยวบินจากประเทศที่ “อีโบลา” ระบาด ชาติแอฟริกาหวั่นแผนสกัดโรคเข้มงวดจะทำให้คนอดตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุดตรวจหาผู้ติดเชื้ออีโบลาในเขตเคเนมา ประเทศเซียร์ราลีโอน
เอเอฟพี - โกตดิวัวร์ (ไอเวอรีโคสต์) ประกาศในวันนี้ (11 ส.ค.) ห้ามเที่ยวบินทั้งหมดซึ่งมาจากพวกประเทศที่เกิดการระบาดของโรคอีโบลา และไนจีเรียก็ยืนยันว่าพบผู้ติดเชื่อไวรัสมัจจุราชชนิดนี้อีกรายหนึ่งในเมืองศูนย์กลางการเงินของประเทศ ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกกำลังหวั่นวิตกว่า มาตรการคุมเข้มการระบาดของไวรัสมัจจุราชนี้อาจทำให้ประชาชนมากมายล้มตายจากความอดอยาก

รัฐบาลโกตดิวัวร์ออกคำแถลงสั่งห้ามเที่ยวบินทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ดำเนินการขนส่งผู้โดยสารจากพวกประเทศที่มีโรคอีโบลาระบาด เข้ามาจอดในประเทศของตน รวมทั้งตัดสินใจให้ แอร์โกตดิวัวร์ สายการบินแห่งชาติของตน ระงับเที่ยวบินซึ่งไปและกลับจากที่หมายเหล่านี้เอาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

โกตดิวัวร์ ไม่ได้ระบุชื่อประเทศซึ่งกำลังมีโรคอีโบลาระบาด แต่ผู้คนร่วม 1,000 คนซึ่งเสียชีวิตไปแล้วจากการแพร่ลามของไวรัสมัจจุราชในระลอกนี้นั้น มาจากไลบีเรีย, เซียร์ราลีโอน, กินี และไนจีเรีย ซึ่งก็อยู่ในแอฟริกาตะวันตกเช่นเดียวกับ โกตดิวัวร์

ทางด้านรัฐมนตรีสาธารณสุข ออนเยบูชิ ชุควู ของไนจีเรีย แถลงในวันเดียวกันว่ามีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยในเมืองลากอส เมืองที่เป็นศูนย์กลางการเงินของประเทศใหญ่ที่สุดในแอฟริกาแห่งนี้ ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้ออีโบลาอีกรายหนึ่ง ทำให้เวลานี้ไนจีเรียมีผู้ป่วยด้วยไวรัสนี้ทั้งสิ้น 10 คน

ชุควูบอกว่า ผู้ป่วยรายล่าสุดนี้เป็นพยาบาลสตรี ซึ่งมีการติดต่อสัมผัสกับ แพทริก ซอว์เยอร์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายไลบีเรีย ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคอีโบลาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเมืองลากอสเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นอกจากซอว์เยอร์แล้ว ยังมีพยาบาลผู้หนึ่งที่มีการติดต่อสัมผัสกับเขาเสียชีวิตไปด้วยอีก 1 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่มีอีก 7 คนในลากอส ซึ่งได้รับการยืนยันว่าติดเชือไวรัสฤทธิ์เดชร้ายแรงนี้
ป้ายโฆษณารณรงค์ให้รักษาความสะอาด เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของอีโบลาในไลบีเรีย
ขณะเดียวกัน มาตรการป้องกันการลุกลามของเชื้ออีโบลาที่ประกอบด้วยการห้ามเดินทางตลอดจนทำกิจกรรมด้านต่างๆ อย่างเข้มงวดกวดขันนั้น กำลังส่งผลให้พื้นที่ซึ่งมีการระบาด เกิดการขาดแคลนอาหาร ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างมาก และกระตุ้นความกังวลว่า ผู้คนจำนวนมากอาจเสียชีวิตจากความหิวโหย

โจเซฟ เคลลาฟาห์ นายกเทศมนตรีเขตเคเนมา ทางตะวันออกของเซียร์ราลีโอนที่ถูกปิดล้อมกักกันโรคอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับเขตไคลาฮุน ที่อยู่ใกล้เคียง บอกว่า ทางการพยายามดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทว่าราคาอาหารในบริเวณเหล่านี้ก็กำลังพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของเผ่าต่างๆ ได้กำหนดค่าปรับจำนวนมากสำหรับผู้ที่บกพร่องไม่รายงานการติดเชื้ออีโอลา ซึ่งขณะนื้ทำให้มีผู้เสียชีวิตในแอฟริกาตะวันตกแล้วเกือบ 1,000 ราย ถือเป็นการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ

ภายใต้แผนการ “ปฏิบัติการออกโตพุส” ของเซียร์ราลีโอน ทหารและตำรวจ 1,500 นายถูกส่งไปประจำในพื้นที่กักกันโรค เพื่อห้ามประชาชนเดินทางเข้าออก รวมทั้งร่วมกับเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลออกค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อ โดยด่านกักกันโรคทั้งหลายจะยินยอมให้เจ้าหน้าที่สำคัญและอาหารที่ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดแล้วเท่านั้น ผ่านเข้าสู่พื้นที่กักกันโรคได้

เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และกินี เป็นประเทศที่อีโบลาระบาดหนักที่สุด และเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก

ไม่เพียงเฉพาะเซียร์ราลีโอน ทางด้านไลบีเรียก็ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการขาดแคลนอาหารนับแต่รัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเมื่อวันพุธที่แล้ว (6) โดยมีการส่งกำลังทหารสกัดการเดินทางของประชาชนเข้าสู่กรุงมอนโรเวีย โดยเฉพาะจากจังหวัดทางเหนือที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด
เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของเซียร์ราลีฌอนใส่ชุดป้องกัน ขณะทำการตรวจหาผู้ติดเชื้ออีโบลา
ซานโด จอห์นสัน วุฒิสมาชิกจากจังหวัดโบมี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมอนโรเวียเตือนว่า มาตรการจำกัดเข้มงวดเกินไป ซึ่งหากไม่มีการผ่อนคลาย อาจทำให้ประชาชนล้มตายจากความอดอยาก

ขณะนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับมอบหมายให้เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอีโบลา ซึ่งทำให้เกิดอาการไข้สูง และในกรณีร้ายแรงที่สุดคือเลือดไหลไม่หยุด โดยโรคนี้มีระยะฟักตัว 2-21 วัน

สายด่วนฉุกเฉินที่ทีมเฉพาะกิจของไลบีเรียจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับอีโบลาเผยว่า ได้รับการติดต่อเข้ามาถึง 1,800 สายเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (8)

บาร์คิว ทับแมน โฆษกศูนย์ข้อมูลอีโบลาในมอนโรเวียเผยว่า นอกจากพยายามกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวและอยู่ในความสงบแล้ว บริการสายด่วนยังต้องเผยแพร่และรวบรวมข้อมูลเพื่อแบ่งปันกับทีมเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ ไวรัสอีโบลาติดต่อกันได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น เหงื่อ เลือด และเนื้อเยื่อ

ที่เซียร์ราลีโอน คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่จำเป็นในพื้นที่ห่างไกลในแอฟริกาตะวันตก 10 คนติดเชื้อ หลังรับผู้โดยสารซึ่งพวกเขาไม่ทราบว่าป่วยด้วยโรคอีโบลา

ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามในการจำกัดขนาดขอบเขตของการระบาด ก็กำลังถูกบ่อนทำลายทั้งจากการเพิกเฉยไม่สนใจ, ความไม่ไว้ใจต่อชาวตะวันตก, และข่าวลือผิดๆ

ประธานาธิบดีโจนาธาน กู๊ดลัค ของไนจีเรีย ได้ออกมาเตือนการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ว่า อาจนำไปสู่การตื่นตระหนกและการก้าวไปสู่ทิศทางรับมือกับโรคอย่างผิดพลาด

ในวันอาทิตย์ (10) ที่ผ่านมา ไนจีเรียสั่งห้ามเที่ยวบินจากสายการบินแห่งชาติแกมเบียเข้าประเทศ เนื่องจากสายการบินดังกล่าวมีมาตรการคัดกรองผู้ติดเชื้อ “ไม่น่าพึงพอใจ”

ขณะที่ในกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ชายโรมาเนียวัย 51 ปีได้ถูกกักตัวในโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ เนื่องจากสงสัยว่าติดเชื้ออีโบลาจากไนจีเรีย หลังกลับจากประเทศดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เดือนที่ผ่านมาและมีอาการเหมือนติดไวรัสชนิดนี้ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่ชายผู้นี้อาจติดเชื้อมาเลเรียหรือไทฟอยด์

นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาในเซเนกัล เป็นชายหนุ่มวัย 27 ปีและถูกกักตัวในโรงพยาบาลทางเหนือของประเทศ ทว่า ภายหลังในที่สุดแล้วผลตรวจออกมาว่าเขาไม่ได้ติดเชื้อนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น