xs
xsm
sm
md
lg

เซียร์ราลีโอนประกาศภาวะฉุกเฉินใช้ทหารจัดการอีโบลา WHO ทุ่มงบ $100 ล้านช่วยรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - เซียร์ราลีโอนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและเรียกใช้ทหารเข้ากักบริเวณเหยื่อผู้ติดเชื้ออีโบลาในวันพฤหัสบดี (31) บังคับใช้มาตรการอันเข้มงวดตามรอยไลบีเรียชาติเพื่อนบ้าน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดของไวรัสชนิดนี้ในแอฟริกาตะวันตกเพิ่มเป็น 729 ศพแล้ว จนล่าสุดอนามัยโลกประกาศทุ่มเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์จัดการกับวิกฤตนี้

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า พวกเขากำลังหารืออย่างเร่งด่วนกับเหล่าผู้บริจาคและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และทรัพยากรอื่นๆ เข้าไปยังหนึ่งในภูมิภาคที่ขัดสนที่สุดในโลกเพิ่มเติม พร้อมระบุแค่ระหว่างวันที่ 24 ถึง 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ในกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย เพิ่มอีกถึง 57 คน

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (31) องค์การของสหประชาชาติแห่งนี้ประกาศจะใช้งบประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแผนตอบสนองต่อสู้กับการแพร่ระบาดในเหล่าชาติแอริกาตะวันตก ซึ่งจนถึงตอนนี้คร่าชีวิตผู้คนรวมแล้ว 729 ศพจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,323 คน ขณะที่ มาร์กาเรต ชาน ผู้อำนวยการอนามัยโลกมีกำหนดหารือกับเหล่าผู้นำของกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ที่เมืองหลวงของกิรีในวันศุกร์ (1 ส.ค.) นี้

“ด้วยขอบเขตการแพร่ระบาดของอีโบลา ท่าทางว่ามันจะเป็นภัยคุกคามที่เรื้อรัง จึงจำเป็นที่องค์การอนามัยโลก กีนี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ต้องใช้มาตรการตอบสนองระดับใหม่ และต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ ทักษะความสามารถทางการแพทย์ในประเทศ การเตรียมพร้อมและความร่วมมือระดับภูมิภาคมากขึ้น” ชานกล่าว

ไนจีเรีย เพิ่งพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยเหยื่อรายนี้เป็นพลเมืองที่เดินทางด้วยเครื่องบินมาจากไลบีเรีย ก่อนเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่เผยในวันพฤหัสบดี (31) ว่าต่อไปนี้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจะถูกสแกนอุณหภูมิร่างกายเพื่อตรวจหาความเป็นไปได้ของการติดเชื้ออีโบลา

ในมาตรการที่เกิดขึ้นจากความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆของนานาชาติ อังกฤษได้เรียกประชุมฉุกเฉินคณะรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับอีโบลาในวันพุธ (30) ส่วนทำเนียบขาวก็เปิดเผยว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รับฟังสรุปสถานการณ์แล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ให้คำแนะนำใดๆ เกี่ยวข้องข้อขำกัดด้านการเดินทางหรือปิดชายแดนสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะนี้ และบอกว่ามีความเสี่ยงระดับต่ำที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ จะติดเชื้อ แม้ว่าเที่ยวบินดังกล่าวจะมีผู้ป่วยอีโบลาอยู่บนเครื่องก็ตาม

การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกชนิดนี้ มีจุดเริ่มต้นตามป่าในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันออกของกินีในเดือนกุมภาพันธ์ แต่เวลานี้กลายเป็นว่าเซียร์ราลีโอน คือประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากที่สุด

ประธานาธิบดีเออร์เนสต์ ไบ โคโรมา แห่งเซียร์ราลีโอน เปิดเผยว่า เขาจะพบกับผู้นำของไลบีเรียและกินี ในโกนากรีวันศุกร์นี้ (1 ส.ค.) เพื่อหารือถึงแนวทางการต่อสู้กับโรคระบาด “เซียร์ราลีโอนกำลังอยู่ในการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ความล้มเหลวไม่อยู่ในทางเลือก” เขากล่าว พร้อมระบุว่าในขั้นต้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะครอบคลุมเวลาราว 60 ถึง 90 วัน “ความท้าทายที่พิเศษนี้ก็จำเป็นต้องจัดการด้วยมาตรการที่พิเศษเช่นกัน”

เขาบอกว่าตำรวจและทหารจะบังคับกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อทุกคน และจะช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับเอ็นจีโอให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง หลังจากก่อนหน้านี้เหล่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกชาวบ้านท้องถิ่นทำร้ายหลายต่อหลายครั้ง

มาตรการนี้ยังรวมไปถึงการเข้าตรวจค้นบ้านแบบหลังต่อหลัง เพื่อตามรอยเหยื่อผู้ติดเชื้ออีโบลา และหากพบว่าบ้านหลังใดมีเชื้อยู่ ผู้พักอาศัยก็จะถูกกักบริเวณจนกว่าจะผ่านการตรวจสอบจากทีมแพทย์ นอกจากนี้ยังห้ามประชาชนพบปะกันเป็นหมู่คณะ ยกเว้นแต่กลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับอีโบลา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเดินตามรอยมาตรการต่างๆ ที่ไลบีเรียเปิดตัวออกมาเมื่อวันพุธ (30) ซึ่งรวมไปถึงคำสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ และกักบริเวณชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ผู้ติดเชื้ออีโบลาจะมีอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง และในบางกรณีอาจทำให้อวัยวะล้มเหลว เลือดไหลไม่หยุด ขณะที่มันสามารถปลิดชีพผู้ป่วยภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากติดเชื้อ ยิ่งกว่านั้นคือร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อจะเสียชีวิต

อาริก และเอสกาย 2 สายการบินระดับภูมิภาค 2 แห่งของไนจีเรีย ยกเลิกทุกเที่ยวบินที่มุ่งสู่ฟรีทาวน์และมอนโรเวีย หลังจากนายแพทริค ซอว์เยอร์ พลเมืองสหรัฐฯ เสียชีวิตในลากอสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังโดยสารเที่ยวบินของเอสกายมาจากไบลีเรีย

องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศยอมรับว่า การพบไวรัสที่ข้ามพรมแดนโดยเครื่องบิน อาจนำไปสู่ข้อจำกัดใหม่ๆ ด้านการบินที่มีเป้าหมายระงับการแพร่ระบาด “ก่อนหน้านี้ไวรัสยังไม่กระทบต่อการบินพลเรือน แต่ตอนนี้เราได้รับผลกระทบแล้ว เราจะต้องลงมืออย่างเร่งด่วน” นายเรย์มอนด์ เบนจามิน เลขาธิการ ICAO บอก

ในวันพฤหัสบดี (31) กานาก็แถลงเช่นกันว่า จะนำเครื่องสแกนอุณหภูมิร่างกายมาใช้ที่สนามบินอักกรา เพื่อตรวจผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และจุดผ่านแดนหลักอื่นๆ ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดตั้งศูนย์กักกันโรคใน 3 เมืองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น