xs
xsm
sm
md
lg

ยันชายชาวจันทบุรีไม่ป่วย “อีโบลา” แค่ไข้เลือดออก สุวรรณภูมิตรวจเข้มตามมาตรการ สธ. (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.
กรมควบคุมโรคยัน “อีโบลา” ยังไม่เข้าไทย หลังพบผู้ป่วย จ.จันทบุรี อาการคล้ายอีโบลา สุดท้ายผลตรวจเป็นโรคไข้เลือดออก เผยมีการเดินทางมาจากคนในพื้นที่ระบาดสัปดาห์ละ 30 คน มีการติดตามเฝ้าระวังเข้ม สธ. สั่งทุกกรมเตรียมพร้อมรับมือทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เร่งสื่อสารลดตระหนกในประชาชน ขณะที่สุวรรณภูมิตั้งป้ายชัดเดินทางมาจากแอฟริกาต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง มาจาก 3 ประเทศระบาดต้องเช็กอุณหภูมิร่างกาย



วันนี้ (1 ส.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับอธิบดีทุกกรม และผู้ตรวจราชการ สธ. เรื่องมาตรการรับมือโรคอีโบลา ว่า เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค (คร.) รายงานสถานการณ์โรคอีโบลาในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ำ คือ ยังไม่พบผู้ป่วย สำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันโรคนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. ส่วนกลาง มีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ (วอร์รูม) ทุกวัน และดูแลด่านต่างประเทศทุกท่าอากาศยานนานาชาติ เพื่อบันทึกข้อมูลผู้ที่เดินเข้ามาจากประเทศที่มีการระบาด ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบความปลอดภัยการส่งเชื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ โดยจะต้องส่งไปตรวจที่สหรัฐอเมริกา และกรมการแพทย์รับผิดชอบเรื่องของการรักษาพยาบาล

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า 2. ส่วนภูมิภาค ได้สั่งการให้ผู้ตรวจฯ ทุกเขตประสานงานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาด ถ้ามีอาการไข้ หรือมีอาการสอดคล้องกับโรคอีโบลาใน 21 วัน ต้องรายงานและสอบสวนโรคทันที นอกจากนี้ ให้ประสานกับ อสม. เพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงกับชุมชนไม่ให้เกิดความตระหนก และเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลทุกแห่ง เมื่อมีผู้สงสัยโรคอีโบลา และเตรียมรับสถานการณ์โดยเฉพาะห้องแยกผู้ป่วย

นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงโรคอีโบลาของไทย ใช้การประเมินเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป คือ ดูจากผู้ที่มีความเสี่ยง 3 กรณี คือ 1. คนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด และเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด รวมถึงมีพฤติกรรมสัมผัสโรค คนที่ทำพฤติกรรมทั้งหมดครบถือว่าน้อยมาก 2. คนในประเทศที่มีการระบาด หรือคนจากประเทศอื่นที่เดินทางไปในประเทศที่มีการระบาด และเดินทางมายังประเทศไทย เท่าที่รวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้ที่เดินทางมาจาก กินี เซียร์ราลีโอน และ ไลบีเรีย มีประมาณสัปดาห์ละ 30 คน ซึ่งก่อนเข้ามาประเทศไทยต้องได้รับการฉีดวัคซีนไข้เหลือง และผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อติดตามการมาอยู่ในประเทศไทย และ 3. การนำสัตว์เข้าประเทศ เช่น ชิมแปนซี กอริลลา จากการตรวจสอบกรมปศุสัตว์ ขณะนี้ความเสี่ยงในไทยถือว่าน้อยมาก

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า กรมฯจะมีการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง โดยเฉพาะด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ จะมีการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากประเทศที่พบโรค ซึ่งที่ผ่านมาพบ 285 ราย ในจำนวนนี้ 206 ราย ผ่านระยะฟักตัวของโรคเกิน 21 วันแล้ว อย่างไรก็ตาม จะมีการขอที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพื่อตรวจสอบอาการอย่างใกล้ชิดด้วย หากพบคนไข้ที่มีอาการอีโบลาก็ให้มีการส่งต่อเข้า รพ.บำราศนราดูร และ รพ.ราชวิถี และให้มีการป้องกันการติดเชื้อ ในโรงพยาบาล โดยย้ำเตือนให้เตรียมห้องแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อมายังบุคลากรทางการแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ข่าวที่ส่งต่อกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคอีโบลาที่ จ.จันทบุรี นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงพยาบาลกรุงเทพ-จันทบุรี พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชาย อายุ 39 ปี มีประวัติเดินทางติดต่อธุรกิจไปประเทศโมซัมบิก ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศที่มีการระบาดของเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด ส่วนอาการไข้หลังกลับจากการเดินทาง จากการตรวจสอบยืนยันแล้วว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ขณะนี้ยังอยู่ในห้องแยก จากกรณีนี้ชัดเจนว่า สธ. มีความไวของระบบในการเฝ้าระวัง ขออย่าตื่นตระหนก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด่านควบคุมโรค ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งป้ายเตือนผู้ที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา จะต้องผ่านการฉีดวัคซีนโรคไข้เหลือง จึงจะสามารถผ่านเข้าประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นมาตรการปกติของ สธ.ที่ว่า ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาจะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ก่อน นอกจากนี้ ยังมีการติดป้ายระบุด้วยว่า นักท่องเที่ยวหรือผู้ทีเดินทางมาจากประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งมีการระบาดของโรคอีโบลา จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อน สำหรับผู้ที่ผ่านการตรวจสามารถเข้าประเทศไทยได้นั้น จะได้รับบัตร Health Beware Card และจะมีการขอที่อยู่ในประเทศไทยและเบอร์โทรศัพท์เพื่อคอยติดตามสังเกตอาการ

นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว โดยมีการตรวจเข้มสายการบินที่มาจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะแอฟริกา ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศในกลุ่มดังกล่าว จะต้องแสดงเอกสารแสดงถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง และจะมีการตรวจสอบต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้มีสายการบินที่ทำการบินโดยตรงมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้ง 3 ประเทศ แต่มีสายการบินที่บินมาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา










ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น