xs
xsm
sm
md
lg

บินไทยจับตา“อีโบลา” สธ.แจงติดเชื้อยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“การบินไทย” สั่งติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสอีโบลาระบาดใกล้ชิด พร้อมกำชับผู้จัดการสถานีในพื้นที่เสี่ยงตรวจสอบข้อมูลเพื่อปรับมาตรการดูแลผู้โดยสารได้ทันเวลา เผยภาพรวมยังไม่มีผลกระทบต่อการเดินทางโดยเครื่องบิน ด้าน ทอท.เผยยังไม่มีคำเตือนให้ปรับรูปแบบการตรวจผู้โดยสาร ยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง สังเกตอาการตามปกติ สธ.วอน ปชช.อย่าตื่นตระหนก ไทยไม่ใช้พื้นที่เสี่ยง แถมไวรัสมรณะติดเชื้อยาก

วานนี้ (31 ก.ค.) ร.อ.ท.สุรพล อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในขณะนี้ว่า ในส่วนของการบินไทยได้ให้ศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน (CMOC) ของบริษัทติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างใกล้ชิด และรายงานข้อมูลตลอดเวลา เพื่อปรับมาตรการในการดูแลผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออกได้ทัน โดยขณะนี้กรณีการระบาดของไวรัสอีโบลานั้นยังไม่มีผลกระทบต่อการเดินทางโดยเครื่องบินมากนัก ซึ่งบริษัทฯ มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน โดยมีการติดามทุกสถานการณ์ในแต่ละจุดที่อยู่ในข่ายว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีจุดบินใดที่ต้องเพิ่มมาตรการเป็นพิเศษ ในแต่ละพื้นที่ที่มีโอกาสที่อาจจะได้รับผลกระทบนั้น บริษัทฯได้มีคำสั่งไปถึงผู้จัดการในแต่ละสถานีแล้วว่า ให้ติดตามข้อมูลในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและประสานกับส่วนกลางโดยตรง ซึ่งบริษัทฯมีมาตรการรับเหตุฉุกเฉินอยู่แล้วว่า มีขั้นตอนที่ต้องทำอะไรบ้าง โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงในแต่ละสถานการณ์

“ตอนนี้ถือได้ว่ายังไม่มีผลกระทบอะไรต่อการเดินทาง เป็นคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นว่า มีสถานการณ์เกิดขึ้น แต่บริษัทฯไม่ได้วางใจเพราะเคยมีประสบการณ์ทั้งโรคซาร์ส และไข้หวัดนกมาแล้ว ดังนั้นมาตรการต่างๆได้ถูกบรรจุในคู่มืออยู่แล้ว ไม่ใช่มาตรการใหม่อะไร รอเวลาที่จะนำมาตรการไปใช้หรือไม่เท่านั้น” ร.อ.ท.สุรพลกล่าว

** ทอท.สั่งเฝ้าระวังพิเศษ

ด้าน นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ทอท.ได้ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ซึ่งยังไม่มีคำเตือนให้ปรับรูปแบบการเดินทางเข้าออกผ่านทางสนามบินแต่อย่างใด โดยกระบวนการตรวจผู้โดยสารยังเป็นไปตามเดิม คือการเฝ้าระวังพิเศษ โดยสังเกตการณ์สำหรับผู้โดยสารที่มีอาการข้างเคียง หากพบจะนำผู้โดยสารไปตรวจร่างกายในพื้นที่ที่จัดไว้ และหากมีอาการบ่งชี้จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่ดำเนินการอยู่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตรวจพบผู้โดยสารรายใดมีอาการผิดปกติ

นายเมฆินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้โดยสารที่มาจาก 45 ประเทศเฝ้าระวังในทวีปแอฟริกา และ 4 ประเทศที่มีการแพร่ระบาด เช่น กินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอนนั้น ทอท.ได้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ โดยจะต้องแสดงใบรับรองผ่านการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีน (Certificate) ในชั้นแรกหากมีอาการต้องสงสัยจะถูกนำตัวเข้าศูนย์แพทย์ของ ทอท.ที่สนามบินก่อน เพื่อเฝ้าดูอาการทันที

“คาดว่า ในรอบ 1 เดือนจะมีผู้โดยสารที่เดินทางจาก 45 ประเทศแถบแอฟริกามายังสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 50-60 คนเท่านั้น ซึ่งมาตรการการตรวจสอบที่เข้มข้นจะไม่กระทบกับผู้โดยสารโดยรวมของสนามบิน และเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้าสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น” นายเมฆินทร์ กล่าว

** วธ.ให้ความรู้ผู้แสวงบุญร่วมพิธีฮัจญ์

ขณะที่ นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้ทางกระทรวงประชุมและวางแผนเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์กว่าหมื่นคน ในเดือนสิงหาคมนี้ ได้กำชับให้เฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะโรคซาร์สและไวรัสอีโบลา โดยจะต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองแก่ผู้แสวงบุญก่อนการเดินทาง ในระหว่างเดินทาง กรมการศาสนา ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดส่งทีมแพทย์กว่า 40 คนร่วมเดินทางไปกับคณะผู้แสวงบุญ เพื่อดูแลด้านสุขภาพ พร้อมแจกอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อ ซึ่งเป็นมาตรการ เฝ้าระวังทั้งก่อนเดินทางและระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์

“ภายหลังผู้แสวงบุญเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ยังเฝ้าระวังอาการป่วยของผู้แสวงบุญอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ฝากถึงผู้แสวงบุญ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที” นายอภินันท์ กล่าว

** ปลัด สธ.ชี้ไทยความเสี่ยงต่ำมาก

ทางด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ขอให้ประชาชนอย่าตระหนกกับข่าวดังกล่าว เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลา และมีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ไว้ 3 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการเฝ้าระวัง ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์จากองค์การอนามัย และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโลก เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาเฉพาะโรค จึงต้องมีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว หากพบผู้ป่วยมีอาการอยู่ในข่ายสงสัย ให้รายงานทันที 2.มาตรการดูแลรักษา ให้โรงพยาบาลทุกแห่งดูแลเข้มผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรการเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตรายสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส และ 3.มาตรการการตรวจวิเคราะห์ ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยมีความร่วมมือใกล้ชิดกับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่แล้ว

** ก.ควบคุมโรคยันติดเชื้อยาก
 

เช่นเดียวกับ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ระบุว่า สำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยมากกับการระบาดของไวรัสอีโบลา ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก โดยขณะนี้พบในทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งการเดินทางระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ไม่มีเที่ยวบินบินตรง การเฝ้าระวังตามคำแนะขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้แต่ละประเทศมีการเตือนประชาชน แต่ไม่ได้มีการห้ามเดินทาง สำหรับประเทศไทย ได้มีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ และติดตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการหากพบผู้ติดเชื้อ

ส่วน นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้ออีโบลานี้ ติดต่อจากการสัมผัสเลือด น้ำลายผู้ป่วย หรือสารคัดหลั่งเท่านั้น การติดเชื้ออีโบลาไม่ใช้ติดกันง่ายๆ ไม่ได้มีการติดต่อแพร่ระบาดเหมือนซาร์ส หรือโคโรนาไวรัส สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อ 2-21 วัน แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 8-10 วัน ซึ่งจะมีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ่มหรือผื่นตามตัว อาเจียนเป็นเลือด โอกาสติดเชื้อจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้

** “หมอผู้ค้นพบ” เชื่อไม่ลามสู่ภูมิภาคอื่น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศ.นพ. ปีเตอร์ ไพออต ผู้อำนวยการวิทยาลัยอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเชื้อไวรัสอีโบลาเมื่อปี 1976 กล่าวแสดงความมั่นใจว่า เชื้อไวรัสอีโบลาจะไม่แพร่ไปยังถูมิภาคอื่นๆ ต่อให้มีผู้ติดเชื้ออีโบลาเดินทางไปยังยุโรป สหรัฐฯ หรือพื้นที่อื่นๆในทวีปแอฟริกา ตนก็ไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้

“ผมยังไม่กังวลว่าจะเกิดการระบาดที่นี่เท่าใดนัก และไม่กลัวที่จะนั่งรถไฟติดกับผู้ป่วย ตราบใดที่เขาไม่อาเจียนใส่คุณหรืออะไรทำนองนั้น เพราะไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด” ศ.นพ.ไพออต ระบุ

** มะกันผวาสั่งถอนอาสาฯออก

อีกด้าน เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ ประธานาธิบดีประเทศไลบีเรีย กล่าวปราศรัยทางสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศว่า ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนทุกแห่งในประเทศปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด และเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มีความจำเป็นให้ปฏิบัติงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 30 วัน ในความพยายามที่จะยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา พร้อมขอความร่วมมือให้บริษัทและห้างร้านเอกชนหยุดงานในวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ฉีดสารเคมีและปรับแต่งสถานที่ให้ถูกสุขอนามัย

ขณะที่หน่วยอาสาสมัครสันติภาพสหรัฐฯ (พีซคอร์ป) ได้ประกาศอพยพเจ้าหน้าที่จำนวน 340 คนออกจากไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี แล้ว หลังแพทย์อาสาสมัคร 2 คนของซามาริทัน เพิร์ส หนึ่งในองค์กรแพทย์อาสาที่ร่วมงานกับพีซคอร์ป มีอาการป่วยเนื่องจากได้รับเชื้อไวรัสอีโบลา

“พีซคอร์ปส์ประกาศในวันนี้ถึงการตัดสินใจอพยพชั่วคราวของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากไลบีเรีย เซียรา ลีโอน และเกียนา เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา” รายงานจากแถลงการณ์ของพีซคอร์ปส์

โฆษกหน่วยอาสาสมัครสันติภาพ เปิดเผยว่า มีอาสาสมัคร 2 คนติดเชื้ออีโบลา หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อคนหนึ่งที่เสียชีวิตในภายหลัง ทั้งสองคนไม่แสดงอาการ แต่ถูกแยกเพื่อสังเกตทางการแพทย์แล้ว และจะถูกส่งตัวกลับอย่างปลอดภัยทันทีที่สามารถเดินทางกลับได้

หน่วยอาสาสมัครสันติภาพแถลงว่า จะติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิดร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ และกระทรวงต่างประเทศ ก่อนพิจารณาส่งอาสาสมัครกลับไป 3 ประเทศนี้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น