xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ผู้ค้นพบ “เชื้ออีโบลา” เชื่อไวรัสจะไม่แพร่กระจายสู่ภูมิภาคอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ปีเตอร์ ไพออต ผู้อำนวยการวิทยาลัยอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบเชื้อไวรัสอีโบลา
เอเอฟพี – แพทย์ผู้ค้นพบไวรัสมรณะ “อีโบลา” ซึ่งกำลังแพร่ระบาดหนักใน 3 ประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามสู่ภูมิภาคอื่นๆ พร้อมระบุว่าตนเองยินดีนั่งติดกับผู้ป่วยในขบวนรถไฟได้อย่างสบายใจ

ศ.นพ. ปีเตอร์ ไพออต ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีเมื่อวานนี้(30)ว่า กระแสความหวาดกลัวเชื้ออีโบลาและการที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในภาครัฐเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ไวรัสยิ่งแพร่ระบาดหนัก

นักวิทยาศาสตร์ชาวเบลเยียมซึ่งพำนักอยู่ในอังกฤษผู้นี้ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทดลองฉีดวัคซีนให้ผู้ติดเชื้ออีโบลา เพื่อให้ทั่วโลกมีความพร้อมหากไวรัสอันตรายชนิดนี้แพร่ระบาดอีกในอนาคต

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้ออีโบลาในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอนแล้วทั้งสิ้น 1,201 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 672 ราย

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก็ได้ออกมาเตือนว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาอาจรุนแรงยิ่งขึ้น หากไม่มียุทธศาสตร์รับมือที่ดีพอ

ไวรัสอีโบลาถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1976 โดย ไพออต ซึ่งขณะนั้นเป็นนักวิจัยวัย 27 ปี

ปัจจุบัน ศ.นพ.ไพออต เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)

ไพออต กล่าวว่า ต่อให้มีผู้ติดเชื้ออีโบลาเดินทางไปยังยุโรป สหรัฐฯ หรือพื้นที่อื่นๆ ในทวีปแอฟริกา “ผมก็ไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้”

“ผมยังไม่กังวลว่าจะเกิดการระบาดที่นี่เท่าใดนัก และไม่กลัวที่จะนั่งรถไฟติดกับผู้ป่วย ตราบใดที่เขาไม่อาเจียนใส่คุณหรืออะไรทำนองนั้น เพราะไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด”

เชื้ออีโบลาถูกค้นพบหลังจากห้องแล็บในเมืองแอนต์เวิร์ปซึ่ง ไพออต ทำงานอยู่ได้รับตัวอย่างเลือดของแม่ชีคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเสียชีวิตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือประเทศ “ซาอีร์” เดิม

จากตัวอย่างเลือดนี้ คณะนักวิจัยได้ทำการคัดแยกเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งภายหลังได้รับการยืนยันว่าเป็นเชื้ออีโบลา

ไพออต เดินทางไปยังหมู่บ้านยัมบูกูในจังหวัดอีเควเตอร์ของซาอีร์ ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา และพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุระหว่าง 20-30 ปีซึ่งเคยไปขอคำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์จากคลินิกท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

จากการตรวจสอบพบว่า ต้นเหตุการแพร่กระจายของไวรัสเกิดจากเข็มฉีดยาเพียงไม่กี่เข็มที่แพทย์ท้องถิ่นนำมาใช้ซ้ำ เพื่อฉีดยาแก่หญิงตั้งครรภ์

วัฒนธรรมการปลงศพก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

“เช่นเดียวกับหลายๆ วัฒนธรรม ชาวบ้านจะมีการอาบน้ำศพและนำศพมาวางแผ่ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ถูกกระทำด้วยมือเปล่า ไม่มีการสวมถุงมือป้องกัน และผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาก็จะมีไวรัสอยู่ทั่วร่างกาย เนื่องจากการอาเจียน ท้องร่วง และเลือดออก” ไพออต อธิบาย

แม้ปัจจุบันจะมีการทดลองวัคซีนอีโบลาซึ่งได้ผลดีในสัตว์ แต่ ไพออต ย้ำถึงความจำเป็นในการทดลองฉีดวัคซีนในมนุษย์ด้วย

“ผมว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทดลองฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วย อย่างน้อยก็ในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ เพื่อดูว่ามันจะได้ผลจริงหรือไม่ และเพื่อที่เราจะได้มีความพร้อมหากเกิดการแพร่ระบาดในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น