สนามบินสุวรรณภูมิเผย 7 มาตรการเข้มข้นป้องกันเชื้ออีโบลา โดยเฝ้าระวังเข้มงวดผู้เดินทางที่มาจากกินี ไลบีเรีย และเซียร์รา ลีโอน ตั้งแต่ 8 มิ.ย.ผ่านสุวรรณภูมิรวม 285 คน หรือประมาณ 30-50 คน/สัปดาห์ ซึ่งต้องให้แสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองตามประกาศของกรมควบคุมโรค และต้องให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านตรวจประเมินทุกรายก่อนตรวจลงตราเข้าประเทศอีกด้วย
รายงานข่าวจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรณีการระบาดของอีโบลาว่า ด่านควบคุมโรคมีระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ผิดปกติทางสาธารณสุขในต่างประเทศ โดยการติดตามข่าวสารและสถานการณ์โรคระบาดต่างๆ ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง (Media surveillance) มาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยระบบนี้ทำให้ด่านฯ สามารถติดตามสถานการณ์ของข่าวสารการระบาดของโรคต่างๆ ในต่างประเทศ รวมทั้งข่าวการระบาดของโรคอีโบลามาตั้งแต่ต้น ซึ่งต่อมาเมื่อข่าวการระบาดของอีโบลาในต่างประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น ด่านฯ จึงเริ่มเข้มงวดมาตรการต่างๆ ดังนี้
1. เข้มงวดเฝ้าระวัง ผู้เดินทางที่มาจากประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์รา ลีโอน ตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา และรายงานผลการเฝ้าระวังให้แก่ผู้บริหารเป็นประจำทุกสัปดาห์
2. ประสานขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ในการส่งผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดในช่วง 21 วันที่ผ่านมา ให้มาตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคฯ
3. ตรวจคัดกรองผู้เดินทางสงสัยป่วย โดยการสังเกตและให้ผู้เดินทางสำแดงเอกสารสำแดงสถานะสุขภาพของผู้เดินทาง (health declaration form หรือ แบบ ต.8) และแจกคำแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้เดินทาง (health beware card) โดยในเอกสารคำแนะนำสุขภาพมีสาระสำคัญว่า ให้ผู้เดินทางสังเกตอาการเจ็บป่วยของตนเองขณะอยู่ในเมืองไทย หากเจ็บป่วยรีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเจ็บป่วย หากมีข้อสงสัยโทร.สายด่วนกรมควบคุมโรค
4. แจ้งเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสนามบิน ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สายการบิน เป็นต้น เพื่อให้ทราบสถานการณ์ ผ่านคณะทำงานพัฒนาสมรรถนะหลักช่องทางเข้าออกประเทศ ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548
5. ประชุมร่วมกับฝ่ายแพทย์ ท่าอากาศยานไทย เพื่อทบทวนแนวทางการแจ้งเตือน การดูแลผู้ป่วย และการส่งต่อผู้ป่วย
6. จัดแสดงป้ายคำเตือนประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ผู้เดินทาง มากกว่า 10 จุดทั่วสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งจุดรอรับสัมภาระ
7. จัดเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านฯ ยืนสังเกตผู้เดินทางที่มีอาการสงสัยป่วย ที่หน้าประตูทางเข้าเพื่อแยกผู้ป่วย เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
โดยผลการดำเนินงานเฝ้าระวังโรคอีโบลาจากการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พบว่าผู้เดินทางจาก 3 ประเทศดังกล่าวนิยมเดินทางเข้ามาประเทศไทยผ่านช่องทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก โดยมียอดผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศประมาณ 30-50 คนต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่ถือวีซ่าท่องเที่ยว ทั้งนี้ไม่มีเครื่องบินบินตรงจากประเทศดังกล่าว ผู้เดินทางนิยมเดินทางจากประเทศต้นทางมาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินเคนยาและต่อเครื่องมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ สายการบินที่ผู้เดินทางจากสามประเทศดังกล่าวนิยมคือ สายการบินเคนยาแอร์ไลน์ และเอธิโอเปียแอร์ไลน์ ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยสองเที่ยวต่อวัน
ทั้งนี้ ผู้เดินทางที่มาจากสามประเทศดังกล่าวเป็น 3 ใน 45 ประเทศ ที่ประเทศไทยกำหนดให้ต้องแสดงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ตามประกาศของกรมควบคุมโรค ดังนั้นผู้เดินทางทุกคนจากทั้งสามประเทศต้องให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านตรวจประเมินทุกรายก่อนตรวจลงตราเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 จนถึง ปัจจุบันมีผู้เดินทางจากทั้งสามประเทศจำนวนทั้งสิ้น 285 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศกินี ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 73% เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคเกิน 21 วัน และไม่พบผู้เดินทางที่มีอาการสงสัยว่าป่วย