เอเอฟพี - โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเอมอรีในสหรัฐฯ (Emory University Hospital) เตรียมรับผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลารายหนึ่งเข้ารักษาตัวในแผนกกักกันพิเศษ ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ข่าวการส่งตัวผู้ติดเชื้อมรณะมายังสหรัฐฯ ถูกประกาศเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่หน่วยงานสาธารณสุขอเมริกันออกคำเตือนให้พลเมืองหลีกเลี่ยงเดินทางไปยัง 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตกที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า สถานการณ์การระบาดล่าสุดทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 729 รายในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา
ไวรัสอีโบลาซึ่งทำให้ผู้ป่วยเลือดออกในอวัยวะต่างๆ อาจมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 แต่ปัจจุบันสถิติการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ร้อยละ 60
“โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเอมอรีได้รับแจ้งมาว่า จะมีการส่งตัวผู้ติดเชื้ออีโบลารายหนึ่งมายังแผนกกักกันพิเศษในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้” สถานพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียแถลง
โรงพยาบาลยืนยันว่า มีแผนกพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรงซึ่งเป็นความร่วมมือกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี) ซึ่งผู้ติดเชื้อ “จะถูกแยกออกจากคนไข้ประเภทอื่น มีอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะที่จะช่วยให้เกิดภาวะโดดเดี่ยวทางคลินิก (clinical isolation) อย่างสูง”
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ป่วยอีโบลาที่จะถูกส่งมารักษาตัวในสหรัฐฯ คือ 1 ใน 2 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอเมริกันซึ่งได้รับเชื้อในไลบีเรียหรือไม่
เวลานี้ทั้งสองรายถูกระบุว่า “อาการเพียบหนักแต่คงที่”
ขณะเดียวกัน มีรายงานจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นซึ่งอ้างแหล่งข่าวไม่ระบุนามว่า สหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำออกจากรัฐจอร์เจียเพื่อรับตัวเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 รายออกจากไลบีเรียแล้ว
ซีเอ็นเอ็น ยังอ้างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเอมอรีซึ่งยืนยันว่า ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 1 รายจะถูกส่งไปรักษาที่นั่น ทว่า เมื่อผู้สื่อข่าวเอเอฟพีพยายามติดต่อโรงพยาบาลเพื่อสอบถามข้อมูล กลับยังไม่ได้รับคำตอบ
ก่อนหน้านั้น โจช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ยอมรับว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะอพยพอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ชาวอเมริกัน 2 รายที่ติดเชื้ออีโบลาออกมาจากพื้นที่
“กระทรวงการต่างประเทศและซีดีซี กำลังมองหาทางเลือกที่เหมาะสมในการอพยพผู้ป่วยชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาสาสมัครบรรเทาทุกข์” เออร์เนสต์กล่าว
ด้าน มารี ฮาร์ฟ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า “เราจะมีมาตรการป้องกันทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้ป่วยเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพและปลอดภัย โดยจะมีการรักษาพยาบาลขั้นวิกฤตตลอดเส้นทาง และแยกผู้ป่วยอย่างเข้มงวดเมื่อเดินทางถึงสหรัฐฯ”
ซีดีซี เตือนพลเมืองสหรัฐฯ ที่ไม่มีกิจธุระจำเป็นให้หลีกเลี่ยงเดินทางไปยังกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอนในระยะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทอม ฟรีเดน ผู้อำนวยการซีดีซี เน้นย้ำว่า การจะติดเชื้ออีโบลาได้ต้องเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวจากร่างกายผู้ป่วยที่เริ่มแสดงอาการไข้ อาเจียน และท้องร่วง เท่านั้น
เดือนสิงหาคมนี้ ซีดีซี เตรียมที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษอีก 50 คนไปยังพื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุยังไม่มีแผนปิดสถานทูตหรือลดจำนวนเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศดังกล่าว