เอเจนซีส์ - องค์กรการกุศลคริสเตียน Samaritan’s Purse เปิดเผยเมื่อวานนี้ (3 ส.ค) ว่า นายแพทย์เคนต์ แบรนต์ลีย์ (Kent Brantly) ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นรายแรกของสหรัฐฯ ในขณะปฏิบัติงานนั้นได้รับเซรุมขั้นทดลองในไลบีเรียก่อนที่จะขึ้นเครื่องและบินกลับสหรัฐฯ และในขณะนี้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ
NBC News สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (3) ว่า นายแพทย์เคนต์ แบรนต์ลีย์ (Kent Brantly) วัย 33 ปี ได้รับเซรุมขั้นทดลองก่อนที่เขาจะเดินทางจากไลบีเรียกลับมาถึงสหรัฐฯ ในเช้าวันเสาร์ (2) ที่คาดว่าอาจเป็นเลือด 1 ยูนิตที่มีแอนติบอดี้ของคนไข้เด็กชายวัย 14 ปีชาวพื้นเมืองที่แบรตลีย์สามารถช่วยชีวิตไว้ได้สำเร็จ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า “เซรุมขั้นทดลอง” ที่ว่านี้ที่ทาง Samaritan’s Purse จัดให้คืออะไรกันแน่
องค์กรการกุศลคริสเตียน Samaritan’s Purse ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (3) ว่า ทางองค์กรรู้สึกยินที่ทราบว่าอาการของเคนต์ แบรนต์ลีย์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทางองค์กรการกุศลคริสเตียนแห่งนี้ออกแถลงข่าวว่า มีเซรุม 1 โดสในขั้นทดลองที่เพียงพอสำหรับคนไข้ 1 คนเท่านั้นและได้ถูกจัดส่งไปจากสหรัฐฯ สำหรับคนไข้ติดเชื้อชาวอเมริกันในไลบีเรีย และแนนซี ไรท์โบล (Nancy Writebol) ผู้ช่วยชาวอเมริกันที่เป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ของสหรัฐฯ จะได้รับเซรุมขั้นทดลองนี้จากการเสียสละของแบรนต์ลีย์ ซึ่ง NBC Newsรายงานยืนยันในวันอาทิตย์ (3) ว่าไรท์โบลได้รับเซรุมขั้นทดลองด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ CNN สื่อสหรัฐฯ ยังรายงานว่า คาดว่าฟินิกซ์ แอร์ (Phoenix Air) ที่เชี่ยวชาญในการขนส่งฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยครบถ้วน รวมไปถึงมีการติดตั้งเต็นท์กักกันพิเศษสำหรับภัยชีวภาพขั้นร้ายแรงจะนำไรท์โบลถึงแอตแลนตา รัฐจอร์เจียในวันอังคาร (5) เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรีแห่งนี้เช่นเดียวกัน
ในขณะนี้โรคอีโบลายังไม่มีการรักษา ซึ่งแนวทางการรักษาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรีที่จะทำคือต้องการให้ผู้ป่วยมีชีวิตนานที่สุดเพื่อจะให้ร่างกายเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมไวรัสร้ายเอง และนายแพทย์โทมัส ฟรีเดน (Thomas Frieden) ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมีต เดอะ เพรส ของทีวีเน็ตเวิร์กสหรัฐฯ MSNBC เมื่อวานนี้ (3)ว่า โดยส่วนตัวยังไม่ทราบว่า การรักษาแบบไหนที่ทาง Samaritan’s Purse ได้ให้กับแบรนต์ลีย์ก่อนบินกลับสู่สหรัฐฯ ซึ่งในขณะนี้มีการคิดค้นอยู่หลายวิธีด้วยกัน และการที่แบรนต์ลีย์มีอาการดีขึ้นอาจเป็นเพราะก่อนที่เขาจะติดเชื้อ แพทย์ผู้นี้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นทุนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ฟรีเดนยังยืนยันให้ชาวอเมริกันสบายใจว่า การนำผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา 2 รายเข้าแผ่นดินสหรัฐฯ จะไม่เป็นการนำหายนะเข้าสู่ประเทศ เพราะทาง CDC มีมาตรการรับมือที่เข้มข้น “หน้าที่ของ CDC ด้านสาธารณสุขคือ การทำให้แน่ใจว่าหากจะนำพลเมืองสหรัฐฯ ที่ติดเชื้อโรคระบาดขั้นร้ายแรงกลับสู่บ้านเกิด ทาง CDC ต้องสามารถป้องกันพลเมืองอเมริกันอื่นๆ ในประเทศไม่ให้ตกเป็นเหยื่อไวรัสร้ายด้วยเช่นกัน” ฟรีเดนกล่าว
ในขณะที่พลเมืองอเมริกันยังมีทางเลือกในการรักษาโรคร้ายนี้โดยเดินทางกลับสู่สหรัฐฯ แต่ชาวแอฟริกันในภูมิภาคที่เกิดโรคระบาดไม่มีทางเลือกเช่นนี้ และดูเหมือนสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลากว่า 1,300 คนในเซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรียนับตั้งแต่เกิดการระบาดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางองค์การอนามัยโลกได้คาดการว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายที่มีอัตราการตายอยู่ที่ 60% ในการระบาดครั้งล่าสุดร่วม 729 ราย และในอีก 30 วันทาง CDC จะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจำนวน 50 คนจากสหรัฐฯ ไปยัง 3 ประเทศต้นการระบาดเพื่อหาทางรับมือไม่ให้ลุกลามไปภูมิภาคอื่นของโลก
ทั้งนี้ นายแพทย์ซาเจย์ กุปตา (Sanjay Gupta) หัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านการแพทย์ประจำ CNN สื่อสหรัฐฯ ให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญว่า คนทั้งโลกอาจจะได้เห็นโรคอีโบลาระบาดไปทั่วทั้งโลกก็เป็นได้ และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในระดับโลกมีศักยภาพในการรับมือได้ดีกว่าประเทศอื่น ซึ่งหากว่าสามารถแยกผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาได้เร็วที่สุด และทำการวิเคราะห์สารคัดหลั่งทางร่างกาย รวมไปถึงเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาวิธีรักษา ที่เรียกว่า “Supportive Therapy” และป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นพาหะของการระบาดอาจจะยังพอมีหวังถึงข่าวดีในการหยุดการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามได้