เอเจนซีส์ /เอพี - นายแพทย์เคนต์ แบรนต์ลีย์ (Kent Brantly) ในชุดป้องกันภัยชีวภาพเดินออกจากรถพยายาลฉุกเฉินเข้าแอดมิตที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ในวันเสาร์ (2) เพื่อเข้ารับการรักษาในหน่วยป้องกันภัยชีวภาพฉุกเฉินระดับสูงที่แยกพิเศษ ในขณะที่สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ถูกชาวอเมริกันนับร้อยทั้งอีเมลและโทรศัพท์คุกคาม รวมไปถึงร้องเรียนประนามการตัดสินใจนำผู้ติดเชื้อโรคที่ยังไม่มีทางรักษาเข้าสู่แผ่นดินอเมริกา
นายแพทย์เคนต์ แบรนต์ลีย์ (Kent Brantly) วัย 33 ปี หนึ่งในสองของพลเมืองสหรัฐฯที่ติดเชื้อไวรัสมรณะในไลบีเรียทำงานให้กับองค์กรสาธารณกุศล Christian charity organization Samaritan's Purse ถูกส่งตัวมาจากเที่ยวบินพิเศษที่ถูกออกแบบเพื่อป้องกันแพร่กระจายของโรคเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ได้ออกจากสนามบินกองทัพอากาศ Dobbins Air Force Base รัฐจอร์เจียเมื่อวานนี้ (2) ในเวลา 11.20 น. และถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย จาก CNN สื่อสหรัฐฯ ปรากฏภาพแบรนต์ลีย์ในชุดป้องกันเชื้อชีวภาพสามารถเดินออกมาจากรถพยาบาลฉุกเฉินได้ด้วยตนเอง โดยมีผู้ช่วยที่อยู่ในชุดป้องกันชีวภาพเช่นเดียวกันพยุงเข้าสู่ตัวโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 แห่งในอเมริกาที่มีสเปเชียลยูนิตออกแบบเป็นพิเศษสำหรับโรคติดต่อขั้นร้ายแรง
และคาดว่า แนนซี ไรท์โบล (Nancy Writebol) ผู้ช่วยชาวอเมริกันที่เป็นคนไข้ติดเชื้อไวรัสมรณะรายที่ 2 จะเดินทางจากไลบีเรียเข้าสู่สหรัฐฯ เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเดียวกันในวันจันทร์ (4)
ทางองค์การ Christian charity organization Samaritan's Purse แถลงว่า แบรนต์ลีได้พบกับแอมเบอร์ (Amber) ภรรยาของเขาเป็นเวลา 45 นาที และเธอได้เปิดเผยว่า แบรนต์ลีย์มีกำลังใจดีมากและรู้สึกยินดีมาก นอกจากนี้ ทั้งน้องสาวรวมถึงบิดาและมารดาของแบรตลีย์ได้เดินทางมาที่แอตแลนตาด้วยเช่นกัน แต่บุตรของแบรนต์ลีย์ในวัย 3 ปี และ 5 ปีตามลำดับไม่ได้เดินทางมาด้วย
“แบรนต์ลีย์รู้สึกมีความสุขและยินดีในการเดินทางกลับเข้าสู่สหรัฐฯ ในครั้งนี้ และทางครอบครัวรู้สึกโล่งใจในการต้อนรับการกลับบ้าน” แอมเบอร์ แบรนต์ลีย์กล่าวผ่านแถลงการณ์
และตัวแทนจากทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรีแถลงถึงความมั่นใจในการรับมือไวรัสอีโบลาไม่ให้ระบาดในอเมริกาว่า “ในหน่วยกักกันทางชีวภาพพิเศษได้ติดตั้งอุปกรณ์มากมายที่มีวิทยาการล้ำหน้าถูกออกแบบเพื่อการรับมือภัยทางชีวภาพขั้นร้ายแรง ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 แห่งของสถาบันทางการแพทย์ในสหรัฐฯที่มีหน่วยกักกันพิเศษทางภัยชีวภาพเช่นนี้ และนอกเหนือจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมรับมือ"
ด้านเจย์ วาร์คีย์ (Jay Varkey) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อขั้นร้ายแรงที่จะเป็นหนึ่งในทีมให้การรักษาแบรนต์ลีย์ให้ความเห็นว่า “ผมรู้สึกปลอดภัยที่จะให้การรักษาผู้ป่วยภายในยูนิตพิเศษของโรงพยาลาลแห่งนี้ซึ่งจะทำในห้องพิเศษที่แยกออกมาต่างหาก และผู้เข้าเยี่ยมหรือญาติจะสามารถเข้าเยี่ยม พูดคุยและมองผ่านทางด้านหลังที่มีกระจกหน้ากั้นอยู่อีกชั้นหนึ่ง”
WXIA รายงานว่า หน่วยกักกันพิเศษของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรีตั้งอยู่ชั้นล่างของโรงพยาบาลประกอบไปด้วย 3 เตียงที่อยู่ภายใต้ระบบมาตรฐานสูงสุดของการจัดการความกดอากาศที่เป็นลบ และระบบกรองอากาศ HEPA ทั้งนี้ “ความกดอากาศที่เป็นลบ” หมายความว่า อากาศไหลเข้าไปแต่ไม่สามารถรอดออกมาได้จนกว่าจะกรองเชื้อโรคออกจากตัวคนไข้แล้วเท่านั้น
“เมื่อหน่วยกักกันพิเศษแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้น ทางเราหวังว่าจะไม่ต้องรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคระบาดขั้นร้ายแรงในอวกาศ” บรูซ ริบเนอร์ (Bruce Ribner) นักระบาดวิทยาประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรีที่จะเป็นอีกคนหนึ่งในทีมให้การรักษาผู้ป่วยทั้งสองให้ความเห็น และกล่าวเพิ่มเติมว่า “จะไม่มีการนำสิ่งติดเชื้อออกภายนอกหน่วยกักกันพิเศษจนกว่าจะปลอดเชื้อแล้วเท่านั้น”
และสำหรับว่า แนนซี ไรท์โบล ผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาอีกคนจะถูกนำขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันกับที่นำแบรนต์ลีย์กลับบ้าน โดยChristian charity organization Samaritan's Purse ที่เธอสังกัดอยู่แถลงถึงอาการของไรท์โบลว่า เธอมีอาการหนักแต่ยังทรงตัว “พวกเราแทบรอไม่ไหวที่จะนำเธอกลับบ้าน” บรูซ จอห์นสัน (Bruce Johnson)ประธานขององค์กรประจำสหรัฐฯแถลง
ในขณะเดียวกัน ข่าวการตัดสินใจการนำผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลากลับมารักษาที่สหรัฐฯแพร่ออกไปในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้มีผู้คนจำนวนมากไม่พอใจ สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ถูกชาวอเมริกันนับร้อยทั้งอีเมลและโทรศัพท์ขู่คุกคามและร้องเรียนประนามการตัดสินใจนำผู้ติดเชื้อโรคที่ยังไม่มีทางรักษาเข้าสู่แผ่นดินอเมริกา
ในวันพฤหัสบดี (31 กรกฎาคม) โดนัลด์ ทรัมพ์ นักธุรกิขอเมริกันที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ทวีตในเย็นวันนั้นว่า “ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะถูกส่งตัวมาที่สหรัฐฯ ในไม่กี่วันนี้ และเราได้รู้ว่าบรรดาผู้นำของประเทศนี้ไม่ได้เรื่อง ส่งตัวพวกผู้ติดเชื้ออออกนอกประเทศเดี๋ยวนี้!!!”
โดยบรรดาชาวอเมริกันจำนวนมากหวาดวิตกว่า ทาง CDCจะไม่สามารถรับมือกับเชื้อร้ายนี้ไม่ให้แพร่ออกมาสู่สาธารณะได้ ซึ่งเชื้อไวรัสอีโบลาทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตถึง 60% โดยการสัมผัสผ่านของเหลวทางร่างกายของผู้ติดเชื้อ แต่เชื้อโรคจะไม่แพร่ไปในอากาศด้วยตัวมันเอง และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในแอฟริกาไปแล้วกว่า 700 คนล่าสุด แต่ทว่าทางผู้เชี่ยวชาญประจำ CDC แสดงความมั่นใจว่า ชาวอเมริกันจะมีความเสี่ยง 0%ในการติดเชื้อจากคนไข้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโมรี
ทอม ฟรีเดน (Tom Frieden) ผู้อำนวยการ CDC ให้สัมภาษณ์กับเอพีเมื่อวานนี้(2)ว่า “มีข้อความต่อว่า “CDC กล้าดียังไงจึงอนุญาตให้นำตัวผู้ติดเชื้อเข้ามาสู่สหรัฐฯ แต่ผมหวังว่าความกลัวของคนอเมริกันจะไม่เป็นอุปสรรคกับเราที่มีความตั้งใจดีต่อการนำพลเมืองของประเทศที่กำลังป่วยกลับมารักษาที่ประเทศบ้านเกิดของพวกเขา” ฟรีเดนกล่าว
ในชั้นการรักษาโรคอีโบลาในขณะนี้ ยังไม่สามารถผลิตยาเพื่อรักษาโรคนี้ได้โดยตรง แต่ทว่าในขั้นทดลองระดับคลีนิก มีการผลิตตัวยาขึ้นซึ่ง “เพียงพอสำหรับคนไข้เพียงคนเดียว” เท่านั้นในขณะนี้ และแบรนต์ลีย์ยืนยันที่จะให้ไรท์โบลได้รับตัวยานี้ก่อนเขา โดยนายแพทย์ผู้นี้ที่ทำงานอยู่ในแอฟริกาต่อสู้กับโรคอีโบลา และเอพีรายงานเพิ่มเติมว่าแบรตลีย์ในขณะที่อยู่ในแอฟริกาฝากความหวังไว้กับการถ่ายเลือดที่มีแอนติบอดี้จากผู้ป่วยเด็กชายวัย 14 ปีซึ่งเป็นหนึ่งในคนไข้ของเขาเพื่อผลิตเซรุม โดยต้องขอบคุณแพทย์ที่สามารถช่วยชีวิตคนไข้เด็กรายได้สำเร็จ
และ CDC แถลงเพิ่มเติมในวันศุกร์ (1) ว่า ในด้านการรักษาแบรนต์ลีย์และไรท์โบลนั้น ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลันอีโมรีจะใช้วิทยาการสมัยใหม่ทุกวิถีทางในการรักษาคนไข้ทั้งสองเนื่องจากในขณะนี้ยังไม่สามารถค้นพบวิธีรักษาโรคนี้ได้สำเร็จ “เราหวังพึ่งระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายในการควบคุมไวรัส และที่เราต้องทำคือการทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่นานที่สุดเพื่อทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถควบคุมโรคนี้ได้ด้วยตัวเอง” ริบเนอร์ให้สัมภาษณ์