xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยกระดับคุม “อีโบลา” เซ็นประกาศโรคติดต่ออันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. ยกระดับมาตรการควบคุม “โรคอีโบลา” เซ็นประกาศ 4 ฉบับเตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นโรคติดต่ออันตราย พร้อมระบุพื้นที่ติดเชื้อ 3 ประเทศ พ่วง 1 เมือง ระบุเหลือผู้มาจากประเทศระบาดต้องติดตาม 79 ราย ยังไม่พ้นฟักตัวของโรค ยันติดตามอาการทุกวัน

วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมวอร์รูมโรคติดเชื้ออีโบลา ว่า จากการที่องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ได้ยกระดับโรคอีโบลาให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินสากลนั้น สธ. จึงวางมาตรการโดยการออกประกาศ 4 ฉบับ คือ 1. ประกาศเป็นโรคติดต่อ 2. ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3. ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และ 4. ประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และ 1 เมือง คือ เมืองลากอส เมืองหลวงของไนจีเรีย ซึ่งตนจะลงนามในวันที่ 13 ส.ค. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.สาธารณสุข จากนั้นจะส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศ 1 วัน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมโรคได้เข้มข้นมากขึ้น

“ในวันที่ 14 ส.ค. จะมีการประชุมความคืบหน้าอีกครั้งว่าควรมีการเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง รวมถึงจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งจะมีหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในสัปดาห์หน้า” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า แม้จะมีการออกประกาศประเทศดินแดนติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ยังไม่มีคำสั่งห้ามเดินทางไปยัง 3 ประเทศ 1 เมือง แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้แนะนำแล้วว่าควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นต้องไปก็ต้องมีการป้องกันตัว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า การออกประกาศเป็นโรคติดต่อ โรคติดต่อต้องแจ้งความ และโรคติดต่ออันตราย จะช่วยให้พนักงานสาธารณสุข ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ รวมถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ มั่นใจว่าสามารถควบคุมโรคไม่ให้ระบาดได้หากมาถึงประเทศไทย แต่โอกาสเสี่ยงเข้าประเทศนั้นยังน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ได้ออกประกาศเป็นกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็มีการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น

นพ.โอภาส สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้ออีโบลานั้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 11 ส.ค. พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว 1,848 ราย เสียชีวิต 1,013 ราย อัตราการเสียชีวิตลดลงจากเดิม 90% เหลือประมาณ 50-60% เนื่องจากแพทย์มีความเข้าใจในพยาธิสภาพของโรคมากขึ้น รักษาได้ดีขึ้น เช่น มีเลือดออกก็ให้เลือด มีอาการแทรกซ้อนก็ให้ยา เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยัง 3 ประเทศ และ 1 เมือง ที่มีการระบาด นพ.โอภาส กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้ามาทั้งหมด 483 ราย ทั้งหมดสบายดี ตอนนี้ยังเหลือคนที่ต้องติดตามภายใน 21 วัน ตามระยะการฟักตัวของโรคอีก 79 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางไปในพื้นที่ระบาด 1 ราย แต่พบว่ายังสบายดีทุกคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามอาการของคนเหล่านี้ทุกวัน ซึ่งหลายพื้นที่ตอนนี้อย่าง สสจ.ร้อยเอ็ด ก็มีการติดตามอาการคนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ระบาดทุกวัน สำหรับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่ที่มีการระบาดจะมีการตรวจอาการ วัดอุณหภูมิร่างกายอย่างละเอียด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน เพราะทำได้ทำละเอียดกว่าและเป็นรายบุคคล ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรเหมือนเครื่องเทอร์โมสแกน

สำหรับยารักษาโรคซีแมฟ นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยปกติองค์การอนามัยโลกไม่อนุญาตให้นำยาที่ยังไม่ผ่านการทดลองในคนออกมาใช้ แต่กรณีนี้เห็นว่าเป็นโรคที่อันตรายสูงและประชาชนหวาดกลัวมาก จึงอนุญาตให้นำมาใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถร้องขอและนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย

พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสอีโบลาทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่มีประเทศใด รวมถึงไทยที่ตรวจยืนยันเชื้อได้ ต้องส่งไปตรวจยยืนยันที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา การดำเนินการตรวจภายในประเทศจะเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นว่าใช่หรือไม่ใช่เชื้อนี้เท่านั้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น