เอเอฟพี – ประธานาธิบดี เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในไลบีเรียตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้ (6) เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งหรัฐฯ ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะส่งตัวยาในขั้นทดลองให้กับผู้ป่วยในแอฟริกา
ขณะการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเมื่อช่วงกลางดึกวันพุธ (6) ประธานาธิบดี เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ได้เตือนด้วยว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษทั้งหลาย “เพื่อความอยู่รอดของประเทศเรา”
รัฐสภาไลบีเรียจะประชุมกันในวันนี้ (7) เพื่ออนุมัติการประกาศนี้ ขณะที่รัฐสภาเซียร์ราลีโอนก็จะจัดการประชุมเช่นกัน ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ประธานาธิบดี เซอร์ลีฟ ระบุว่า มี“ภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและเห็นได้อย่างชัดเจน” จากเชื้อไวรัส ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนในแอฟริกาตะวันตกไปแล้วเกือบ 1,000 ราย พร้อมแถลงว่า การใช้ภาวะฉุกเฉินควรดำเนินต่อไปเป็นเวลาอย่างต่ำที่สุด 90 วัน
ปัจจุบันมีชาวไลบีเรียราว 300 คนติดเชื้อไวรัสเขตร้อนชนิดนี้ ที่ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในบริเวณพื้นที่ป่าของแอฟริกาตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยมากกว่าครึ่งของผู้ที่ติดเชื้อได้เสียชีวิตแล้ว
“การคุกคามนี้ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง” เซอร์ลีฟ กล่าวเตือน
เธอกล่าวต่อว่า “ การขาดความรู้ความเข้าใจ , ความยากจน ตลอดจนพิธีกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ยึดถือกันอย่างเหนียวแน่นมั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสย่ำแย่ลงไปทุกขณะ”
ก่อนหน้านี้ ผู้นำหญิงไลบีเรียได้เรียกร้องมีการอดอาหารและสวดภาวนาเป็นเวลา 3 วันเพื่อวิงวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ช่วยปัดเป่าการแพร่ระบาดของอีโบลาครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศของเธอ
เธอกล่าวในการแถลงใช้ภาวะฉุกเฉินว่า “ในตอนนี้ขอบเขตและระดับของการแพร่ระบาด รวมทั้งการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากเชื้อมรณะชนิดนี้เกินกว่าความสามารถและภาระหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งแล้ว”
ท่ามกลางเสียงเรียงร้องขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่กำลังดังมากขึ้นเรื่อย โอบามา ออกมากล่าวยืนยันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะส่งตัวยาซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลองไปยังรักษาผู้ป่วยเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกา
เมื่อไม่กี่วันมานี้ พลเมืองอเมริกัน 2 รายที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบรรเทาทุกข์ของคริสต์ศาสนาในไลบีเรียได้ถูกส่งตัวกลับมาที่สหรัฐฯ เพื่อรับการรักษา เนื่องจากติดเชื้อไวรัสีโบลา
พวกเขาได้รับตัวยาขั้นทดลองที่มีชื่อว่า “ZMapp” ซึ่งเป็นตัวยาที่ยากจะผลิตในปริมาณมากและแพทย์ที่รักษาระบุว่ามีสัญญานที่อาการของคนไข้กำลังกระเตื้องขึ้น
องค์การอนามัยโลก (ฮู) เผยวานนี้ (6) ว่า นับตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี ยอดผู้เสียชีวิตย่างเป็นทางการล่าสุดทั่วทั้งแอฟริกาตะวันตกอยู่ที่ 932 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1,711 ราย ส่วนมากอยู่ในกินี , ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน
นอกจากนี้ ในขณะนี้ยังมีความหวั่นวิตกเพิ่มขึ้นว่า เชื้อไวรัสจะลุกลามเข้าไปในไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของแอฟริกาอีก หลังจากมีผู้เสียชีวิตเป็นคนที่สองจากผู้ติดเชื้อ 7 รายในนครลากอส
การเสียชีวิตของพยาบาลใน ลากอส มหานครที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน มีขึ้นขณะที่มีการยืนยันแล้วว่าทั่วแอฟริกาตะวันตกระหว่างช่วงวันเสาร์-วันจันทร์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ไป 45 ราย โดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆ รวมถึงองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ระบุว่า เชื้อไวรัสเขตร้อนที่น่าพรั่งพรึงนี้ไม่สามารถควบคุมไว้ได้แล้ว
ออนเยบูชี ชุควู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งไนจีเรียบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขากำลังติดต่อกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปได้ที่จะขอตัวยารักษาจากพวกเขา
“ผมพูดกับพวกเขาว่า .....เราได้รับรายงานว่าตัวยาขั้นทดลองดังกล่าวดูเหมือนจะใช้การได้ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถมีโอกาสใช้มันกับประชาชนของเราที่กำลังรับการรักษาและอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อโรค” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม โอบามา กล่าวว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบควรมุ่งความสนใจไปที่การสร้าง “โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่เข้มแข็งมากกว่า” และเสริมว่า “ผมไม่คิดว่ามีข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนแล้วในเรื่องที่ว่าตัวยานี้ช่วยในการรักษาได้หรือไม่มากน้องเพียงใด”
ชุควู กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อทั้ง 7 กรณีในประเทศของเขามี “การสัมผัสเบื้องต้น” กับ แพทริค ซอว์เยอร์ ลูกจ้างกระทรวงการคลังไลบีเรีย ที่นำเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้ามายังนครลากอสเมื่อวันที่ 20 และเสียชีวิตในโรงพยาบาลในเวลาต่อมา