xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเหยื่ออีโบลาจ่อ 1,000 ศพ - ไลบีเรียเข้าตาจนพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตจากอีโลบาขยับเข้าใกล้ 1,000 ศพแล้วในวันพุธ (6 ส.ค.) ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าการแพร่ระบาดของมันกำลังลุกลามไปยังไนจีเรีย ชาติที่มีพลเมืองมากที่สุดของแอฟริกา หลังจากพบผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ในหมู่ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน 7 คนที่เมืองลากอส ขณะที่สถานการณ์ในไลบีเรียเริ่มวิกฤตหนัก จนประธานาธิบดีต้องหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสั่งสวดมนต์ภาวนาทั่วประเทศ

การลุกลามของโรคติดต่อนี้เกิดขึ้นขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมฉุกเฉินในเจนีวา เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการประกาศเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนานาชาติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าจะไมีมีแถลงประกาศการตัดสินใจใดๆ ต่อสาธารณชนจนกว่าจะถึงวันศุกร์นี้ (8 ส.ค.)

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยในวันพุธว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ในแอฟริกาตะวันตก เพิ่มเป็น 932 รายแล้ว นับตั้งแต่มันเริ่มแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน 1,711 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน

เหตุเสียชีวิตของพยาบาลคนหนึ่งในเมืองลากอส มหานครที่มีประชากร 20 ล้านคน มีขึ้นขณะที่มีการยืนยันว่าช่วงระหว่างวันเสาร์ (2 ส.ค.) ถึงวันจันทร์ (4) มีผู้เสียชีวิตทั่วแอฟริกาตะวันตกเพิ่มเติมอีก 45 ราย ด้วยหน่วยงานความช่วยเหลือต่างๆ ในนั้นรวมถึงองค์การแพทย์ไร้พรมแดน บอกว่าโรคระบาดที่น่าสยดสยองนี้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว

ในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย ซึ่งศพเหยื่อถูกทิ้งไว้ตามท้องถนนและในบ้านเรือน ทางประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ วิงวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสั่งอดอาหารและสวดมนต์ภาวนาทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธ (6) เป็นต้นไป

ส่วนในเซียร์ราลีโอน ชาติที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด มีการส่งทหารเข้าไปอารักขาโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อป้องกันญาติๆและเพื่อนของผู้ป่วยอีโบลา ใช้กำลังพาตัวพวกเขาไปจากโรงพยาบาลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากแพทย์ ขณะที่กำลังพลซึ่งถูกส่งไปประจำการในโซมาเลีย ส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพสหภาพแอฟริกา ก็ได้รับคำสั่งเมื่อวันพุธ (6)ให้อยู่ในโซมาเลียต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากความเสี่ยงติดเชื้ออีโบลาหากเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

แม้การแพร่ระบาดที่ไนจีเรีย ยังถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับชาติแอฟริกาตะวันตกอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในลากอส ได้ก่อความท้าทายใหญ่หลวงแก่เจ้าหน้าที่สาสาธารณสุข ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันทั้งหมด 7 รายของประเทศ ล้วนแค่เคยสัมผัสกับ นายแพทริก ซอว์เยอร์ ลูกจ้างกระทรวงการคลังของไลบีเรีย ซึ่งเป็นคนนำเชื้อไวรัสมายังลากอสเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

ซอว์เยอร์ซึ่งเดินทางมาจากมันโรเวีย ผ่านเมืองหลวงของโตโก เพื่อร่วมประชุมระดับภูมิภาค ถูกตรวจพบว่ามีอาการป่วยตอนที่เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติในลากอส จากนั้นเขาก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที ทั้งนี้เขาเสียชีวิตในสถานกักกันโรคเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม หลังจากแพร่เชื้อให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหลายคน ในนั้นรวมไปถึงพยาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อคืนวันอังคาร (5 ส.ค.)

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ทางการไนจีเรียกำลังสังเกตอาการชาวบ้าน 70 คนที่เชื่อว่ามีการสัมผัสกับนายซอว์เยอร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐลากอสคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยยามเผยว่าเหล่าเจ้าหน้าที่กำลังติดตามพลเมืองทุกคนที่เป็นไปได้ว่าได้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ อีก 6 คน แต่เขาไม่ได้ระบุตัวเลขว่ามีประชาชนจำนวนเท่าใดที่ต้องอยู่ภายใต้การสังเกตอาการ

กาชาดสากลเตือนในวันพุธ (6 ส.ค.) ว่า การจำกัดการแพร่ระบาดของอีโบลาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อสามารถเอาชนะใจสาธารณชนให้ได้เสียก่อน ด้วยระบุการถูกตราหน้าและความมีอคติ บ่อยครั้งก็ฆ่าชีวิตคนมากพอๆ กับเชื้อไวรัส โดยนายเอลฮัดจ์ อัส ซีย์ ประธานสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ บอกว่าโลกจำเป็นต้องนำการต่อสู้กับโรคเอดส์มาเป็นบทเรียน ซึ่งการกล่าวโทษดุด่าไม่สามารถช่วยอะไรได้

“ด้วยวัฒนธรรมของชาวแอฟริกาตะวันตก มันเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะบอกผู้คนว่าอย่าข้องแวะกับบุคคลอันเป็นที่รักที่ล้มป่วย แต่สถานการณ์แบบนี้พวกเขาจำเป็นจะต้องทำแบบนั้น” เขากล่าวด้วยชี้ว่าพิธีการอาบน้ำศพตามความเชื่อทางศาสนาทำให้ความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดยุ่งยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่อีโบลาสามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสกับศพผู้เสียชีวิต

รัฐบาลสเปนเตรียมส่งเครื่องบินไปยังไลบีเรียเพื่อรับตัว มิเกล ปาฆาเรสกลับมารักษาพยาบาลในบ้านเกิด หลังจาก มิชชันนารีโรมันคาทอลิกวัย 75 ปีรายนี้ ที่ทำงานในโรงพยาบาลเซนต์โยเซฟ ในกรุงมันโรเวีย มานานกว่า 7 ปี ถูกตรวจพบเชื้ออีโบลา

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวอเมริกัน 2 คนที่ทำงานให้กับองค์กรช่วยเหลือคริสเตียนในไลบีเรีย ก็ถูกส่งกลับมารักษาตัวในสหรัฐฯ หลังถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้เช่นกัน

ทั้งคู่อาการดีขึ้นมากหลังได้รับยาต้านไวรัส อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ว่ายาต้านไวรัสเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่อาการดีขึ้นจริงหรือไม่ และจะมีอาการข้างเคียงหรือเปล่า เพราะยังไม่เคยมีการทดสอบยาตัวนี้ในมนุษย์มาก่อน แต่การทดสอบในลิงก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ขณะที่วัคซีนป้องกันเชื้ออีโบลา สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ จะเริ่มการทดสอบกับมนุษย์ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้

มีรายงานว่า ชาวซาอุดีอาระเบียรายหนึ่งซึ่งเดินทางกลับจากเซียร์ราลีโอนและมีอาการคล้ายคนติดเชื้ออีโบลา เสียชีวิตลงแล้วในวันพุธ (6) ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยผลตรวจอีโบลา แต่บอกว่าศพของเขาจะถูกฝังตามพิธีกรรมอิสลามภายใต้มาตรการป้องกันไว้ก่อนต่างๆ นานาที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโลก

อนึ่ง นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ติดเชื้อแล้ว บุคคลที่ดำเนินการฝังเหยื่อที่เสียชีวิตจากอีโบลา คือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น