xs
xsm
sm
md
lg

บรรดาชาติแอฟริกาตะวันตกพากันประกาศภาวะฉุกเฉินรับมือ “อีโบลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - บรรดาชาติแอฟริกาตะวันตกต่างพากันประกาศภาวะฉุกเฉินในวันนี้ (7 ส.ค.) ส่วนยอดผู้เสียชีวิตของโรคอีโบลาที่ลุกลามอย่างรวดเร็วก็เฉียดเข้าใกล้ตัวเลข 1,000 ด้านบาทหลวงสเปนก็ถูกนำตัวมารักษาที่ประเทศบ้านเกิดเรียบร้อยแล้ว

ที่ไลบีเรีย ดินแดนซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายชนิดนี้นอนกองอยู่ตามถนน บรรดาสมาชิกรัฐสภาได้ร่วมประชุมและอนุมัติการประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่วนเซียร์ราลีโอนตัดสินใจส่งทหารไปคุ้มกันโรงพยาบาลและคลีนิกหลายแห่งเพื่อดูแลผู้ป่วยอีโบลา ด้านไนจีเรียก็ยังคงหวังว่าจะได้รับยาตัวใหม่ที่กำลังทดลองอยู่ในสหรัฐฯ เพื่อมาใช้หยุดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา

องค์การอนามัยโลกระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มระบาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีโบลาได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 932 ราย และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,700 คนทั่วแอฟริกาตะวันตก

ทั้งนี้ อีโบลาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ซึ่งในกรณีร้ายแรงจะมีอาการเลือดไหลไม่หยุด โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางของเหลวจากร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยหรือคอยดูแลผู้ป่วยจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ

ในขณะที่บรรดาชาติแอฟริกาพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศของตน สเปนก็ตัดสินใจนำตัว คุณพ่อมิเกล ปาคาเรซ บาทหลวงของคริสตจักรคาทอลิกวัย 75 ปี ผู้ติดเชื้ออีโบลาในขณะที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย บินกลับไปรักษาตัวที่ประเทศบ้านเกิด ทำให้บาทหลวงคนนี้กลายเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกที่ถูกนำตัวไปรักษาในยุโรป

รัฐบาลสเปนระบุว่า เครื่องบินแอร์บัส A310 ซึ่งเป็นเที่ยวบินพิเศษของกองทัพ ได้นำตัวบาทหลวงผู้นี้ และ “คูเลียนา โบนัว โบเอ” แม่ชีชาวสเปนอีกราย ที่ถึงแม้ว่าจะตรวจไม่พบการติดเชื้อแต่ก็ทำงานในโรงพยาบาลเดียวกัน ไปลงจอดที่ฐานทัพอากาศตอร์เรคอนในกรุงมาดริด

ทันทีที่ลงจอดในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี บรรดารถพยาบาลก็นำตัวทั้งคู่ไปส่งที่โรงพยาบาลการ์โลสที่ 3 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในพื้นที่เขตร้อน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุว่า คุณพ่อซาโกยังมีอาการทรงตัวและไม่แสดงให้เห็นว่ามีเลือดออก ส่วนแม่ชีที่มาด้วยกันนั้นก็ดูแข็งแรงดี แต่จะต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจ

ด้านชาวอเมริกัน 2 คนที่ทำงานให้กับหน่วยงานช่วยเหลือชาวคริสเตียนในไลบีเรีย จนติดเชื้ออีโบลาในขณะที่ดูแลผู้ป่วยในกรุงมันโรเวีย ก็ได้ถูกส่งตัวกลับไปสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการรักษาตัวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ทั้งคู่แสดงให้เห็นว่ามีอาการดีขึ้น หลังจากที่ได้รับยาตัวใหม่ที่กำลังทดลองอยู่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ซีแมป” (ZMapp) แต่การจะผลิตยาตัวนี้ออกมาเป็นจำนวนมากนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก

ส่วนบรรดาผู้ติดเชื้อจำนวนมากในแอฟริกา ก็ต้องเผชิญหน้ากับมาตรฐานด้านสาธารณสุขที่ย่ำแย่ในประเทศของตนเองต่อไป

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่พบตัวยาหรือวิธีการรักษาโรคอีโบลา แต่ยาตัวใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองก็ได้ทำให้เกิดการถกเถียงกัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญไวรัสอีโบลาหลายราย ต่างก็ออกมาเรียกร้องให้มีการนำไปใช้กับผู้ติดเชื้อในแอฟริกา

ด้านประธานาธิบดีไลบีเรีย “เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ” ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน ตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ส.ค.) โดยระบุว่าจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ “เพื่อความอยู่รอดของประเทศ”

“ขอบเขตและระดับของการแพร่ระบาด รวมถึงการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ มันเกินความสามารถและหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานรัฐหรือกระทรวงใดๆ แล้ว” ผู้นำไลบีเรียกล่าว

ทั้งนี้ รัฐสภาไลบีเรียได้อนุมัติการตัดสินใจดังกล่าวแล้วในวันพฤหัสบดี (7 ส.ค.)

ด้านเซียร์ราลีโอน โฆษกของกองทัพระบุว่า มีการส่งทหาร 800 คนและพยาบาลของกองทัพอีก 50 คน ไปคุ้มกันโรงพยาบาลและคลีนิกหลายแห่งที่ให้การรักษาผู้ติดเชื้ออีโบลา ขณะที่ทางรัฐสภานั้นได้อนุมัติการประกาศภาวะฉุกเฉินไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ที่ไนจีเรีย ความกลัวที่ว่าเชื้อร้ายชนิดนี้อาจจะแพร่ระบาดเริ่มก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการเสียชีวิตของนางพยาบาลในลากอส เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นรายที่สองของประเทศนี้ที่เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลา และยังมีอีก 5 รายที่ตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ

ออนเยบูชิ ชุควู รัฐมนตรีสาธารณสุขไนจีเรีย บอกกับนักข่าวว่า เขากำลังพูดคุยกับทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อในสหรัฐฯ ถึงความเป็นไปได้ที่จะขอยามารักษาผู้ติดเชื้อ

“ผมบอกไปว่า เราได้รับรายงานมาว่ามียาที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้ได้ผล ดังนั้นมันจะพอมีความเป็นไปได้บ้างไหม ที่เราจะขอยาเหล่านั้นเพื่อนำมารักษาคนของเราที่กำลังป่วยอยู่” เขากล่าวเมื่อวันพุธ (6 ส.ค.)

ชุควูบอกว่า ผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อทั้ง 7 รายในประเทศของเขา ได้ทำการ “พบปะใกล้ชิด” กับลูกจ้างของกระทรวงการคลังไลบีเรีย ผู้นำเอาเชื้ออีโบลาเข้ามาสู่เมืองลากอสตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะส่งยาที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองไปรักษาผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตก พร้อมกับบอกให้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง” จะดีกว่า

“ผมคิดว่าเราควรจะปล่อยให้วิทยาศาตร์เป็นผู้ชี้นำเรา และผมก็ไม่คิดว่าเรามีข้อมูลครบถ้วนในเรื่องที่ว่ายาตัวนี้ช่วยในการรักษาได้มากน้อยเพียงใด” โอบามากล่าวเมื่อวันพุธ (6 ส.ค.)

ด้านสเปนก็ออกมาระบุว่า ยังไม่ขอยารักษาจากสหรัฐฯ เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ โดยทางผู้อำนวยการของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในกรุงมาดริด “อันโตนิโอ อเลมานี” บอกในการแถลงข่าวว่า ยังไม่ได้รับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงข้อมูลพื้นฐานและผลจากการใช้เซรุ่มตัวนี้

“แต่เป็นที่แน่นอนเลยว่า ถ้าหากเซรุ่มตัวนี้ใช้ได้ผล รับรองว่ารัฐบาลสเปนจะต้องติดต่อเพื่อขอยามาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อ” เขากล่าว

องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมเร่งด่วนเป็นการภายในที่กรุงเจนีวา เพื่อตัดสินใจว่าจะประกาศให้อีโบลาเป็นวิกฤตระดับสากลหรือไม่ โดยคาดว่าจะมีการตัดสินใจกันในวันศุกร์นี้ (8 ส.ค.)

ทั้งนี้ เชื้ออีโบลาถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1976 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และถูกตั้งชื่อตามชื่อแม่น้ำในละแวกนั้น ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อในตอนนั้นเสียชีวิตไปประมาณ 2 ใน 3 และจากบันทึกการระบาด 2 ครั้งที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการระบาดครั้งล่าสุดนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 55 เปอร์เซ็นต์
กำลังโหลดความคิดเห็น