เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ไลบีเรีย ต้องระงับศึกเลือกตั้งวุฒิสภาทั่วประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) เหตุไม่สามารถจัดการลงคะแนนได้อย่างปลอดภัยสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของอีโบลา ท่ามกลางความกังวลที่มากขึ้นเรื่อยๆว่ามันอาจแผ่ลามออกนอกแอฟริกา โดยอังกฤษเดินตามรอยสหรัฐฯ ยกระดับคุมเข้มตามสนามบิน ขณะที่พยาบาลในสเปนซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้คนแรกนอกทวีปแอฟริกา อาการล่าสุดทรุดหนัก ถึงขั้นเจ้าหน้าที่ยอมรับโอกาสรอดยาก
ผู้มีสิทธิออกเสียงเกือบ 3 ล้านคนมีกำหนดไปลงคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆในวันอังคารหน้า (14 ต.ค.) แต่องค์การต่างๆ เตือนว่าหากเดินหน้าเคลื่อนย้ายและประจำการเจ้าหน้าที่ เช่นเดียวกับการรวมตัวของคนหมู่มาก อาจทำให้ชีวิตผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของอีโบลา
ประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเดือนสิงหาคม เพื่อรับมือกับวิกฤตอีโบลาที่คร่าชีวิตผู้คนในประเทศมากกว่า 2,200 ศพ หรือเกินครึ่งของยอดเหยื่อทั้งหมดเกือบ 3,870 ศพทั่วแอฟริกาตะวันตก
ไลบีเรีย มีกำหนดจัดการเลือกตั้งเลือกสมาชิกครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาในสัปดาห์หน้า แต่คณะกรรมการเลือกตั้งระบุในถ้อยแถลงว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำให้เลื่อนมันออกไป เพราะว่าคงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างอิสระ ยุติธรรมและน่าเชื่อถือ อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ
คณะกรรมการเลือกตั้งบอกว่าจะปรึกษากับพรรคการเมืองต่างๆและผู้สมัครเพื่อขอมุมมองสำหรับกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยเป็นไปได้ก็ประสงค์จัดขึ้นก่อนสิ้นปี ขณะที่นายเฌอโรม คอร์โคยา ประธานคณะกรรมการระบุว่าการแพร่ระบาดของอีโบลาเป็นอุปสรรคต่อการฝึกและประจำการเจ้าหน้าที่ 25,000 คนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ 4,700 แห่งทั่วประเทศ
นายคอร์โดยายอมรับว่า หากยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป คงจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กันแค่เล็กน้อยเท่านั้น ขณะเดียวกันยังมีอุปสรรคกรณีเหล่าวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถเดินทางไปติดตั้งระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อถ่ายทอดผลการลงคะแนนอีกด้วย
ไลบีเรีย ลอกเลียนแบบระบบการเลือกตั้งมาจากสหรัฐฯ โดยสภาบนประกอบด้วยวุฒิสภา 30 คน ที่มาจากการเลือกตั้งใน 15 มณฑล มณฑลละ 2 คน และมีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ทั้งนี้ครึ่งหนึ่งได้รับเลือกเข้ามาในปี 2011 ส่วนอีก 15 คน มีกำหนดจัดการเลือกตั้งในปีนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังเสื่อมทรามในไลบีเรียและเหล่าชาติแอฟริกาตะวันตก เริ่มมีความกังวลว่าวิกฤตอีโลบาจะแผ่ลามไปยังทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะในสเปน ที่ล่าสุดพยาบาลซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้คนแรกนอกทวีปแอฟริกา อาการทรุดหนัก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างสูง “จนถึงตอนนี้ เธออาการหนักและชีวิตของเธออยู่ในความเสี่ยงอย่างสาหัส ผลจากไวรัส” อิ๊กนาซิโอ กอนซาเลซ หัวหน้ารัฐบาลแคว้นมาดริด บอกกับรัฐสภาว่า
คำพูดของเขาสอดคล้องกับโฆษกหญิงของโรงพยาบาลลาปาซ การ์ลอสที่ 3 ที่บอกกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า “อาการของเธอทรุดลง แต่ฉันไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้มากกว่านี้ เพราะมันเป็นความปรารถนาของคนไข้”
เทเรซา โรมีโร พยาบาลในโรงพยาบาลกรุงมาดริด ติดเชื้ออีโบลาสืบเนื่องจากเธออยู่ในทีมดูแลรักษามิชชันนารีสูงวัย 2 คนที่ติดไวรัสนี้ขณะทำงานในแอฟริกาตะวันตก ทั้งคู่ได้ถูกนำตัวกลับมารักษาที่สเปนและได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
นพ.เจอร์แมน รามิเรซ แพทย์ที่รักษาโรมีโร ซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกที่พบนอกแอฟริกาตะวันตก ระบุว่าคนไข้รายนี้อาจได้รับเชื้อ หลังจากเผลอจับใบหน้าตัวเองขณะสวมถุงมือที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ หลังจากทำความสะอาดห้องคนไข้ของผู้ติดเชื้อ
จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้ถูกกักกันโรคที่โรงพยาบาลทั้งหมด 6 คน ในมาตรการป้องกันไว้ก่อน ในนั้นประกอบด้วยสามีของโรมีโรและเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์อีกหลายคน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเปิดเผยว่ากำลังสังเกตอาการคนอื่นๆอีก 50 ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ซึ่งมีการสัมผัสกับพยาบาลรายนี้
พร้อมกันนั้นก็มีรายงานว่า พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้นำเอา “เอ็กซ์คาลิเบอร์” สุนัขเลี้ยงของพยาบาลผู้นี้ไปฆ่าทิ้งแล้วในวันพุธ เนื่องจากกลัวว่ามันอาจจะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้ออีโบลา ถึงแม้พวกกลุ่มสิทธิสัตว์จะพากันประท้วงและผู้รักสัตว์บางคนได้พยายามขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่จะนำมันไป แต่ก็ไม่เป็นผล
กรณีของโรมีโร ตอกย้ำถึงความกังวลอย่างสูงว่าการแพร่ระบาดของอีโบลาครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ อาจแผ่ลามออกนอกแอฟริกาตะวันตก และในวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) อังกฤษเผยว่าจะเริ่มยกระดับการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจากเหล่าชาติแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินี ณ ท่าอากาศยานฮีทโธรว์และแกตวิค เช่นเดียวกับสถานีรถไฟยูโรสตาร์ ในนั้นรวมถึงตรวจสุขภาพของนักเดินทาง
ความเคลื่อนไหวของอังกฤษครั้งนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากอเมริกาและแคนาดาประกาศเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีอีโบลาระบาด หลังชายคนหนึ่งผู้ล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรงนี้ในมลรัฐเทกซัสได้เสียชีวิตไปเมื่อวันพุธ (8 ต.ค.)
โธมัส อิริก ดันแคน ผู้ป่วยอีโบลารายแรกที่ปรากฏอาการในสหรัฐฯ ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันพุธ หรือ 10 วันหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองดัลลัส, มลรัฐเทกซัส แม้ได้รับยาต้านอีโบลาที่อยู่ในขั้นทดลองก็ตาม
เข้าใจกันว่า ดันแคนซึ่งเป็นชาวไลบีเรีย ได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยคนหนึ่งขณะอยู่ในประเทศนั้น อย่างไรก็ดี ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ (ซีดีซี) แถลงว่า ไม่มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยรายนี้จะแพร่เชื้อให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ บนเครื่องบิน เนื่องจากเขาเพิ่งปรากฏอาการหลังเดินทางถึงสหรัฐฯแล้วหลายวัน
กระนั้น ข่าวการเสียชีวิตของดันแคนก็กดดันให้วอชิงตันต้องเพิ่มมาตรการป้องกันอีโบลา โดยในวันพุธนั้นเอง ทำเนียบขาวแถลงว่า ภายในไม่กี่วันนี้ สนามบินหลัก 5 แห่งของประเทศ ได้แก่ สนามบินโอแฮร์ในชิคาโก, เจเอฟเคและนวร์ก ในนิวยอร์ก, ดัลเลสในวอชิงตัน และสนามบินแอตแลนตา จะเริ่มมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี