เอเจนซีส์ - อเมริกาและแคนาดาประกาศเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีอีโบลาระบาด หลังชายผู้ล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรงนี้ในมลรัฐเทกซัสได้เสียชีวิตไปเมื่อวันพุธ (8 ต.ค.) ขณะที่พยาบาลในสเปนซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้คนแรกที่อยู่นอกทวีปแอฟริกา มีอาการทรุดลงในวันพฤหัสบดี (9) โดยที่สันนิษฐานกันว่าเธออาจได้รับเชื้อเพราะเผลอแตะใบหน้าตัวเองขณะสวมถุงมือที่ปนเปื้อนไวรัสอีโบลา นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า พยาบาลอาสาสมัครชาวออสเตรเลียผู้เพิ่งกลับบ้านหลังทำงานกับคนไข้โรคอีโบลาในเซียร์ราลีโอน ได้ล้มป่วยด้วยอาการน่าสงสัย
จากการพบผู้ติดเชื้ออีโบลาครั้งแรกทั้งในอเมริกาและสเปน กำลังก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ไวรัสร้ายแรงชนิดนี้อาจระบาดมาถึงพวกชาติตะวันตกทั้งหลายที่มีระบบสาธารณสุขอันก้าวหน้า
เชื้ออีโบลาเกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยรวมศูนย์อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3,865 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 8,033 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี
ซูซานนา จาค็อบ ผู้อำนวยการประจำยุโรปขององค์การอนามัยโลก (ฮู) พยายามคลายความกังวลที่ว่า อีโบลาอาจแพร่ลามในยุโรป หลังจากพบพยาบาลชาวสเปนคนหนึ่งติดเชื้อโดยที่ไม่ได้เพิ่งเดินทางกลับจากภูมิภาคที่มีการระบาด ทั้งนี้จาค็อบระบุว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบผู้ติดเชื้อในภูมิภาคนี้อยู่เป็นระยะๆ แต่มีความเสี่ยงต่ำมากที่อีโบลาจะระบาดอย่างรุนแรงในยุโรป
ส่วนที่อเมริกา มีรายงานว่า โธมัส อิริก ดันแคน ผู้ป่วยอีโบลารายแรกที่ปรากฏอาการขึ้นในประเทศนี้ ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันพุธ หรือ 10 วันหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองดัลลัส, มลรัฐเทกซัส แม้ได้รับยาต้านอีโบลาที่อยู่ในขั้นทดลองก็ตาม
เข้าใจกันว่า ดันแคนซึ่งเป็นชาวไลบีเรีย ได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยคนหนึ่งขณะอยู่ในประเทศนั้น อย่างไรก็ดี ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ (ซีดีซี) แถลงว่า ไม่มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยรายนี้จะแพร่เชื้อให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ บนเครื่องบิน เนื่องจากเขาเพิ่งปรากฏอาการหลังเดินทางถึงสหรัฐฯแล้วหลายวัน
กระนั้น ข่าวการเสียชีวิตของดันแคนก็กดดันให้วอชิงตันต้องเพิ่มมาตรการป้องกันอีโบลา โดยในวันพุธนั้นเอง ทำเนียบขาวแถลงว่า ภายในไม่กี่วันนี้ สนามบินหลัก 5 แห่งของประเทศ ได้แก่ สนามบินโอแฮร์ในชิคาโก, เจเอฟเคและนวร์ก ในนิวยอร์ก, ดัลเลสในวอชิงตัน และสนามบินแอตแลนตาจะเริ่มมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี
หน่วยงานศุลกากร (ซีบีพี) จะจัดเจ้าหน้าที่พิเศษประจำอยู่ในสนามบินทั้ง 5 แห่ง ซึ่งรองรับผู้เดินทางมายังอเมริการาว 90% และคาดว่าแต่ละวันจะมีผู้เดินทางที่มาจากสามประเทศที่อีโบลาระบาดรุนแรงราว 160 คน
ภายใต้มาตรการใหม่ ผู้เดินทางจาก 3 ประเทศจะต้องตอบแบบสอบถาม ซึ่งหากตอบ “ใช่” ในข้อหนึ่งข้อใด หรือวัดอุณหภูมิแล้วพบว่ามีไข้ ตัวแทนจากซีดีซี จะเข้ามารับหน้าที่ต่อและทำการประเมินด้านสาธารณสุข
นอกจากนี้ ผู้เดินทางจากสามประเทศยังจะได้รับเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอาการของอีโบลา และคำแนะนำให้ติดต่อแพทย์หากมีอาการป่วยน่าสงสัยภายใน 3 สัปดาห์
ไม่เฉพาะสหรัฐฯ ทางด้าน โรนา แอมโบรส รัฐมนตรีสาธารณสุขแคนาดา ก็ประกาศเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจาก 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกเช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุว่า มาตรการนี้จะบังคับใช้ที่ใดบ้าง
ขณะเดียวกัน มีผู้สงสัยติดเชื้ออีโบลา 2 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลในลอสแองเจลีสและดัลลัส อย่างไรก็ดี ภายหลังการตรวจพบว่า ผู้ป่วยที่ลอสแองเจลีสซึ่งเดินทางมาจากไลบีเรีย ไม่ได้ติดเชื้อแต่อย่างใด
สำหรับที่สเปน มีผู้ถูกกักกันโรค 5 ราย และอีกหลายสิบคนถูกติดตามอาการ ภายหลัง เทเรซา โรมีโร พยาบาลในโรงพยาบาลกรุงแมดริด ติดเชื้ออีโบลาสืบเนื่องจากเธออยู่ในทีมดูแลรักษามิชชันนารีสูงวัย 2 คนที่ติดไวรัสนี้ขณะทำงานในแอฟริกาตะวันตก ทั้งคู่ได้ถูกนำตัวกลับมารักษาที่สเปนและได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว
น.พ.เจอร์แมน รามิเรซ แพทย์ที่รักษาโรมีโร ซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกที่พบนอกแอฟริกาตะวันตก ระบุว่าคนไข้รายนี้อาจได้รับเชื้อ หลังจากเผลอจับใบหน้าตัวเองขณะสวมถุงมือที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่
ขณะที่เจ้าหน้าที่สเปนกำลังพยายามค้นหาผู้ที่เคยติดต่อคลุกคลีกับโรมีโร ทางด้านนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย ก็ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และให้สัญญาจะดำเนินการรับมือกับเรื่องนี้อย่างโปร่งใส หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเมื่อมีข่าวออกมาว่า โรมีโรป่วยตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ระหว่างลาพักหลังจากดูแลมิชชันนารีที่เสียชีวิต แต่เพิ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังจากนั้นถึง 6 วัน
ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว โรมิโรไปพบแพทย์ของครอบครัวโดยที่ปกปิดเรื่องที่เธอเป็นพยาบาลที่สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยอีโบลา
โฆษกของโรงพยาบาลในมาดริดซึ่ง โรมีโร รักษาตัวอยู่ แถลงในวันพฤหัสบดีว่า เธอมีอาการทรุดลงไปอีก ทว่าไม่ให้รายละเอียดมากกว่านี้
พร้อมกันนั้นก็มีรายงานว่า พวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้นำเอา “เอ็กซ์คาลิเบอร์” สุนัขเลี้ยงของพยาบาลผู้นี้ไปฆ่าทิ้งแล้วในวันพุธ เนื่องจากกลัวว่ามันอาจจะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้ออีโบลา ถึงแม้พวกกลุ่มสิทธิสัตว์จะพากันประท้วงและผู้รักสัตว์บางคนได้พยายามขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่จะนำมันไป แต่ก็ไม่เป็นผล
ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานจากนครซิดนีย์ว่า สตรีออสเตรเลียวัย 57 ปีที่เป็นพยาบาลอาสาสมัครขององค์การกาชาด และเพิ่งเดินทางกลับจากการทำงานกับผู้ป่วยอีโบลาในเซียร์ราลีโอนเป็นเวลา 1 เดือน โดยที่สื่อแดนจิงโจ้ระบุว่าเธอชื่อ ซู-แอลเลน โคแวค ได้ล้มป่วยลงด้วยอาการไข้ต่ำๆ ตอนเช้าวันพฤหัสบดี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลียบอกว่า ได้นำเธอแยกออกมาอยู่ต่างหากในโรงพยาบาล และกำลังดำเนินการทดสอบว่าเธอติดเชื้อไวรัสนี้หรือไม่ โดยคาดว่าผลจะออกมาได้ในวันศุกร์ (10)
ขณะเดียวกัน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงในวันพุธหลังจากหารือกับฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันต่อสู้กับไวรัสร้ายนี้มากขึ้น โดยทางลอนดอนนั้นได้ประกาศแผนส่งเจ้าหน้าที่ทหาร 750 คน รวมทั้งเรือพยาบาล 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำไปยังเซียร์ราลีโอน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังประกาศส่งนาวิกโยธิน 100 นาย และเครื่องบิน 6 ลำไปยังไลบีเรีย เพื่อให้การช่วยเหลือในการต่อสู้กับโรคนี้