รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลกยอมรับในวันอังคาร (7 ต.ค.) ว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้ติดเชื้ออีโบลาในดินแดนยุโรปเพิ่มเติมในอนาคต หลังพบผู้ป่วยรายแรกในสเปน แต่ยืนยันทวีปแห่งนี้มีการเตรียมตัวควบคุมโรคติดต่อนี้เป็นอย่างดีและยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มเข้มข้นในมาตรการคัดครองตามอย่างสหรัฐฯ
ซูซานนา จาค็อบ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ไม่นาน หลังมีคำยืนยันว่าพยาบาลชาวสเปนคือผู้ติดเชื้ออีโบลาคนแรกในยุโรป โดยบอกว่ากรณีลักษณะนี้คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต
“เป็นไปได้อย่างที่สุดว่า กรณีนำเชื้อเข้ามาและกรณีแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในสเปน คงจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต” จาค็อบบอกกับรอยเตอร์ผ่านการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากสำนักงานในโคเปนเฮเกน “มันหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ กรณีลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตเพราะว่ามีการเดินทางอย่างกว้างขวางจากยุโรปไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบ และจากประเทศที่ได้รับผลกระทบมายังยุโรป”
หลายประเทศในยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน ต่างรับตัวผู้ป่วยมารักษาในประเทศ หลังติดเชื้อไวรัสมรณะที่แอฟริกาตะวันตก ดินแดนซึ่งมีผู้ติดเชื้ออีโบลาราว 7,200 คน เสียชีวิต 3,400 รายในกินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะเดียวกันก็มีกรณีคนไข้นำเชื้อโรคเข้าไปยังไนจีเรีย เซเนกัล และสหรัฐฯ ด้วย
จาค็อบบอกว่าในยุโรป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ติดเชื้อที่ถูกส่งตัวกลับมารักษา เช่นเดียวกับครอบครัวและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด คือกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการตัดเชื้อ “แต่ที่สำคัญคือ ยุโรปยังมีความเสี่ยงระดับต่ำ โดยเฉพาะทางยุโรปตะวันตกมีการเตรียมการที่ดีที่สุดในโลกในการตอบสนองต่อไข้เลือดออกจากไวรัส ซึ่งรวมไปถึงอีโบลา”
ผลการศึกษาของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่แกะรอยการแพร่ระบาดของอีโบลากับข้อมูลการจราจรของสายการบินต่างๆ คาดหมายว่ามีความเสี่ยงอย่างสูงที่นักเดินทางที่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อจะนำไวรัสมรณะเข้าสู่ยุโรปโดยไม่รู้ตัว
ปีเตอร์ ไพออต หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบอีโบลาเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน บอกว่าเขาไม่รู้สึกแปลกใจเลยต่อกรณีพบผู้ติดเชื้อในสเปน “ผมบอกกับคุณได้ว่า ผมไม่เห็นว่าจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในยุโรป แต่จะมีบางคนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแผนกผู้ป่วยหนักที่อาจติดเชื้อ การดูแลคนไข้อีโบลาเป็นงานที่เสี่ยงอย่างมาก และความผิดพลาดแค่เล็กๆ น้อยๆ อาจถึงตายได้”
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหภาพยุโรป (ซีดีซี) ซึ่งจับตาโรคระบาดนี้ในยุโรป เผยเมื่อวันอังคาร (7 ต.ค.)ว่า ในขณะที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยที่นักเดินทางจะนำพาอีโบลาเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของทวีปแห่งนี้มีประสิทธิภาพในการตรวจหาและยืนยันผู้ติดเชื้ออีโบลา ด้วยเหตุนี้จึงสามารถป้องกันการแพร่ระบาดล่วงหน้าได้
อย่างไรก็ตาม จาค็อบยืนยันว่า ศูนย์บัญชาการต่างๆ ขององค์การอนามัยโลกประจำสหภาพยุโรป กำลังจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและมีการติดต่อประสานงานกับทุกประเทศในภูมิภาค “หากพวกเขาเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องขอความสนับสนุนหรือคำปรึกษา เราพร้อมหนุนหลังพวกเขาเสมอ เรามีการเตรียมพร้อมที่ดี และ ณ ตอนนี้ ฉันคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องกังวลต่อกรณีนี้” อ้างถึงกรณีที่อีโบลาแผ่ลามไปถึงสเปน
เมื่อถูกถามว่าองค์การอนามัยโลกอยากเห็นยุโรปออกมาตรการคัดกรองเข้มข้นต่อนักเดินทางที่มาจากเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบในแอฟริกาตะวันตก อย่างเช่นที่สหรัฐฯ กำลังจะดำเนินการหรือไม่ จาค็อบตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็น แต่ในอนาคตอาจมีการพิจารณาอีกครั้ง “ฉันรู้ว่าสหรัฐฯมีแผนทำแบบนั้น แต่ยุโรปยังไม่เริ่ม มันขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการแพร่ระบาดในอนาคต บางทีประเด็นนี้ประเด็นนี้อาจถูกยอมรับและนำมาพิจารณา”