เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ พยายาม “พลิกสถานการณ์” การระบาดของโรคอีโบลา โดยกำลังออกคำสั่งในวันอังคาร (16 ก.ย.) ส่งกำลังทหารอเมริกัน 3,000 นายไปยังแอฟริกาตะวันตก เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายแรงนี้ ขณะเดียวกันทางด้านจีนก็ประกาศส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมไปยังภูมิภาคดังกล่าวเช่นกัน
มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) แถลงเมื่อวันอังคาร ว่าความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในการรับมือการระบาดของไวรัสอีโบลา คือ การมีเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับยกย่องการสนับสนุนล่าสุดของทางการจีน
ฮูประเมินว่า ประเทศที่เผชิญการระบาดรุนแรงที่สุดเวลานี้ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็น 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตก มีความต้องการแพทย์เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว หรือ 600 คน และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อีก 1,000 คนเพื่อติดตามและตรวจผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีเดียวเท่านั้นในการควบคุมโรคนี้
ทั้งนี้ ปักกิ่งประกาศส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมโรคระบาดของจีนอีก 59 คน โดยในจำนวนนี้มีทั้ง นักระบาดวิทยา แพทย์ และพยาบาล ไปเสริมทีมห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ของแดนมังกรในเซียร์ราลีโอน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอีโบลาแล้วกว่า 500 คน
ชานเสริมว่า ทีมเจ้าหน้าที่ชุดใหม่จะไปร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ชุดเดิมจำนวน 115 คนที่ลงปฏิบัติการภาคสนามมาตั้งแต่ช่วงที่โรคนี้ระบาดแรกๆ ทำให้รวมแล้วจะมีเจ้าหน้าที่จีนทำงานในเซียร์ราลีโอน 174 คน พร้อมย้ำว่า พันธกิจล่าสุดของปักกิ่ง เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมกำลังใจและการปฏิบัติงานต่อสู้กับโรคร้ายนี้เป็นอย่างมาก
การสนับสนุนของจีนมีขึ้นตามคำเรียกร้องเร่งด่วนของฮู ที่ขอให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มความร่วมมือช่วยเหลือเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์การระบาดของอีโบลา ที่ขณะนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,400 คนในแอฟริกาตะวันตก นับจากเริ่มระบาดระลอกนี้เมื่อตอนต้นปี
การประกาศของปักกิ่งยังเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีโอบามา กำลังจะประกาศ “พลิกสถานการณ์” การระบาดของอีโบลา
ทั้งนี้ ทำเนียบขาวแถลงว่า โอบามากำหนดเดินทางไปยังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (ซีดีซี) ในเมืองแอตแลนตา วันอังคาร เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูง และประกาศแผนการส่งเสริมความพยายามของนานาชาติในการต่อสู้กับอีโบลาที่กำลังระบาดหนักในไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน ไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ความพยายามส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะใช้ทหารเหล่าแพทย์เป็นกำลังสำคัญ จะมุ่งเน้นหนักไปที่ไลบีเรีย ประเทศที่อีโบลาระบาดรุนแรงที่สุด
ภายใต้แผนการครั้งใหม่ กองบัญชาการทหารภาคแอฟริกาของสหรัฐฯ จะจัดตั้งศูนย์บัญชาการและควบคุมขึ้นในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย เพื่อประสานงานระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับโครงการบรรเทาทุกข์นานาชาติ
ทว่า ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของแผนการ คือการฝึกอบรมและการรณรงค์ด้านสุขอนามัยเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้แบบซึ่งๆ หน้า
ทั้งนี้ พวกที่ปรึกษาอเมริกันจะฝึกอบรมบุคลากรชาวไลบีเรียที่เป็นผู้ให้การดูแลสุขภาพ เป็นจำนวนสัปดาห์ละ 500 คนตลอด 6 เดือนดังกล่าว เกี่ยวกับวิธีการอันปลอดภัยในการรับมือและบำบัดรักษาผู้ป่วยตลอดจนครอบครัวของพวกเขา ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขอันย่ำแย่และขาดแคลนของประเทศนี้
พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ระบุว่า แผนการนี้จะใช้ทหารอเมริกันราว 3,000 คน
นอกจากนั้น วอชิงตันยังจะส่งผู้เชี่ยวชาญ 65 คนของทหารเหล่าแพทย์ไปยังไลบีเรีย เพื่อรับหน้าที่บริหารจัดการและเป็นเจ้าหน้าที่ประจำในโรงพยาบาลทหารที่สหรัฐฯเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะคอยดูแลรักษาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ติดเชื้ออีโบลา รวมทั้งสร้างศูนย์รักษาผู้ป่วย 17 แห่งโดยเร็วที่สุด โดยแต่ละแห่งรองรับผู้ป่วย 100 เตียง
ขณะเดียวกัน อเมริกาจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ในการจัดส่งชุดป้องกันอีโบลา ซึ่งประกอบด้วยชุดฆ่าเชื้อและคำแนะนำ ให้แก่ 400,000 ครอบครัวที่มีความเสี่ยงที่สุดในไลบีเรียทันที
ทั้งนี้ คณะรัฐบาลโอบามาเชื่อว่า มาตรการฉุกเฉินล่าสุดนี้จะช่วย “พลิกสถานการณ์” และชะลอการระบาดของไวรัสร้ายนี้ได้
ถึงแม้ทำเนียบขาวยังเชื่อว่า อีโบลาไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่ออเมริกา แต่โอบามาก็ได้ออกมาแถลงตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะส่งทหารจำนวนมากไปร่วมต่อสู้กับโรคนี้ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าอเมริกากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ กับนัยด้านความมั่นคงของประเทศและด้านมนุษยธรรม จากการระบาดอย่างรวดเร็วของอีโบลา
เพนตากอนนั้นประกาศส่งโรงพยาบาลขนาด 25 เตียงไปยังอีโบลาแล้ว เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ซีดีซีกว่า 100 คนที่ถูกส่งไปยังแอฟริกาตะวันตกก่อนหน้านี้ และมีอีกจำนวนมากที่ประสานงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในแอตแลนตา
นอกจากนั้น อเมริกายังได้อัดฉีดเงินต่อสู้กับอีโบลา 100 ล้านดอลลาร์ และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ยูเสด) มีแผนจัดสรรเงินอีก 75 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มหน่วยรักษาอีโบลา และชุดป้องกันให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย
ขณะเดียวกัน คณะรัฐบาลโอบามายังอยู่ระหว่างการของบประมาณอีก 88 ล้านดอลลาร์จากรัฐสภาเพื่อนำไปใช้รับมือกับวิกฤตอีโบลาต่อไป