xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.อุดรฯ เวิร์กชอป จนท.ทั้งจังหวัดรับมือ “อีโบลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - สสจ.อุดรธานี เรียกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งจังหวัดเกือบ 500 คน เวิร์กชอปเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดโรคอีโบลา เผยแม้ในไทยยังไม่มีการแพร่ระบาด แต่ก็เสี่ยงหากประชากรกลุ่มประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาหลุดรอดเข้ามา หรือคนไทยที่ไปเยือนประเทศดังกล่าวกลับเข้าประเทศ

วันนี้ (10 ก.ย.) ณ ห้องประชุมฟ้าหลวง โรงแรมนภาลัย อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมรับการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุขในจังหวัดอุดรธานีเข้าร่วมประชุม

นางจีรภา วัฒนกูล หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค และภัยสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก 5 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน ไนจีเรีย และเซเนกัล สำหรับประเทศที่มีผู้ป่วยรายแรก หรือมีการระบาดในพื้นที่จำกัด คือ ไนจีเรีย และเซเนกัลนั้น จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-9 กันยายน 2557 พบผู้ป่วยสะสมรวม 3,967 ราย เสียชีวิต 2,105 ราย

ในส่วนประเทศไทย ยังไม่เคยพบมีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลามาก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงของประชาชนชาวไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด และมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจากประเทศดังกล่าวจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี โดยกลุ่มงานควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จึงได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับการการระบาด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนรวมทั้งสิ้น 450 คน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่งานชันสูตร บุคลากรสาธารณสุขจากโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยได้รับการสนับสนุนคณะวิทยากรจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และโรงพยาบาลอุดรธานี

นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กรณีพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) และระดับชาติ มีความท้าทายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมในการจัดการสถานการณ์การระบาดเพื่อป้องกัน และบรรเทาความสูญเสีย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ให้มากที่สุด

การเตรียมพร้อมครั้งนี้ถือได้ว่ามีความจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนรองรับ กรอบแนวทาง มาตรการ แผนปฏิบัติการ เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมผนึกกำลังตั้งแต่ในภาวะปกติ ด้วยการจัดการเตรียมระบบป้องกันลดการแพร่ระบาดของโรคจากคนสู่คน การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุข อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ ระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และระบบการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น