เอเอฟพี - ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) อนุมัติเงิน 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันอังคาร (16 ก.ย.) สนับสนุนการต่อสู้เพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก หลังยูเอ็นเผยอาจต้องใช้เงินสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในความพยายามเอาชนะวิกฤตนี้ ขณะที่องค์การอนามัยโลกเผยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งเหนือ 2,400 ศพแล้วจากผู้ติดเชื้อเกือบ 5,000 ราย ส่วนประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งอเมริกา เรียกร้องนานาชาติลงมือเร่งด่วนจัดการกับการแพร่ระบาด ด้วยเตือนตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะภูมิภาค แต่มันกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลกไปแล้ว
เงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญาให้ความช่วยเหลือ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เวิลด์แบงก์เห็นชอบมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อช่วยเหลือไลบีเรีย เซียร์ราลีโอนและกินี ระงับการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา “โลกจำเป็นต้องดำเนินการและตอบสนองต่อวิกฤตอีโบลาใน 3 ประเทศดังกล่าวให้มากกว่านี้” นายจิมยองคิม ประธานธนาคารโลกระบุในถ้อยแถลง “การอนุมติครั้งนี้จะส่งผลกระทบในทันทีและทางบวกต่อการร่วมต่อสู้จำกัดการแพร่ระบาดอีโบลาของพวกเขา”
ไลบีเรีย ชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจะได้ส่วนแบ่ง 52 ล้านดอลลาร์ เซียร์ราลีโอน ได้รับ 28 ล้านดอลลาร์ และกินี 25 ล้านดอลลาร์ โดยทางธนาคารโลกบอกว่าเงินทุนนี้มีเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตนี้ และเสริมความเข้มแข็งแก่ระบบสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต นอกจากนี้มันยังจะช่วยรัฐบาลจัดเตรียมอาหารและน้ำในสถานกักกันและพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเลวร้าย รวมถึงขนส่งเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ด้วย
ถ้อยแถลงนี้มีขึ้นหลังจากสหประชาชาติเตือนว่าอาจจำเป็นต้องใช้เงินสูงเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของอีโบลา และเตือนว่าช่วงพีคสุดของไวรัสในช่วงสิ้นปี อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 20,000 ราย
การอนุมัติเงินของธนาคารโลกในวันอังคาร (16 ก.ย.) มีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แถลงระหว่างเดินทางเยือนศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (ซีดีซี) ในเมืองแอตแลนตา เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูง และประกาศแผนการส่งเสริมความพยายามของนานาชาติในการต่อสู้กับอีโบลา โดยออกคำสั่งส่งกำลังทหารอเมริกัน 3,000 คนไปยังแอฟริกาตะวันตก เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายแรงนี้
ความพยายามส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะใช้ทหารเหล่าแพทย์เป็นกำลังสำคัญ จะมุ่งเน้นหนักไปที่ไลบีเรีย ประเทศที่อีโบลาระบาดรุนแรงที่สุด โดยภายใต้แผนการครั้งใหม่ กองบัญชาการทหารภาคแอฟริกาของสหรัฐฯ จะจัดตั้งศูนย์บัญชาการและควบคุมขึ้นในกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย เพื่อประสานงานระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับโครงการบรรเทาทุกข์นานาชาติ
ทว่า ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของแผนการ คือการฝึกอบรมและการรณรงค์ด้านสุขอนามัยเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้แบบซึ่งหน้า ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯระบุว่า แผนการนี้จะใช้ทหารอเมริกันราว 3,000 คน
ประธานาธิบดีโอบามายังเรียกร้องให้โลกดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ก่อนการแพร่ระบาดจะกระจายสู่ประชาชนหลายหมื่นคน “ที่นี่อาจเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ แต่ในแอฟริกาตะวันตก ตอนนี้อีโบลากำลังแพร่ระบาดอย่างไม่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน”
“มันล้นทะลักหลุดจากการควบคุม มันกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ มันแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเป็นทวีคูณ วันนี้ประชาชนหลายพันในแอฟริกาตะวันตกติดเชื้อ แต่จำนวนอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหลายหมื่นคน ถ้าเราไม่หยุดยั้งมันในตอนนี้ เราอาจได้เห็นตัวเลขเป็นแสน มันเกี่ยวข้องทั้งอย่างลึกซึ้งทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงต่อเราทุกคน ดังนั้นโรคระบาดี้จึงไม่ใช่แค่ภัยคุกคามความมั่นคงของภูมิภาค แต่ยังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของโลกด้วย”
ความเคลื่อนไหวของธนาคารโลกและสหรัฐฯ มีขึ้นในขณะที่องค์การอนามัยโลกอัพเดทข้อมูลล่าสุดในวันอังคาร (16 ก.ย.) ว่าตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้ออีโบลาทั่ว 5 ชาติแอฟริกาตะวันตก เพิ่มเป็น 4,985 คนแล้ว และในจำนวนนั้นเสียชีวิตถึง 2,461 คน
องค์การอนามัยโลกบอกด้วยว่าเฉพาะ 3 ชาติที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน ผู้ติดเชื้อเกือบครึ่งหนึ่งเพิ่งถูกพบในช่วง 3 สัปดาห์หลังสุดเท่านั้น โดยในกินี จนถึงวันที่ 13 กันยายน อีโบลา คร่าชีวิตชาวบ้านไปแล้ว 595 ศพ หรือร้อยละ 64 จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 936 ราย ซึ่งในนั้นมีอยู่ 33 เปอร์เซ็นต์ ที่เพิ่งติดเชื้อในช่วง 21 วันที่ผ่านมา
ส่วนในไลบีเรีย ชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดหนักหน่วงที่สุด จนถึงวันที่ 9 กันยายน มีผู้เสียชีวิตจากอีโบลา 1,296 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,407 ราย โดยเกือบร้อยละ 57 ของผู้ติดเชื้อ หรือ 1,383 คน เพิ่งติดเชื้อในระยะเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น
ด้านเซียร์ราลีโอน พบผู้เสียชีวิตจนถึงวันที่ 13 กันยายน อยู่ที่ 562 ราย หรือราวร้อยละ 35 จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,620 คน โดยในจำนวนนั้นมีอยู่ร้อยละ 40 ที่เพิ่งติดเชื้อในช่วง 21 วันหลังสุด ขณะที่ไนจีเรีย จนถึงวันที่ 13 กันยายน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38 จากจำนวนผ้ติดเชื้อทั้งหมด 21 คน โดย 6 คนในนั้นเพิ่งติดเชื้อในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในส่วนของเซเนกัล ยืนยันผู้ติดเชื้อ 1 รายตามเดิม โดยเป็นนักศึกษาชาวกินีที่เดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาก่อนมีคำสั่งปิดชายแดนในวันที่ 21 สิงหาคมไม่นาน โดยตอนนี้นักศึกษารายดังกล่าวฟื้นไข้แล้ว แต่ประทเศแห่งนี้จะยังไม่ประกาศปลอดการติดต่อจนกว่าจะครบ 42 วัน
ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐคองโก ก็ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของอีโบลาที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 4 ชาติดังกล่าวข้างต้น โดยจนถึงวันที่ 14 กันยายน พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 66 คน เสียชีวิต 39 ราย และในนั้น 8 คนเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์