xs
xsm
sm
md
lg

พนง.สนามบินนิวยอร์กผวาอีโบลาผละงานประท้วง-มาซิโดเนียตื่นปิดโรงแรมหลังแขกป่วยตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์/เอเอฟพี - อีโบลาก่อความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในสหรัฐฯและยุโรป โดยพนักงานทำความสะอาดห้องโดยสารเครื่องบินราว 200 คนผละงานประท้วงในนิวยอร์ก ส่วน ส.ส.บางส่วนก็เรียกร้องรัฐบาลห้ามนักเดินทางจากเหล่าแอฟริกาตะวันตกที่กำลังผจญการแพร่ระบาดเข้าประเทศ ขณะที่มาซิโดเนียพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายไวรัสมรณะจนต้องสั่งปิดโรงแรม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในออสเตรเลียคลี่คลายลงไปหลังผลตรวจผู้ต้องสงสัยออกมาเป็นลบ

ซิลเวีย เบอร์เวลล์ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐฯ ยอมรับว่า “ประชาชนตื่นกลัวโรคติดต่อดังกล่าว เพราะว่าอีโบลามีอัตราการตายที่สูงมาก พวกเขาตื่นตระหนกเพราะต้องการเรียนรู้และเข้าใจถึงข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับไวรัสมรณะนี้” เธอแถลงกับผู้สื่อข่าว 1 วันหลังจากผู้ป่วยอีโบลารายแรกที่ปรากฏอาการขึ้นในสหรัฐฯ เสียชีวิตที่เทกซัส

ในขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมการเริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจากแอฟริกาตะวันตกตามสนามบินหลัก 5 แห่งในสัปดาห์หน้า เหล่าพนักงานทำความสะอาดของท่าอากาศยานลาการ์เดียของนิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) ได้ผละงานประท้วงมาตรการป้องกันพนักงานจากการติดเชื้ออีโบลาที่ไม่พอเพียง โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องทำความสะอาดห้องน้ำหรืออาเจียนของผู้โดยสาร ขณะที่ไวรัสอีโบลาสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง

“เราต้องอยู่กับสิ่งปฏิกูลและอยู่ใกล้ๆ ขยะตลอดเวลา” ชาเรกุล อิสลาม วัย 20 ปี พนักงานทำความสะอาดห้องโดยสารเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานจอห์น เอฟ.เคเนดี ของนิวยอร์กกล่าว อ้างถึงกรณีที่ตนเองต้องสัมผัสกับขยะและของเหลวที่อาจทำให้เขาติดเชื้ออีโบลาได้

เหตุประท้วงดังกล่าวมีขึ้นพร้อมๆกับที่สมาชิกรีพับลิกัน 23 คน และเดโมแครต 3 คนในสภาคองเกรส ลงนามในหนังสือยื่นถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ร้องขอกระทรวงการต่างประเทศออกคำสั่งห้ามเดินทางและจำกัดการออกวีซาต่อพลเมืองของกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน 3 ชาติแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาหนักหน่วงที่สุด
พนักงานทำความสะอาดห้องโดยสารเครื่องบินราว 200 คนผละงานประท้วงในนิวยอร์ก
ในหนังสือลงวันที่ 8 ตุลาคม ยังเรียกร้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ควบคุมการผ่านแดน พิจารณาใช้มาตรการกักโรคทุกคนที่เดินทางมาจากเหล่าประเทศที่ได้รับผลกระทบ หากพบว่าต้องสงสัยเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีโบลา จนกว่าจะผ่านพ้น 21 วัน อันเป็นช่วงเวลาแสดงอาการของผู้ป่วย

นายโธมัส อิริก ดันแคน ชายชาวไลบีเรียกลายเป็นผู้ป่วยอีโบลารายแรกที่ปรากฏอาการขึ้นในสหรัฐฯ หลังจากเขาเดินทางมาจากบ้านเกิดด้วยเครื่องบินพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 กันยายน และเสียชีวิตในเทกซัสในตอนเช้าวันพุธ (8 ต.ค.)

เข้าใจกันว่า ดันแคนได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยคนหนึ่งขณะอยู่ในประเทศนั้น อย่างไรก็ดี ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ (ซีดีซี) แถลงว่า ไม่มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยรายนี้จะแพร่เชื้อให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ บนเครื่องบิน เนื่องจากเขาเพิ่งปรากฏอาการหลังเดินทางถึงสหรัฐฯแล้วหลายวัน

กระนั้น ข่าวการเสียชีวิตของดันแคนก็กดดันให้วอชิงตันต้องเพิ่มมาตรการป้องกันอีโบลา โดยในวันพุธนั้นเอง ทำเนียบขาวแถลงว่า ภายในไม่กี่วันนี้สนามบินหลัก 5 แห่งของประเทศ ได้แก่ สนามบินโอแฮร์ในชิคาโก, เจเอฟเคและนวร์ก ในนิวยอร์ก, ดัลเลสในวอชิงตัน และสนามบินแอตแลนตาจะเริ่มมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี

นอกจากกรณีของนายดันแคนแล้ว โลกยังจับตาชะตากรรมของพยาบาลชาวสเปนรายหนึ่ง รักษาตัวอยู่ในแผนกกักกันโรคของโรงพยาบาลในกรุงมาดริด ด้วยอาการวิกฤต ภายหลังเธออยู่ในทีมดูแลรักษามิชชันนารีสูงวัย 2 คนที่ติดไวรัสนี้ขณะทำงานในแอฟริกาตะวันตก ทั้งคู่ได้ถูกนำตัวกลับมารักษาที่สเปนและได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เธอกลายเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกที่พบนอกแอฟริกาตะวันตก

จากการพบผู้ติดเชื้ออีโบลาครั้งแรกทั้งในอเมริกาและสเปน กำลังก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า ไวรัสร้ายแรงชนิดนี้อาจระบาดมาถึงพวกชาติตะวันตกทั้งหลาย และในวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) ก็เกิดความตื่นตระหนกขึ้นในมาซิโดเนีย ที่เผยว่าพวกเขากำลังตรวจสอบเชื้ออีโบลาในศพชายชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตหลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงสโกเปียไม่กี่ชั่วโมง
มาซิโดเนียพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายไวรัสมรณะจนต้องสั่งปิดโรงแรม
เหตุการตายของชายรายดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มาซิโอเนียต้องปิดโรงแรมแห่งหนึ่งที่ผู้เสียชีวิตเข้าพัก รวมถึงกักกันโรคชาวอังกฤษอีกคน พนักงานของโรงแรมและทุกคนที่สัมผัสกับเขา

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาซิโดเนียเผยว่าชายคนดังกล่าวเดินทางมาจากอังกฤษเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในตอนค่ำวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) ก่อนจะเสียชีวิตในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โดยนายแพทย์โจวานสกา คอสคอฟสกา คณะกรรมาธิการด้านโรคติดต่อของกระกระทรวงบอกว่าชายรายนี้มีอาการไข้ อาเจียน เลือดตกใน และอาการของเขาทรุดลงอย่างฉับพลัน

ท่ามกลางความกังวลว่าอีโบลาอาจแพร่ระบาดในยุโรป คอสคอฟสกาแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่าอาการทุกอย่างล้วนเป็นอาการของอีโบลา ซึ่งเพิ่มข้อสงสัยเกี่ยวกับเหยื่อรายนี้ เนื่องจากไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเร็วๆ นี้เขาเคยเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตกหรือไม่ “เบื้องต้นเรามีข้อมูลว่าเขาเคยไปไนจีเรีย แต่เพื่อนของเขากลับบอกกับเราว่าพวกเขาไม่เคยไปไหนทั้งนั้น” พร้อมเผยว่าตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อของผู้เสียชีวิตจะถูกส่งไปตรวจสอบในเยอรมนี และจะใช้มาตรการกักกัน ณ โรงแรมที่เขาเข้าพัก

เวลาต่อมาโฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า “เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์แจ้งกับเราว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนไข้รายนี้ตายเพราะอีโบลา แต่ด้วยมาตรการป้องกันไว้ก่อนตามระเบียบการขององค์การอนามัยโลก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์จะใช้ทุกมาตรการทั้งหมดที่มี หากว่าคนไข้รายนี้ป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรงนี้”

ในขณะที่ยุโรปเริ่มมีความวิตกกังวลมากขึ้น แต่ในส่วนของออสเตรเลีย สถานการณ์กลับตรงกันข้าม หลังผลตรวจอีโบลาในสตรีที่มีไข้หลังเดินทางกลับมาจากเซียร์ราลีโอนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาเป็นลบ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันศุกร์ (10 ก.ย.)

อย่างไรก็ตาม เจเนต ยัง หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ ระบุว่าพยาบาลอาสาสมัครกาชาด วัย 57 ปี จะต้องอยู่ภายใต้สังเกตอาการในโรงพยาบาลในเมืองแครนส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย อีกอย่างน้อย 24 ช่วโมงในมาตรการป้องกันไว้ก่อน

พยาบาลรายนี้มีอาการไข้ไม่รุนแรงนักในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (9 ต.ค.) จึงได้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลแครนส์ ก่อนถูกแยกตัวเพื่อสอบสวนโรคในความเป็นไปได้ว่าอาจติดเชื้ออีโบลา
กำลังโหลดความคิดเห็น