xs
xsm
sm
md
lg

“นิวยอร์ก-นิวเจอร์ซีย์” ยันกักกันโรค 21 วัน สู้ “อีโบลา” แม้ถูกแพทย์-ทำเนียบขาวโต้ว่า ผิดหลักวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์ก และ นิวเจอร์ซีย์ ของสหรัฐฯ มีความเห็นขัดแย้งกับพวกนักวิทยาศาสตร์ ในเรื่องมาตรการกักกันโรค 21 วัน พวกแพทย์พยาบาลที่เพิ่งกลับจากการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ขณะที่เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำยูเอ็นซึ่งกำลังเดินทางเยือนภูมิภาคดังกล่าว วิพากษ์วิจารณ์หลายประเทศยังร่วมมือช่วยต่อสู้วิกฤตอีโบลาน้อยมาก ทางด้านออสเตรเลียประกาศในวันจันทร์ (27 ต.ค.) ระงับการออกวีซาให้นักเดินทางจาก 3 ประเทศ ที่ไวรัสร้ายนี้กำลังแพร่ระบาดรุนแรง ถึงแม้ผลตรวจเด็กสาวที่ต้องสงสัยระบุว่าเธอไม่ได้ติดเชื้อแต่อย่างใด

ซาแมนธา พาวเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ กล่าวก่อนเดินทางออกจากกินีเมื่อวันอาทิตย์ (26) ว่า ผู้นำหลายประเทศยกย่องชมเชย และผลักดันให้อเมริกาและอังกฤษเร่งช่วยเหลือประเทศที่เผชิญการระบาดของอีโบลารุนแรงที่สุด โดยที่ไม่ได้ส่งแพทย์ เตียงผู้ป่วย หรือเงินช่วยเหลือไปให้ประเทศเหล่านั้นเลย

“ระดับการรับมืออีโบลาของนานาชาติควรแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้โดยสิ้นเชิง”

หลังจากกินี พาวเวอร์จะเดินทางต่อไปยังเซียร์ราลีโอน และ ไลบีเรีย โดยที่ทั้ง 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกเหล่านี้ คือชาติที่โรคอีโบลากำลังระบาดรุนแรงที่สุด และผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4,922 รายจากไวรัสร้ายนี้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ใน 3 ประเทศนี้เอง

จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้ออีโบลากว่า 10,000 คนในแอฟริกาตะวันตก

อีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคนี้คือ มาลี กำลังพยายามป้องกันไม่ให้อีโบลาลุกลาม หลังพบเด็กหญิงวัย 2 ขวบเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้ภายหลังเดินทางด้วยรถประจำทางมาจากกินีเป็นระยะทางถึง 1,000 กิโลเมตร และถือเป็นผู้ป่วยอีโบลารายแรกในประเทศนี้

ทั้งนี้ อีโบลาทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยทำให้ไข้ขึ้นสูง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง อาเจียน และท้องร่วง บางรายอวัยวะหยุดทำงาน และเลือดไหลไม่หยุด

ไวรัสเขตร้อนชนิดนี้แพร่เชื้อจากการสัมผัสเหงื่อ อาเจียน เลือด หรือของเหลวอื่นๆ จากร่างกายผู้ติดเชื้อ ที่สำคัญยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด

ที่อเมริกา เคซี ฮิกค็อกซ์ พยาบาลที่กำลังถูกกักกันโรคหลังเธอกลับจากไปดูแลผู้ป่วยอีโบลาในเซียร์ราลีโอน ได้ร้องเรียนว่า เธอถูกปฏิบัติราว “อาชญากร” เมื่อเดินทางถึงนิวเจอร์ซี เนื่องจากถูกนำไปไว้นอกอาคารหลักของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเพียงเตียงคนไข้ ส้วมเคมีที่ไม่ต้องกดชักโครก และไม่มีห้องอาบน้ำ

ฮิกค็อกซ์ ที่ผลตรวจหาไวรัสอีโบลายืนยันออกมาแล้วว่าเธอไม่ได้ติดเชื้อ กลายเป็นเหยื่อคนแรกของมาตรการกักกันโรคนาน 21 วันตามกฎหมายล่าสุดที่หลายมลรัฐทั้งนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และอิลลินอยส์ ประกาศใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (24) โดยที่เธอเดินทางกลับสู่อเมริกาในวันนั้นพอดี

อย่างไรก็ตาม แม้ทนายความของฮิกค็อกซ์ขู่ว่าจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลภายในสัปดาห์นี้ และทำเนียบขาวออกมากดดันโดยแสดงความกังวลว่า มาตรการของรัฐเหล่านั้นอาจยับยั้งไม่ให้แพทย์และพยาบาลเดินทางไปช่วยผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นการแก้ไขต่อสู้กับปัญหาที่ต้นตอของโรค ทว่า ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ยังคงยืนยันว่า จะบังคับใช้แผนกักกันโรคต่อไป
เจมส์ โฟลค์ ชาวเมืองที่อยู่ในย่านยูนิเวอร์ซิตี้พาร์ค ของเมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส โชว์การตกแต่งหน้าบ้านและสนามหญ้าต้อนรับเทศกาลฮัลโลวีน โดยใช้ธีมโรคอีโบลา ทั้งนี้เขาอาศัยสภาพอพาร์ตเมนต์ของเหยื่อผู้ติดเชื้อไวรัสร้ายนี้เป็นรายแรกในสหรัฐฯ ซึ่งก็อยู่ในเขตเมืองดัลลัส มาเป็นแบบในการตกแต่ง เขาบอกว่าต้องการระดมทุนเพื่อช่วย “องค์การแพทย์ไร้พรมแดน”
แผนดังกล่าวคือ เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลและผู้เดินทางที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีโบลา ถ้าหากเป็นผู้มีถิ่นพำนักอยู่ในทั้ง 3 มลรัฐ ต้องกักกันตัวเองอยู่ในบ้านนาน 21 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรคนี้ โดยระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเดินทางไปตรวจอาการวันละ 2 ครั้ง ส่วนผู้ที่ไม่มีนิวาสถานอยู่ใน 3 รัฐ จะถูกส่งตัวกลับบ้านหรือกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐนั้นๆ จัดไว้ให้

กฎนี้มีขึ้น 1 วันหลังจาก เคร็ก สเปนเซอร์ แพทย์ชาวนิวยอร์ก ถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้ออีโบลา หลังกลับจากเดินทางไปรักษาผู้ป่วยในกินี ทว่า ก่อนแสดงอาการ สเปนเซอร์เดินทางอย่างอิสระไปทั่วเมือง ซึ่งอาจหมายถึงการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

สเปนเซอร์ที่ถูกกักตัวอยู่ในโรงพยาบาล เมื่อวันอาทิตย์ มีอาการดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังถือว่ารุนแรง แม้โดยรวมถือว่าทรงตัว

ทั้งสเปนเซอร์และฮิกค็อกซ์ทำงานให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งเป็นมูลนิธิการกุศลที่ร่วมต่อสู้กับการระบาดของอีโบลา

จนถึงขณะนี้ มีผู้ถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้ออีโบลาในอเมริกาเพียง 4 คน คนแรกคือชาวไลบีเรียที่เดินทางไปเยี่ยมคู่หมั้นที่เมืองดัลลัส, มลรัฐเทกซัส และเสียชีวิตในเดือนกันยายน อีกสองคนคือพยาบาลที่ดูแลชายคนดังกล่าว และปัจจุบันอาการปลอดภัยแล้ว

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกผู้ว่าการมลรัฐที่ประกาศใช้มาตรการบังคับกักกันโรค 21 วัน ต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักจากบรรดาสมาชิกในประชาคมทางการแพทย์และทำเนียบขาว

“วิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องคุ้มครองพวกเรา ก็คือ การหยุดยั้งโรคนี้ในแอฟริกา และเราจำเป็นต้องอาศัยแพทย์พยาบาลและผู้ทำงานด้านดูแลสุขภาพเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงไม่ต้องการนำตัวพวกเขาไปอยู่ในจุดซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายอกสบายใจเอามากๆ แม้กระทั่งพวกเขาอาจจะอาสาไปอยู่เองก็ตามที” นพ.แอนโธนี ฟาวซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐฯกล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของคณะรัฐบาลโอบามาบอกกับสำนักข่าวเอพี ว่า ทางคณะรัฐบาลมองว่ามาตรการของมลรัฐเหล่านี้ “ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่ที่วิทยาศาสตร์”

ฟาวซี ซึ่งวิ่งรอกไปออกรายการทอล์กโชว์เช้าวันอาทิตย์ของเครือข่ายทีวีใหญ่ๆ ในสหรัฐฯถึง 5 รายการ ก็ย้ำว่า การออกมาตรการต่างๆ ควรอิงอยู่กับวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พูดอย่างชัดเจนว่าคนที่มีเชื้อไวรัสอีโบลาจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าจะมีอาการปรากฏออกมา และกระทั่งถึงตอนนั้น การติดเชื้อก็จำเป็นที่จะต้องมีการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวที่มาจากร่างกายผู้ป่วย

เขาระบุว่าการเฝ้าติดตามพวกผู้ทำงานด้านการแพทย์ที่กลับมาสหรัฐฯให้ใกล้ชิด ว่ามีอาการป่วยติดเชื้ออีโบลาหรือไม่ ก็เป็นการเพียงพอแล้ว พร้อมกับเตือนว่าการบังคับแยกพวกเขาออกจากคนอื่นๆ หรือการกักกันโรคพวกเขาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ อาจส่งผลทำให้การต่อสู้กับการระบาดในแอฟริกาตะวันตก กลายเป็นอัมพาต

อย่างไรก็ตาม การระบาดของอีโบลายังคงส่งผลให้หลายประเทศเร่งออกมาตรการป้องกันไว้ก่อน ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ ออสเตรเลียประกาศระงับการออกวีซาให้ผู้ที่ต้องการเดินทางจากประเทศที่มีการระบาดในแอฟริกาตะวันตกและระงับโครงการด้านมนุษยธรรมในประเทศเหล่านั้นเป็นการชั่วคราว

สก็อตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียเสริมว่า ผู้ที่ได้รับวีซ่าด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมสามารถเดินทางสู่ออสเตรเลียได้ แต่ต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ 3 ขั้นตอนก่อนออกเดินทางและหลังจากเดินทางถึง

มอร์ริสันยังขอให้พลเมืองออสเตรเลียและผู้เดินทางชาติอื่นๆ แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่า เคยเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันตกในระยะเวลา 21 วันก่อนเดินทางถึงออสเตรเลียหรือไม่

มาตรการนี้มีขึ้นหลังจากเด็กสาววัย 18 ปีที่เดินทางถึงออสเตรเลียภายหลังไปอยู่ที่กินี 12 วัน พร้อมกับญาติ 8 คน ยังถูกกักตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐควีนส์แลนด์ แม้ผลตรวจหาเชื้ออีโบลาออกมาเป็นลบก็ตาม

ปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลียเสริมว่า เด็กสาวคนนี้ถือเป็นคนที่ 12 ที่ถูกตรวจสอบหาเชื้ออีโบลาในออสเตรเลีย ซึ่งทุกคนได้ผลออกมาเป็นลบ

ก่อนหน้านี้ เด็กสาวคนดังกล่าวที่ย้ายไปพำนักในออสเตรเลียเป็นการถาวรด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ถูกกักตัวอยู่ในบ้านที่เมืองบริสเบน ก่อนที่จะมีไข้ และย้ายไปกักกันในโรงพยาบาลรอยัล บริสเบน แอนด์ วีเมน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

จีนเน็ต ยัง หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควีนส์แลนด์ เผยว่า เด็กสาวคนดังกล่าวไม่มีไข้แล้ว แต่ยังต้องถูกกักตัวต่อไปเพื่อตรวจหาเชื้ออีกครั้งในวันพุธ (29)

ยังเสริมว่า อีก 3 ครอบครัวที่เดินทางถึงควีนส์แลนด์เมื่อเร็วๆ นี้ จากกินี ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน ถูกกักตัวในที่พักเพื่อติดตามอาการเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น