รอยเตอร์ - ลากอส เมืองหลวงด้านการค้าของไนจีเรีย พบผู้ติดเชื้ออีโบลาเพิ่มเติมจาก 7 เป็น 10 คน และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ในนั้นรวมถึงชาวไลบีเรียที่นำพาไวรัสมรณะนี้เข้ามา รัฐมนตรีสาธารณสุขเผยเมื่อวันจันทร์ (11 ส.ค.) ท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดภายในเมืองที่มีประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะเดียวกัน ไนจีเรียยังเจอปัญหาแทรกซ้อนด้วยคณะแพทย์หยุดงานประท้วงเรื่องค่าจ้าง ทำให้ขาดแคลนบุคลากรรับมือกับวิกฤตอีโบลา
นายออนเยบูชี ชุควู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไนจีเรีย ระบุว่าผู้ติดเชื้อทุกคนล้วนแต่เคยสัมผัสกับนายแพทริก ซอว์เยอร์ บุคคลที่ล้มฟุบตอนเดินทางาถึงสนามบินลากอสเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนผู้เสียชีวิตอีกคนก็คือพยาบาลที่ให้การรักษาเขาโดยไม่รู้ว่านายซอร์เยอร์ติดเชื้ออีโบลา ดังนั้นจึงไม่ได้สวมชุดป้องกัน
การปรับปรุงตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุด มีขึ้นหลังจากเมื่อวันศุกร์ (8) รัฐบาลไนเจีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของอีโบลา “ณ วันนี้ มีกรณีผู้สัมผัสขั้นต้นและขั้นสองกับผู้ติดเชื้อรายแรก อยู่ภายใต้การสังเกตอาการหรือกักกันตัวทั้งหมด 77 คน” นายชุควู แถลงกับผู้สื่อข่าว พร้อมเผยว่ารายล่าสุดก็เป็นพยาบาลเช่นกัน ด้วยเธอมีการสัมผัสขั้นต้นกับนายซอร์เยอร์ ชาวไลบีเรียสัญชาติอเมริกัน
“พอเธอล้มป่วย เราก็นำตัวเธอเข้าสู่สถานกักกัน เราเพิ่งตรวจเลือดเธอเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เธอพักอาศัยอยู่กับสามี ดังนั้นเขาจึงอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของเราด้วยในตอนนี้” นายชุควูกล่าว
การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในเหล่าชาติแอฟริกาตะวันตกครั้งนี้ถือเป็นหนที่เลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์และองค์การอนามัยโลกเมื่อวันศุกร์ (8) ประกาศให้มันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะแพร่ระบาดต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ด้วยจนถึงตอนนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 1,779 รายและมีผู้เสียชีวิตถึง 961 คน
ซอว์เยอร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดที่ตัดสินใจเดินทางมายังไนจีเรีย แม้มีอาการป่วยและอยู่ภายใต้การสังเกตอาการของเจ้าหน้าที่ไลบีเรีย เนื่องจากน้องสาวของเขาเพิ่งเสียชีวิตจากอีโบลา “โชคร้ายอย่างยิ่ง ที่มีคนบ้าคนหนึ่งนำพาอีโบลามาหาเรา แต่เราจำเป็นต้องหยุดยั้งมัน” ประธานาธิบดีกูดลัค โจนาธานของไนจีเรียบอกเมื่อวันจันทร์ (11) “ในฐานะรัฐบาล เราใหัสัญญาว่าจะทำทุกอย่างเท่าที่จะเป็นได้เพื่อยับยั้งอีโบลา”
ไวรัสมรณะนี้สร้างความตึงเครียดด้านสาธารณสุขในประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ และรัฐบาลชาติเหล่านั้นก็ตอบสนองด้วยมาตรการต่างๆ ในนั้นรวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเซียร์ราลีโอน ไลบีเรียและไนจีเรีย
ไนจีเรียเพิ่มความพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดด้วยการเพิ่มศูนย์กักกันโรค เพิ่มการคัดกรองตามแนวพรมแดน และติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ รัฐบาลวอนให้อาสาสมัครออกมาช่วยเหลืองานยับยั้งการระบาดของโรคหลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเหล่าแพทย์ภาครัฐที่หยุดงานประท้วงด้านค่าจ้างและสภาพแวดล้อมการทำงานมานานนับเดือน ปฏิเสธคำร้องขอของรัฐบาลให้กลับมาทำงานเพื่อช่วยจัดการกับวิกฤตนี้