xs
xsm
sm
md
lg

UNSC มีมติ “ห้ามขายอาวุธ” ให้กบฏฮูตีในเยเมน-ขึ้นบัญชีดำลูกชาย “ซาเลห์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิทาลีย์ เชอร์คิน ผู้แทนรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ ยกมือขอใช้สิทธ์งดออกเสียงในการโหวตร่างมติว่าด้วยความขัดแย้งในเยเมน เมื่อวานนี้ (14 เม.ย.)
รอยเตอร์ - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติห้ามขายอาวุธแก่กบฏฮูตีที่ยึดอำนาจเกือบทั่วเยเมน พร้อมทั้งขึ้นบัญชีดำหัวหน้ากบฏและบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ เมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) โดยรัสเซียซึ่งมีอำนาจที่จะวีโตมติดังกล่าวได้ของดออกเสียง

ร่างมติซึ่งเสนอโดยจอร์แดนกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับผ่านความเห็นชอบจากสมาชิก UNSC 14 ประเทศ ยกเว้นรัสเซียซึ่งงดออกเสียง โดยอ้างว่าข้อเสนอบางอย่างจากฝ่ายตนถูกเพิกเฉย

“สมาชิกผู้ร่างมติปฏิเสธเงื่อนไขของรัสเซียที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งหยุดยิงและเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็ว” วิทาลีย์ เชอร์คิน เอกอัครราชทูตผู้แทนรัสเซียประจำยูเอ็น กล่าวต่อที่ประชุมหลังการโหวตเสร็จสิ้นลง

ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอ่าวอาหรับเปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่กบฏฮูตีในเยเมนมาตั้งเดือนที่แล้ว ขณะที่สหรัฐฯ ระบุว่าจะเร่งจัดส่งอาวุธเข้าไปช่วยสนับสนุน

“คำสั่งห้ามค้าอาวุธควรเป็นไปอย่างครอบคลุม เพราะก็ทราบกันดีแล้วว่าอาวุธจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในเยเมน... ร่างมติฉบับนี้ไม่ควรจะถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการต่อสู้ให้รุนแรงขึ้นไปอีก” เชอร์คินกล่าว

ด้านคณะกรรมการปฏิวัติสูงสุดของกบฏฮูตีในเยเมน ออกมาประณามร่างมติ UNSC ว่าเป็นการส่งเสริม “ความก้าวร้าว”

เหตุจลาจลนองเลือดแผ่ลามไปทั่วเยเมนนับตั้งแต่กบฏฮูตีนิกายชีอะห์สามารถยึดกรุงซานาเอาไว้ได้ในปีที่แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีอับดุรรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ถูกบีบพ้นจากอำนาจ และต้องลี้ภัยไปซาอุดีอาระเบียในที่สุด

UNSC ยังมีคำสั่งห้ามเดินทางและอายัดทรัพย์สินทั่วโลกของอาเหม็ด ซาเลห์ อดีตหัวหน้าหน่วยรีพับลิกันการ์ดซึ่งเป็นบุตรชายแท้ๆ ของผู้นำเยเมนคนก่อน รวมไปถึงผู้นำสูงสุดของกบฏอย่างอับดุลมาลิก อัล-ฮูตี

อดีตประธานาธิบดีซาเลห์กับแกนนำอาวุโสของกบฏฮูตีอีก 2 คน คือ อับดุลคอลิก อัล-ฮูตี และอับดุลเลาะห์ ยะห์ยา อัล-ฮะกีม ถูก UNSC ประกาศขึ้นบัญชีดำไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

การยึดอำนาจของกบฏฮูตีมีเหล่าทหารที่ยังภักดีต่อซาเลห์เป็นกำลังสำคัญ และแม้จะเริ่มต้นจากการแก่งแย่งอำนาจภายใน แต่วิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็ได้กลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างซาอุดีอาระเบียซึ่งปกครองด้วยราชวงศ์สุหนี่ กับอิหร่านซึ่งนับถือนิกายชีอะห์เช่นเดียวกับพวกกบฏ

ริยาดและมหาอำนาจหลายประเทศกล่าวหาว่าอิหร่านติดอาวุธให้กบฏฮูตีซึ่งถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของเยเมน แต่เตหะรานก็ปฏิเสธมาโดยตลอด พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเยเมนชุดใหม่โดยเร็ว โดยอิหร่านยินดีที่จะสนับสนุนให้เยเมนก้าวพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้ไปได้

มติของ UNSC เรียกร้องให้กบฏฮูตีวางอาวุธ และถอนกำลังออกจากทุกพื้นที่ที่ยึดไว้รวมถึงกรุงซานา นอกจากนี้ยังตำหนิ “พฤติกรรมบ่อนทำลาย” ของอดีตประธานาธิบดี ซาเลห์ และขอให้เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คีมูน “อำนวยการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการอพยพคน ตลอดจนร่วมมือกับรัฐบาลเยเมนในการระงับสงครามเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม”


กำลังโหลดความคิดเห็น