xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ไม่ลอกรธน.เก่า-สั้นกระชับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรธ.ได้ข้อสรุปจะยกร่างรธน.ขึ้นใหม่ ไม่ลอกของเก่า มีความเป็นสากล สั้นกระชับ ไม่เกิน 200 มาตรา พร้อมวางกลไกให้แก้ไขยาก ผู้ตรวจการฯ เตรียมพบ กรธ. เสนอขอเพิ่มอำนาจตรวจสอบหน่วยงานรัฐ -จัดสรรงบ 1 % ให้องค์กรตรวจสอบทั้งหมด เพื่อความเป็นอิสระ

วานนี้ (12ต.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมกรธ. ว่า ตนจะถามที่ประชุมว่า จะเขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบมีรายละเอียด หรือจะเขียนให้สั้น กระทัดรัด และครอบคลุม หรือจะออกแบบใหม่ทั้งหมด หรือจะนำฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาปรับปรุงตัดต่อ หากได้ข้อสรุปจากที่ประชุมก็จะเริ่มต้นลงมือทำงานได้ ซึ่งเมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ทางกฤษฎีกา ก็ได้เริ่มต้นร่างแล้ว ส่วนโครงสร้างคงไม่มีการแบ่งเป็น 4 หมวดเหมือนเดิม แต่เนื้อหาคงไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้รัฐธรรมนูญสั้น กระทัดรัด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าที่ประชุมคิดแบบเดียวกับตนหรือไม่ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญสั้น ก็จะมีการเขียนกรอบ เพื่อเป็นประกันไว้ในร่าง เพื่อไม่ให้เกิดการตีกินกันในภายหลัง เป็นการกระตุ้นมุมกลับ

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนนตรี ได้ส่งสารชี้แจงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เท่าที่ประชุมกัน ก็เป็นไปตามแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ เสนออยู่แล้ว ส่วนเรื่องปรองดอง ตนยังนึกไม่ออก ก็ให้กรธ.ไปคิดกัน โดยได้ตั้งคณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดองขึ้นมาศึกษา หาเหตุผลว่า ทำไมต้องปรองดอง แล้วถ้าจะปรองดอง จะปรองดองกันอย่างไร โดยจะนำของเดิมที่ได้ทำการศึกษาไว้มาดู อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มต้นประชุมกรธ. ตนมีความเป็นห่วงเรื่องเวลา แต่เมื่อประชุมไปแล้ว 1 สัปดาห์ ตนก็รู้สึกอุ่นใจขึ้น เพราะกรธ.ทุกคน แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ก็ได้แสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์มาก มีประเด็นที่แตกต่าง แต่ก็ไม่ถึงกับขัดแย้งกัน ซึ่งตนก็ต้องขอบคุณกรธ. ทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษา กรธ.ได้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากที่ คณะกรธ.ได้มีมติแต่งตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ยกร่างรธน.ใหม่ ไม่เกิน200มาตรา

หลังการประชุม นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาต่อเนื่องในกรอบแนวทางการดำเนินการจัดทำร่าง ตามมาตรา 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญ ตามมาตรา 35 (9) คือ ต้องทำความเข้าใจว่า ส่วนใดคือหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ที่สามารถแก้ไขได้ และกำหนดหลักการ การใช้คะแนนเสียงจำนวนมากเพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และให้มีกลไกปฏิรูปเรื่องสำคัญให้สมบูรณ์ เช่น ปฏิรูปการศึกษา กระบวนการยุติธรรม และการป้องกันการทุจริต เพราะจะส่งเสริมด้านอื่นๆให้การปฏิรูป มีประสิทธิภาพตามไปด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณากรอบร่างรัฐธรรมนูญตามความมุ่งหมายของ คสช. ว่า การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง ควรนำข้อเสนอของ สปท. สนช. และ สปช. มาปรับความคิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้นักการเมืองมีหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้เกิดการยอมรับ พร้อมทั้งควรวางหลักการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างการเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบ

ทั้งนี้อนุกรรมการโครงสร้างฝ่ายบริหารและอนุกรรมการรับฟังและสรุปความเห็น ที่มีผู้เสนอแนะได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก และกำหนดกรอบการดำเนินงานโดยในการรับฟังความคิดเห็นโดยจะส่งเป็นหนังสือไปสอบถามความคิดเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยัง คสช. ครม. สนช. ประชาชน พรรคการเมือง มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้กระแสข่าวที่ว่า มีการตั้งองค์กรตรวจสอบนโยบายประชานิยมนั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เราไม่มีนโยบาย และไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ และยืนยันการทำงานเราไม่ต้องการเยิ่นเย้อ ไม่ทำงานเกินกรอบเวลา ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มว่าเราจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้คัดลอกจากรัฐธรรมนูญเก่า เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของเราเอง แต่จะต้องมีความเป็นสากล และเขียนให้สั้น กระชับที่สุด โดยความเห็นตนคิดว่าน่าจะไม่เกิน 200 มาตรา และคาดว่า สามารถพิจารณารายมาตราได้ในสัปดาห์นี้

ผู้ตรวจการฯ ชงกรธ. ขออำนาจเพิ่ม

นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมกาษณ์ถึงกรณีได้รับคำเชิญจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปหารือในวันที่ 15 ต.ค. เวลา 16.00 น. ซึ่งคงได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานขององค์กร โดยผู้ตรวจก็จะได้ยืนยันว่า ไม่ขอควบรวมกับองค์กรอื่น รวมทั้งให้คงอำนาจเดิมตามรัฐธรรมนูญ 50 ไว้ เฉพาอย่างยิ่งอำนาจตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 ที่ให้ผู้ตรวจฯ สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นพิจารณาได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ร้องถ้ากรณีดังกล่าวมีผลกระทบกับประชาชน และให้คงอำนาจในการเรียกเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในกรณีมีการสอบสวนตามที่มีการร้องเรียน หากหน่วยงานไม่ดำเนินการก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ตามมาตรา 15 ประกอบมาตรา 45 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 รวมถึงในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ที่ผู้ตรวจได้ดำเนินการมาตลอด ควรได้สานงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอำนาจหน้าที่ที่อยากขอให้กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเพิ่มให้กับผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ ในกรณีผู้ตรวจฯ มีข้อเสนอให้หน่วยงานแล้ว ไม่มีการดำเนินการภายใน 90 วัน โดยไม่แจ้งเหตุผล ให้ถือว่าหน่วยงานนั้นมีความผิดวินัยร้ายแรง รวมทั้งให้ผู้ตรวจมีอำนาจในการฟ้องคดีแพ่ง แทนประชาชน และเป็นหน่วยงานรับปรึกษาปัญหาข้อกฎหมายให้กับประชาชน

นอกจากนี้จะหารือถึงความเป็นไปได้ในการให้รัฐ จัดสรรงบประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดให้กับองค์กรอิสระรวมทั้งศาล ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ ในการตรวจสอบอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณอยู่ภายใต้สำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผู้ตรวจฯ สามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ย่อมไม่อยากพิจารณางบประมาณให้เราเติบโต

"ผมเชื่อในความสามารถของท่านมีชัย เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความคิดลุ่มลึก รอบคอบ มีประสบการณ์ในเรื่องการยกร่างมามาก คิดว่าไม่มีปัญหา การที่ท่านเชิญเราไปชี้แจงก่อน แสดงว่าอยากรับฟังเราไม่เหมือนกับชุดที่แล้ว ที่ยังมีการเสนอให้ควบรวม เป็นความคิดที่ไม่มีเหตุผล ถือว่าเจตนาไม่ดีกับองค์กรเรา จึงเชื่อว่ากรรมการยกร่างฯชุดนี้ จะรับฟังมากกว่าชุดที่แล้ว" นายศรีราชา กล่าว

รธน.ต้องลบภาพสองมาตรฐาน

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึง แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ของกรธ. ว่า ส่วนตัวหวังที่จะเห็นการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม ผ่านการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยทางพรรคคนไทยได้มีกรอบแนวคิดในด้านสังคม เกี่ยวกับการปฏิรูประบบกฎหมาย เพื่อคนไทย ให้มีการบังคับใช้ที่ชอบธรรม และเท่าเทียม โดยต้องมีบทบัญญัติครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการ ทั้ง ตำรวจ อัยการ และตุลาการศาลต่างๆ ไม่ให้เกิดการบิดเบือนกฎหมาย ซึ่งถือเป็นช่องโหว่ และการคอร์รัปชันประเทศทางหนึ่ง ตรงนี้เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรที่ตำรวจทำไม่ได้ เว้นแต่ไม่ได้ทำ สะท้อนว่าการบังคับใช้กฎหมายกลายเป็นเรื่องดุลพินิจมากกว่าความชอบธรรม

นอกจากนี้ในส่วนของปลายน้ำ หรือประชาชน ก็ต้องทำให้เกิดความเคารพยำเกรงกฎหมาย ไม่ให้มีต่อรองกฎหมายอย่างที่ผ่านมา เพราะคนไทยทุกสาขาอาชีพ มักใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตน ทำให้เกิดสังคมที่ไร้ซึ่งระเบียบ และไม่เกรงกลัวกฎหมาย คนมีฐานะหรือผู้มีอิทธิพลต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อขจัดวาทกรรมเรื่องสองมาตรฐานให้หมดไป ซึ่งตนอยากเห็นประเด็นเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกระบวนการของ กรธ. มากกว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ไม่มีอำนาจให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วได้
กำลังโหลดความคิดเห็น