xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” หวัง กรธ.รีเซตกฎหมายไม่ให้ ตร.-อัยการ-ศาล บิดเบือน - ขอ ส.ส.วาระ 2 ปี ไม่มี ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคคนไทยหวังเห็นปฏิรูปผ่านร่างรัฐธรรมนูญ รีเซตกฎหมายมีบทบัญญัติครอบคลุมตำรวจ อัยการ ศาล ไม่ให้บิดเบือน ส่วนประชาชนต้องเคารพ ไม่ให้มีต่อรอง อยู่ใต้บรรทัดฐานเดียวกัน กำหนดกรอบการแก้ไข พร้อมแฝงการอดออม ลดรายจ่าย ขอ ส.ส.มีวาระ 2 ปี ถ้าเป็นไปได้ไม่ต้องมีวุฒิสภา

วันนี้ (12 ต.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ส่วนตัวหวังที่จะเห็นการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมผ่านการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในครั้งนี้ โดยทางพรรคคนไทยได้มีกรอบแนวคิดในด้านสังคม เกี่ยวกับการปฏิรูประบบกฎหมาย หรือรีเซตประเทศไทยด้วยกฎหมาย รีเซตกฎหมายเพื่อคนไทย ที่ต้องการให้มีการบังคับใช้ที่ชอบธรรม และเท่าเทียม โดยต้องมีบทบัญญัติครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการ ทั้งตำรวจ อัยการ และตุลาการศาลต่างๆ ไม่ให้เกิดการบิดเบือนกฎหมาย ซึ่งถือเป็นช่องโหว่และการคอร์รัปชั่นประเทศทางหนึ่ง ตรงนี้เคยมีคนกล่าวไว้ว่าไม่มีอะไรที่ตำรวจทำไม่ได้ เว้นแต่ไม่ได้ทำ สะท้อนว่าการบังคับใช้กฎหมายกลายเป็นเรื่องดุลพินิจมากกว่าความชอบธรรม นอกจากนี้ ในส่วนของปลายน้ำ หรือประชาชน ก็ต้องทำให้เกิดความเคารพยำเกรงกฎหมาย ไม่ให้มีต่อรองกฎหมายอย่างที่ผ่านมา เพราะคนไทยทุกสาขาอาชีพมักใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตน ทำให้เกิดสังคมที่ไร้ซึ่งระเบียบ และไม่เกรงกลัวกฎหมาย คนมีฐานะหรือผู้มีอิทธิพลต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อขจัดวาทกรรมเรื่องสองมาตรฐานให้หมดไป ตนอยากเห็นประเด็นเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกระบวนการของ กรธ.มากกว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ไม่มีอำนาจให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วได้

“ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.สามารถวางกรอบแนวทางการแก้ไขประมวลกฎหมายต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งกำหนดกรอบการแก้ไขกฎหมายแต่ละประเภทไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อใช้รัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นายอุเทนกล่าว

นายอุเทนกล่าวอีกว่า อยากให้ กรธ.คำนึงถึงประเด็นอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้อนาคตของประเทศ โดยต้องแฝงเรื่องการอดออมลดรายจ่ายของประเทศและครัวเรือนเข้าไปในรัฐธรรมนูญ วางกรอบการจัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณของประเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ควรที่จะทบทวนบทบัญญัติในส่วนของการเมืองเสียใหม่ ไม่ควรตั้งธงไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในส่วนของ ส.ส.นั้น ส่วนตัวก็ได้เคยเสนอกำหนดวาระของสภาผู้แทนราษฎรไว้เพียง 2 ปี เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันทำงานและทำความดี โดยมาวัดผลงานของแต่ละคนในการเลือกตั้งที่จะจัดถี่ขึ้น อย่างน้อยสัก 4-5 สมัย จึงค่อยเปลี่ยนเป็น 4 ปี อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในเรื่องการรัฐประหาร และการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง ที่นักการเมืองส่วนใหญ่และประชาชนบางส่วนอดทนรอไม่ได้ พอมีรัฐบาลไหนอยู่นานหน่อย ก็จะมีการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายอีก สำหรับงบประมาณในการจัดเลือกตั้งก็ไม่ได้มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่แล้วสภาฯ ไม่เคยอยู่ครบวาระ มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอยู่แล้ว ที่สำคัญในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นก็ควรทบทวนของที่มาเพื่อให้เกิดการยึดโยงกับประชาชนมากกว่าคนไม่กี่คนผ่านกระบวนการสรรหา ตรงนี้ผู้มีอำนาจควรคำนึงถึงการปล่อยวางอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่ดึงดันที่จะให้มีการสรรหา เพื่อผลักดันคนของตนเข้าไปมีตำแหน่งในอนาคต ทั้งที่มีกระแสต่อต้านในวงกว้าง

“หากเป็นไปได้อยากให้ทบทวนความจำเป็นของ ส.ว. เพราะสำหรับประเทศไทยน่าจะเหมาะกับระบบสภาเดียวมากกว่า เนื่องจาก ส.ว.นอกจากไม่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จนถูกขนานนามว่าเป็นสภาตรายาง หรือสภาผัวเมีย หลายครั้งก็ยังเป็นต้นตอแห่งปัญหาความขัดแย้งอีกด้วย” นายอุเทนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น